ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อซักฟอก 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' แม้ครั้งนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 'ไว้วางใจ' พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ด้วยคะแนนเสียง 272 ต่อ 49 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน ไม่มี

แต่ศึกซักฟอก 'ประยุทธ์' ครั้งนั้นก็ทิ้งบาดแผลไว้ให้กับตัวนายกรัฐมนตรีจนล่วงมาถึงปลายศักราช 2563 จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดี 'พล.อ.ประยุทธ์' พักบ้านหลวงในวันที่ 2 ธ.ค.นี้

ย้อนไปดูคำกล่าวหาและข้อมูลที่ 'ประเสริฐ จันทรรวงทอง' ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายเอาไว้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้บ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เป็นบ้านพักราชการทหาร เป็นที่พักอาศัยของตนเองและครอบครัว รวมทั้งใช้ค่าไฟฟ้าฟรี ค่าน้ำประปาฟรี การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์อันจะมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ขาดจิตสำนึก ไม่มียางอาย ไม่เคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง ตอนยึดอำนาจมาปี 2557 ฐานะหัวหน้า คสช. ท่านพยายามทำตัวให้คนอื่นเห็นว่าเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ เข้ามาแล้วประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ในห้วงนั้นเขียนค่านิยม 12 ประการ โดย 2 ข้อ ท่านบอกว่าซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์สิ่งดีงามเพื่อส่วนรวม มีระเบียบวินัย ผู้น้อยรู้จักเคารพผู้ใหญ่ เป็นนโยบายให้คนไทยปฏิบัติ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ทำตัวไม่เป็นตัวอย่างตามค่านิยมที่ตนเองเขียนขึ้นมา"

"คนเป็นนายกฯ จะต้องประพฤติเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชน ผมจึงไม่แปลกใจเลย ที่หลานชายท่านคนหนึ่งเป็นบุตรชายอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ได้ใช้บ้านพักในค่ายทหารเป็นที่ทำการรับเหมาบริษัทก่อสร้างรับประมูลงานในกองทัพภาคที่ 3 ขณะที่น้องชายนายกฯ ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 3 เมื่อฟัง ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2563 เศร้าใจ ท่านได้สั่งการกรมทหารสวัสดิการทหารบก ผู้ที่เกษียณอายุราชการนั้น ที่ยังพักอาศัยอยู่บ้านหลวงมีเท่าใด มี 2 กรณี 1.ให้ทำหนังสือถึงผู้เกษียณอายุราชการ ถ้าผู้นั้นไม่เคยทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติให้ออกจากบ้านพักภายในสิ้นเดือน ก.พ. 2563 แต่ถ้าท่านใดเคยเกษียณอายุราชการแล้ว เคยทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ยังสามารถอาศัยได้ปกติ เพราะทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ตัวอย่างเช่น นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ส.ว."

"ท่านประธานที่เคารพบ้านพักข้าราชการเป็นทรัพย์สินของรัฐ บุคคลใดจะมีสิทธิอาศัยหรือใช้บ้านพักดังกล่าว ย่อมจะต้องมีกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องอนุญาตไว้ถึงจะใช้ได้ บ้านพักนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินของ ผบ.ทบ.ที่จะไปกำหนดว่าใครจะอยู่ก็ได้ ใครจะไม่อยู่ก็ได้ การที่ ผบ.ทบ.รู้เห็นเป็นใจให้ทหารเกษียณอายุราชการ รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ เข้าอาศัยบ้านพักเป็นเวลาหลายปี โดยไม่เสียค่าเช่า ไม่จ่ายค่ากระแสไฟฟ้า ไม่จ่ายค่าน้ำประปา ถือเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถือเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย 

"การที่ทำความดีให้กับชาติเอาอะไรมาเป็นเครื่องวัด ข้าราชการกระทรวงอื่นๆ ก็ทำความดีให้กับชาติ แต่เวลาเกษียณอายุราชการแล้วเขาย้ายออกจากบ้านพักทั้งสิ้น ท่านประธานครับ ผมจะยกเหตุผลชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (3) ดังต่อไปนี้"

ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2553 -30 ก.ย. 2557 ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรก 24 ส.ค. 2557 - 9 มิ.ย. 2562 ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 9 มิ.ย. 2562 - ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหมตั้งแต่วันที่10 ก.ค. 2562 จนถึงปัจจุบัน ช่วงที่เป็น ผบ.ทบ.อยู่บ้านพักอาศัย 4 ปีก็อยู่ได้ แต่นานกว่า 5 ปีอยู่ไม่ได้ เพราะเกษียณอายุราชการแล้ว เพื่อเป็นเหตุผลประกอบ ผมขอยกระเบียบต่างๆ เกี่ยวข้อง ตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพัก ของข้าราชการและลูกจ้างในสังกัดกองทัพบก พ.ศ.2553 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ขณะนั้นมีรายละเอียด ข้อ 5 คำว่าข้าราชการหมายถึง ข้าราชการสังกัดกองทัพบก 

