25 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาธิปัตย์ ว่า สาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ รักษาการกรรมการบริหารพรรคฯ และไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคฯ เพื่อขอให้ลงโทษผู้มีพฤติกรรมทำผิดข้อบังคับพรรคฯอย่างร้ายแรง ด้วยการเป็นปฏิปักษ์กับพรรคด้วยการฝ่าฝืนมติคณะกรรมการบริหารพรรคฯ และที่ประชุมสส.ของพรรคฯ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกิดความแตกแยก โดยมีสาระสำคัญที่ว่า ตนในฐานะกรรมการบริหารพรรคฯ รวมทั้งสมาชิกพรรคฯอีกจำนวนหนึ่ง พบ สส.ของพรรคฯ กระทำความผิด ฝ่าฝืนข้อ 18 (1) และ (2) และข้อ 124 ของข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ.2566 จากกรณีที่เดชอิศม์ ขาวทอง และสส.คนอื่นๆของพรรคฯ รวมทั้งสิ้น 16 คน ลงมติในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 เห็นชอบให้เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นผู้ถูกเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทยให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขัดกับมติของที่ประชุม สส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2566 ว่าให้ สส.ของพรรคฯลงมติงดออกเสียง
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 ส.ค. เดชอิศม์ และสส.กลุ่มดังกล่าวออกมาแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนในลักษณะที่ทำให้พรรคฯได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง เกิดความแตกแยกสามัคคีภายใน ถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรค ปชป. และกระทำความผิดข้อบังคับพรรคฯ อย่างร้ายแรง และยังพูดกลับกลอก ไม่มีความจริง โดยเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2566 เดชอิศม์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าตัวเองเดินทางไปฮ่องกงเพื่อแก้บนให้แก่ภรรยา ไม่ได้ไปเพื่อพบทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2566 เดชอิศม์ ให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์ช่องพีพีทีวี โดยระบุว่าอยากให้ร่วมรัฐบาล เพื่อจะแก้ปัญหาของประชาชน และยอมรับว่าได้พบทักษิณที่ฮ่องกงจริง ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับเชิญให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล และพรรคฯไม่เคยมีมติเข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้กับพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ แต่หากพรรคฯจะเข้าร่วมรัฐบาล ต้องมีมติพรรคฯให้ร่วมรัฐบาล และจะต้องแต่งตั้งบุคคลกลุ่มหนึ่งไปเจรจาจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าว ไม่ใช่เดศอิศม์จะสามารถเจรจาและตัดสินใจเพียงลำพัง
ถือเป็นการกระทำความผิดข้อบังคับพรรคฯ ข้อ 18 ระบุว่าสมาชิกมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับพรรค และมติคณะกรรมการบริหารพรรค รวมถึงต้องรักษาชื่อเสียงของพรรคโดยไม่ปฏิบัติไปในทางที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่พรรค อีกทั้งข้อ 96 ระบุว่าให้ที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรค และสส.ในขณะนั้น เป็นผู้ลงมติว่าจะจัดตั้งรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาลหรือถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่ ข้อ 115 ระบุว่านอกจากการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับตามหมวด 4 ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกแล้ว ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติตามวินัยที่ห้ามดำเนินการอื่นใดอันอาจจะนำความเสื่อมเสียมาสู่พรรค และข้อ 124 ระบุว่าการลงโทษสมาชิกผู้ถูกกล่าวหาให้พ้นจากสมาชิกภาพจะกระทำได้ต่อเมื่อปรากฎว่าสมาชิกผู้นั้นกระทำการให้พรรคฯ เสียหายอย่างร้ายแรง ทำให้เกิดการแตกแยกสามัคคี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับพรรค หรือมติหรือคำสั่งของคณะกรรมการบริหารพรรคฯ
จึงขอให้รักษาการหัวหน้าพรรคฯ ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนการกระทำความผิดดังกล่าวโดยเร็วที่สุดและดำเนินการลงโทษ สส.ของพรรคฯทั้ง 16 คนที่กระทำการผิดข้อบังคับพรรคฯ ฝ่าฝืนมติคณะกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุม สส. และทำให้พรรคฯได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับพรรคฯ ด้วย