ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ถึงผลวิจัยสำรวจจำนวนผ้สนับสนุนการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส. และวิเคราะห์สนามเลือกตั้ง 66 ผ่านผลการเลือกตั้งผู้ว่าที่ผ่านมา

“ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส.”

คำถามนี้ล่าช้าไปถึง 9 ปี  นับจากเหตุการณ์ ‘ชัตดาวน์ กรุงเทพฯ’  ปฏิบัติการที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นการปูทางให้กองทัพออกมาทำการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยมีแกนนำคนสำคัญคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ และบรรดาอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

แต่สำหรับ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประโยคข้างต้นอยู่ในใจของเขามาจนปัจจุบัน ด้วยความสงสัยว่าการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ครั้งนั้น มีคนกรุงเทพฯ เข้าร่วมมากน้อยแค่ไหน การกล่าวอ้างว่าคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ เอาด้วยกับ กปปส. นั้นจริงหรือไม่หรือถูกทำให้เชื่อว่า ‘จริง’ เพราะต้องอย่าลืมว่า ในห้วงเวลานั้นคนจำนวนมากถูกปิดปากโดยปริยายภายใต้บรรยากาศคละคลุ้งของความรุนแรง

“คนกรุงเทพฯ 61.83% ไม่เห็นด้วยกับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส.”

คือข้อค้นพบของธำรงศักดิ์ จากการทำงานวิจัยส่วนบุคคล เก็บข้อมูลคนกรุงเทพฯ อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,200 คน เพื่อตอบคำถามในอดีต และคาดการณ์อนาคตการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

“เจตนารมณ์ของผมคือ อยากเข้าใจสนามการเลือกตั้ง ส.ส. ในกรุงเทพฯ​ ที่จะมาถึง เพียงแต่ว่า คำถามของผมใช้ฐานการต่อสู้ทางการเมืองเมื่อ 9 ปีก่อน ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนทั้งจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ผ่านมา รวมถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมาถึง ว่ามันจะเป็นไปเป็นในทิศทางเดียวกับการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ ที่ผ่านมา” ธำรงศักดิ์กล่าว 

คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ สนับสนุนการชัตดาวน์โดย กปปส. จริงหรือ? 

จากจำนวน 4.48 ล้านเสียงของผู้มีที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในกรุงเทพฯ และผลสำรวจของงานวิจัย สะท้อนให้เห็นว่า 

  1. คนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ 61.83 % หรือคำนวณเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ  2,700,000 คน
  2. คนกรุงเทพฯ เห็นด้วยกับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ 19.92 % หรือคำนวณเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 890,000 คน 
  3. ไม่แสดงความเห็น 18.25 % หรือคำนวณเป็นผู้มีสิทธืเลือกตั้ง 817,600 คน

“ตัวเลขนี้เป็นไปตามลักษณะของสังคมทั่วไป ในประเด็นหนึ่งๆ จะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเสมอ แต่การวิจัยนี้พบว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับ กปปส. มีอัตราส่วน 3 ใน 5 ส่วนคนที่เห็นด้วยมีเพียง 1 ใน 5 ที่เหลืออีก 1 ส่วนคือคนที่ไม่แสดงความคิดเห็น”

“นั่นแสดงว่า ช่วงการชัตดาวน์กรุงเทพฯ เมื่อ 9 ปีก่อน คนจำนวนมากไม่เห็นด้วย แต่คนถูกทำให้นิ่งเงียบ และไม่มีเสียงสะท้อนของกลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยออกมา ต่างจากตอนนี้ที่เขากล้าพูดว่า ไม่เห็นด้วย” ธำรงศักดิ์กล่าว 

เขาให้ข้อมูลต่อว่า คนกรุงเทพฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส. คือคนที่จะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คสช. โดยคนกลุ่มนี้ ให้คำอธิบายว่า เป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อสร้างสถานการณ์ให้ทหารทำรัฐประหาร เป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐทหารศักดินา เป็นการชุมนุมทางการเมืองที่วางแผนทำลายประชาธิปไตย เป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรง เป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ทำลายเศรษฐกิจของชาติ เป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อรักษาระบอบเก่า

ส่วนคนกรุงเทพฯ ที่เห็นด้วยกับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส. นั้นมีคำอธิบายว่า เป็นการกู้ชาติ เป็นการกำจัดระบอบทักษิณ เป็นการกำจัดตระกูลกินเมือง เป็นการต่อต้านประชาธิปไตยของทุนสามานย์ เป็นการต่อต้านเผด็จการรัฐสภา เป็นการชุมนุมเพื่อทำลายพวกธนกิจการเมือง เป็นการสร้างพลังประชาชนที่แข็งแกร่ง เป็นการต่อต้านนิรโทษกรรมสุดซอย เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อการสร้างระบอบการเมืองใหม่ที่มีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