ประเสริฐ จันทรรวงทอง สส.โคราช อภิปรายไม่ไว้วางใจ_๒๐๐๒๒.jpg
  • ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พท.เปิดประเด็นบ้านพักนายกฯ

ส.ส.นครราชสีมา เปิดนิยามความหมายของ ผู้พักอาศัย หมายถึง ข้าราชการและลูกจ้างประจำที่ได้รับอนุมัติให้พักอาศัย ข้อ 7 อาคาร บ้านพักที่อยู่อาศัยทุกชนิดให้อยู่ในความดูแลของหน่วยงานดังนี้ ข้อ 7.1 อาคารสงเคราะห์กองทัพบก อยู่ในความดูแลของกรมสวัสดิการทหารบก  

ข้อ 7.2 อาคารที่พักอาศัยของข้าราชการตามหน่วยงานราชการต่างๆ มีอยู่ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค กรณีบ้านพักภายในกรมทหารราบที่1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท ถือได้ว่า เป็นอาคารตามข้อ 7.2 เป็นอาคารที่พักของข้าราชการ

ระเบียบกองทัพฯ ฉบับดังกล่าวข้อที่ 12 กำหนดไว้ว่า ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในที่พักราชการต้องเป็นข้าราชการประจำเท่านั้นต้องเป็นลูกจ้างประจำในหน่วยนั้นๆ และแม้เป็นข้าราชการประจำหรือลูกจ้างประจำของกองทัพบก ถ้าผู้นั้นมีบ้านพักอาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองหรือคู่สมรสอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผู้นั้นไม่มีสิทธิอาศัยในบ้านพักข้าราชการ สำหรับข้าราชการประจำและลูกจ้างประจำในสังกัดกองทัพบก จะหมดสิทธิ์ในการเข้าพักอาศัยเมื่อเป็นไปตามข้อที่ 14 โดยข้อที่ 14.2 กำหนดไว้ว่าเมื่อย้ายออกนอกกองทัพหรือออกจากราชการไม่ว่ากรณีใดๆ

"ท่านประธานที่เคารพครับ คำว่าออกจากราชการไม่ว่ากรณีใดๆ ก็คือการเกษียณอายุราชการ ดังนั้นผู้เกษียณอายุราชการคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงหมดสิทธิ์ในการเข้าพักอาศัยในอาคารบ้านพักของหน่วยงานในสังกัดของกองทัพบกทันที เมื่อท่านไม่ยอมย้ายออกจากบ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 ผบ.ทบ.คนใหม่ หรือคนที่อยู่ต่อจากท่านต้องเข้าไปอยู่ภายในบ้านที่ท่านอยู่ไม่ได้ ก็ต้องไปหาบ้านพักหลังใหม่อยู่ สิ้นเปลืองงบประมาณ เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก"

เรื่องที่ 2 การใช้กระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประจำกองทัพบก ขอยกระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการใช้น้ำ กระแสไฟฟ้าที่เบิกจากงบประมาณ พ.ศ.2546 กำหนดไว้ บุคคลในสังกัดกองทัพบก หมายถึง ลูกจ้างประจำที่รับราชการในกองทัพบก บ้านพักราชการ หมายถึงบ้านพักราชการที่ปลูกสร้างบริเวณกรม กอง ทหารที่กองทัพบกให้สิทธิส่วนลดกระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา 

บ้านพักรับรองกองทัพบก หมายถึง บ้านพักผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาสูงสุดกองทัพและครอบครัเข้าพักอาศัย หรือต้อนรับบุคคลสำคัญและคณะ ท่านประธานกรณีบ้านพักที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่อาศัยทุกวันนี้เป็นบ้านพักรับรองของกองทัพบก ข้อ 4.4 เป็นบ้านพักสำหรับผู้บังคับบัญชาระดับสูง ซึ่งตามระเบียบข้อ 6 กำหนดว่า บุคคลที่มีสิทธิใช้กระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ดังนี้ ค่ากระแสไฟฟ้าไม่เกิน 60 หน่วยต่อคนต่อเดือน ค่าน้ำประจำไม่เกิน 25 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อเดือน อย่างไรก็ตาม การใช้ได้คือบุคคลที่ยังไม่เกษียณอายุราชการเท่านั้น เมื่อพิจารณาการจัดข้าราชการเข้าพักอาศัยที่พักทางราชการ ตามหนังสือเวียน กระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค.0408.5ว/147 ซึ่งเป็นที่ชัดว่า ผู้มีสิทธิเข้าพักในที่พักราชการต้องเป็นบุคคลที่รับราชการแล้วเท่านั้น บุคคลที่เกษียณอายุราชการแล้ว ไม่มีสิทธิเข้าพักแต่อย่างใด

เมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิในการเข้าพักอาศัยของข้าราชการหน่วยงานอื่น ผมจะชี้ให้เห็นว่า ไม่มีหน่วยงานไหนก็ตามที่เกษียณอายุราชการแล้วอยู่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องย้ายออก ไปดูระเบียบกรมการแพทย์ทหารเรือว่าด้วยการเข้าพักในที่อาศัยของกรมแพทย์ทหารเรือ ผู้เข้าพักอาศัยต้องเป็นข้าราชการประจำหรือลูกจ้างในสังกัดกรมแพทย์ทหารเรือเท่านั้น ทั้งนี้ต้องทำสัญญาเช่าต้องจ่ายค่าน้ำเอง ค่าไฟเองและเมื่อเกษียณจากอายุราชการแล้วต้องย้ายออกภายใน 90 วัน ระเบียบกองทัพอากาศว่าด้วยการพักอาศัย ปี 2560 กำหนดสิทธิเข้าอาศัยต้องเป็นข้าราชการในสังกัดเท่านั้นและจะหมดสิทธิพักอาศัยเมื่อออกจากราชการไม่ว่ากรณีใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนเกษียณอายุราชการ 7 วันจะต้องขนของออกทันที เพื่อเตรียมความพร้อมให้ข้าราชการคนใหม่ได้เข้าพักอาศัย

ประยุทธ์ ประวิตร รัฐสภา

"พล.อ.ประยุทธ์มีอภิสิทธิ์อะไรมากกว่าข้าราชการ กรม กอง อื่นๆ มากกว่าข้าราชการกระทรวงอื่นๆ ถึงอยู่บ้านพักได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว อย่างนี้เรียกว่าสองมาตรฐานหรือเปล่า" ประเสริฐ ระบุกลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

กรณีพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เกษียณอายุราชการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 เป็นต้นมา จึงมิใช่ข้าราชการกองทัพบกแต่อย่างใด ไม่มีสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารหรือบ้านพักของทางราชการกองทัพบก การอยู่ในบ้านพักดังกล่าวจนถึง 5 ปี จึงเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิพักอาศัย ถ้าคิดค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ตลอดเวลากว่า 5 ปีสามารถคิดเป็นมูลค่าการเข้าอยู่อาศัยรวมผลประโยชน์ต่างๆได้เป็นมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านบาทอย่างแน่นอน และข้อเท็จจริงจากการยอมรับของพล.อ.ประยุทธ์ว่าครอบครัวได้ใช้บ้านรับรองภายในกรมทหารราบที่ 1 สังกัดกองทัพบกเป็นที่พักอาศัยโดยตลอด อยู่ตั้งแต่ ผบ.ทบ.จนมาถึงปัจจุบัน ทั้งที่หมดสิทธิพักอาศัยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 เป็นต้นมา

ประเสริฐ ยังหยิบคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 บอกว่า "เรื่องพักของผมไม่ขอตอบ แต่ผมก็ทำงานรับใช้ชาติมาตลอดชีวิต กฎระเบียบจะว่าอย่างไรก็ตามวันนี้ผมทำงานอยู่ปัญหาของผมเป็นนายกฯ มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยดังนั้นจึงต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมในการ รปภ.ในฐานะผู้นำประเทศ แต่ผมก็เตรียมการไปอยู่บ้านพักของผมอยู่แล้ว"

"ท่านประธานคำพูดที่ว่าแม้กฎระเบียบจะว่าอย่างไรก็ตามย่อมแสดงให้เห็นความไม่บริสุทธิ์ใจของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่ต้องการยึดกฎระเบียบของกองทัพบก และข้ออ้างทำงานรับใช้ชาติตลอดชีวิตก็อ้างไม่ได้ เพราะข้าราชการหน่วยงานอื่น กระทรวงอื่นเขาก็ทำงานรับใช้ชาติมาตลอดชีวิตเหมือนกัน ส่วนข้ออ้างเรื่องความปลอดภัยจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาก็มีบ้านพักตนเองไม่ได้อยู่ค่ายทหาร ส่วน รปภ.ยิ่งท่านเป็นชายชาติทหาร ท่านไปกลัวอะไร"