ชัตดาวน์กรุงเทพฯ แต่ไม่อาจชัตดาวน์การเปลี่ยนแปลง 

คำถามสำคัญคือ ผลวิจัยและผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่ผ่านมา จะสะท้อนการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะมาถึงหรือไม่ และอย่างไร

“มันสะท้อนมากๆ เพราะการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เมื่อปี 2565 เราพบว่า คนไม่เอารัฐประหาร มีมากกว่าคนเอารัฐประหาร เพราะเสียงของคนที่ไม่เอารัฐประหาร เทไปยังคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และผู้สมัครของพรรคก้าวไกล ขณะที่ผู้สมัครในปีกสนับสนุน กปปส.  และเอารัฐประหาร ไม่ว่าจะประชาธิปัตย์ ผู้สมัครอิสระต่างๆ มีคะแนนเสียงรวมกันราว 900,000 เสียง สอดคล้องกับผลการวิจัยครั้งนี้นี่เอง”

หากย้อนไปดูผการเลือกตั้งผู้กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา จะพบว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้คะแนน 1,386,769 เสียง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล  ได้คะแนน 253,938 เสียง ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย ได้คะแนน 73,926 เสียง  รวม 1,714,633 เสียง 

เทียบกับอีกด้าน คือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 254,723 เสียง สกลธี ภัททิยกุล ได้คะแนน 230,534 เสียง อัศวิน ขวัญเมือง ได้คะแนน 214,805 และ รสนา โตสิตระกูล ได้คะแนน 79,009 เสียง รวมแล้ว  779,071 เสียง หากรวมกับคะแนนของผู้สมัครอิสระทั้งหมด จะได้คะแนนรวมทั้งสิ้น 847,984 เสียง สอดคล้องกับผลการวิจัยของธำรงศักดิ์

ธำรงศักดิ์ ขยายความว่า  เมื่อเราเอาผลของการเลือกตั้งผู้ว่าและผลงานวิจัยมาวิเคราะห์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมาถึงในปี 2566 จะพบว่า 60% ของคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเลือกตั้งจะให้คะแนนกับพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลแน่ๆ รวมทั้งพรรคเล็กที่อยู่ปีกประชาธิปไตยด้วย

ในขณะที่อีก 20% หรือราวๆ 800,00-900,000 เสียง จะกระจัดกระจายไปยัง 4 พรรคใหญ่ อาทิ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ซึ่งพรรคการเมืองกลุ่มนี้ได้ดึงแกนนำ กปปส. มาอยู่ในกลุ่มของตนเพื่อหวังโกยคะแนนคนกรุงเทพ ทว่าผลการวิเคราะห์จากข้อมูลงานวิจัยและข้อมูลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ กลับสะท้อนผลตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง

ธำรงศักดิ์ วิเคราะห์ว่า โดยปกติแล้วผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส จะอยู่ที่ราว 75% เมื่อพิจารณาจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดใน กทม. 4.5 ล้านเสียง จะพบว่า ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน่าจะตกอยู่ที่ 3.4 ล้านคน หมายความว่า กลุ่มพรรคการเมืองปีกสนับสนุน กปปส. จะได้คะแนนรวมลดลงมา เหลือแค่ 6-7 แสนเสียงและทั้ง 4 พรรค (ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ) ก็ต้องแย่งคะแนนเสียงกันด้วย

“เราสามารถคาดการณ์ได้เลยว่า 33 เขตเลือกตั้งในกรุงเทพฯ นั้น 4 พรรคนี้อยู่ในสภาวะเปราะบาง และมีโอกาสได้ ส.ส.ไม่มาก แต่แน่นอนว่า เขาก็จะได้ปาตี้ลิสต์จากคะแนนเสียง 20% นี้ เมื่อมองในแง่นี้ แน่นอนว่า พรรคฝ่ายประชาธิปไตยน่าจะได้ครองพื้นที่กรุงเทพฯ และได้บัญชีรายชื่อจำนวนมากเลย” 

อ้างอิง: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0AFmTjbcjRbvD7ZLdpPiTQgw8fcvYPyRSSJMwH36AkGMMyVTi1tUHTbrF38V3jG7Pl&id=100050549886530