"พล.อ.ประยุทธ์เป็นบุคคลขาดจิตสำนึกทั้งที่ตัวเองและครอบครัวมีทรัพย์สินมากมาย กลับใช้บ้านหลวงฟรีใช้น้ำฟรี เมื่อดูจากทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกฯ วันที่ 4 ก.ย. 2557 จะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ นราพร จันทร์โอชา ภริยามีทรัพย์สิน 128,664,535 ล้านบาท ไม่รวมมูลค่าทรัพย์สินที่โอนให้บุตรทั้งสองคนก่อนหน้านี้ 198.5 ล้านบาท รวมมูลค่าทรัพย์สินของครอบครัวพล.อ.ประยุทธ์ รวม 327,164.535 บาท ทรัพย์สินมากมายแต่อาศัยบ้านหลวงฟรี ใช้น้ำ ไฟฟ้าฟรี ข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์มีบ้านพัก ซอยร่วมมิตร แขวงสามเสน เขตพญาไท ไม่ไกลจากกรมทหารราบที่ 1 จะอ้างว่าบ้านไม่สะดวก จะหาใช้ข้ออ้างขออยู่บ้านพักทหารฟรีได้"

  • ชำแหละ 3 บาดแผลใหญ่ 'ประยุทธ์' ส่อพ้นนายกฯ

ประเสริฐ ระบุว่า 1.พล.อ.ประยุทธ์และครอบครัวได้พักอาศัยในบ้านพักของทางราชการฟรี รวมถึงค่าไฟฟ้าและน้ำประปาฟรีน้ัน ถือเป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ 

2.การกระทำดังกล่าวยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง  

และ 3. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2543 มาตรา 103 บัญญัติว่าห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมดาตามหลักเกณฑ์และจำนวนตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในข้อ 2 ว่า กรณีรับให้จากบุคคลอื่น ที่มิใช่ญาติรับได้แต่ละบุคคลไม่เกิน 3,000 บาท

  • ประยุทธ์ยังเคลียร์ไม่ชัด ย้ำอยู่บ้านพักหลวงเพื่อความปลอดภัย

หากย้อนไปก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ เคยชี้แจงเพียงสั้นๆเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีบ้านพักข้าราชการว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 ถึงกรณีบ้านพัก ว่า "ผมไม่ขอตอบคำถามนี้ ผมทำงานรับใช้ชาติมาตลอดชีวิต ถึงกฎระเบียบจะว่ายังไงก็ตาม วันนี้ยังทำงานอยู่ ปัญหาผมเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็มีปัญหาเรื่อง รปภ. เพราะฉะนั้นจะต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมในการรักษาความปลอดภัยในฐานะผู้นำประเทศ อย่างอื่นอีกด้วยหลายๆอย่าง ผมก็เตรียมการไปอยู่บ้านผมอยู่แล้วนะ"

ประเสริฐ.jpg


  • 'เพื่อไทย' ขยี้ 'ประยุทธ์' ใช้น้ำ-ไฟฟ้าบ้านพักหลวงเกินกว่า 1 ล้านบาท

ก่อนจะถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย 'ประเสริฐ จันทรรวงทอง' แถลงที่พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 ยังหยิบยกรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคท้ายที่กำหนดไว้ว่ "คำาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ

"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ผลผูกพัน ดังนั้นคำวินิจฉัยดังกล่าวในวันที่ 2 ธ.ค. จะเป็นบรรทัดฐานในอาคตข้าราชการที่เกษียณ อยู่บ้านหลวงฟรี ใช้น้ำ ไฟฟ้าฟรีได้หรือไม่ เป็นบรรทัดฐานที่หน่วยงานอื่นอาจอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต" ประเสริฐ ระบุ

"นายกฯในอดีตไม่ว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัคร สุนทรเวช อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลายท่านก็มีเหตุการณ์การชุมนุมก็ยังอยู่บ้านตนเอง ข้อกำหนดตามระเบียบว่าด้วยกองทัพบก ถ้าเกษียณอายุราชการจะพักไม่ได้ ถ้ามีบ้านพักในกรุงเทพฯ ก็ไม่มีสิทธิ การยกความปลอดภัยมาฟังไม่ขึ้น การชุมนุมผู้ชุมนุมก็ชุมนุมด้วยความสงบไม่มีเหตุสัญญาณลอบทำร้ายบุคคล"

"ก็ต้องตรวจสอบอีกรัฐมนตรีจะมีพักในบ้านหลวง ยังอยู่หรือไม่ ถ้าเกิดคำวินิจฉัยเป็นโทษอาจต้องยื่นกรณีในลักษณะเดียวกันที่ยังไม่ได้ยื่นต่อไป"

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุถึงคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญ เคยให้สมัคร สุนทรเวช พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะตีความว่าเป็นลูกจ้างรับเงินบริษัทที่ประกอบธุรกิจหาผลกำไร แต่ พล.อ.ประยุทธ์รับผลประโยชน์ในฐานะที่ตัวเองเป็นข้าราชการเมือง ไม่มีสิทธิรับผลประโยชน์ ของ สมัครเปิดพจนานุกรมตีความลูกจ้าง รับเงินจากนายจ้างเกิน 3,000 บาท แต่ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อคำนวณการใช้้น้ำ และไฟฟ้า ตอนเป็น ผบ.ทบ. 4 ปี และหลังจากนั้น 5 ปี ผมว่าคำนวณแล้วน่าจะเกิน 1 ล้าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (3)

"ท่านมีบ้านในกรุงเทพฯ อ้างว่าบ้านคับแคบไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะอยู่ในบ้านหลวงที่ กรมทหารราบที่ 1" ประเสริฐ ย้ำทิ้งท้าย

สมัคร สุนทรเวช g1420628.jpg
  • พลิกคำวินิจฉัยตุลาการสอย 'สมัคร' เป็นลูกจ้างต้องร่วงนายกฯ

ย้อนไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2551 ว่า สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้นกระทำการอันต้องหามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 กรณีดำเนินรายการ 'ชิมไปบ่นไป' และ 'ยกโขยงหกโมงเช้า' มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง(7)

จึงเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคหนึ่ง(1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือ จึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551 ได้ย้ำว่า ผู้ถูกร้อง (สมัคร สุนทรเวช) เป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 บัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นลูกข้างของุบุคคล เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นไปโดยชอบป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันจะก่อให้เกิดสถานการณ์ขาดจริยธรรม ซึ่งยากต่อการตัดสินใจ ทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างประโยชน์ส่วนนตัวกับประโยชน์สาธารณะ เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์สาธารณะ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวับการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่จึงขัดกันในลักษณะที่เป็นประโยชน์ส่วนตัวจะได้มาจากการเสียไปซึ่งประโยชน์สาธารณะ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า "หลังจากผู้ถูกร้องเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ผู้ถูกร้องยังคงเป็นพิธีกรในรายการ "ชิมไปบ่นไป" และ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะกิจการงานที่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ทำเพื่อมุ่งค้ากำไร มิใช่เพื่อการกุศลสาธารณะ และผู้ถูร้องก็ได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะและภารกิจ เมื่อได้กระทำในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำและนิติสัมพันธ์ที่อยู่ในขอบข่ายที่มาตรา 267 ประสงค์จะป้องปรามเพื่อมิให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคธุรกิจเอกชนแล้ว ทั้งยังปรากฏจากคำให้สัมภาษณ์ของผู้ถูกร้องในหนังสือสกุลไทย ฉบับที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 23 ต.ค. 2544 หน้า 37 อีกด้วยว่า การทำหน้าที่พิธีกรกิตติมศักดิ์รายการโทรทัศน์ "ชิมไป บ่นไป" ที่ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 10.30-11.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ผลิตรายการโดยบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัดนั้น ผู้ถูกร้องได้รับเงินเดือนจากบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด เดือนละ 80,000 บาท"

"สำหรับหนังสือของ ศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล (เจ้าของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด) มีถึงผู้ถูกร้องลงวันที่ 15 ธ.ค. 2550 ปรึกษาว่าผู้ถูกร้องจะดำเนินการอย่างไรในการเป็นพิธีกรรับเชิญในรายการ "ชิมไปบ่นไป" และหนังสือของผู้ถูกร้องมีถึง ศักดิ์ชัย ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2550 แจ้งว่าผู้ถูกร้องจะทำให้เปล่าๆ โดยไม่รับเงินค่าตอบแทนเป็นค่าน้ำมันรถเหมือนอย่างเคยนั้น ผู้ถูกร้องไม่เคยแสดงหนังสือทั้งสองฉบับนี้มาก่อนถูก กกต. เรียกให้ชี้แจง โดยผู้ถูกร้องชี้แจงเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2551 และยังคงยืนยันเสมือนว่าก่อนเดือน  ธ.ค. 2550 ผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนเป็นเพียงค่าน้ำมันรถเท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความ ดาริกา และหลักฐานทางภาษีอากรดังกล่าวข้างต้นว่าก่อนหน้านั้นผู้ถูกร้องได้รับค่าจ้างแสดง ไม่ใช่ค่าน้ำมันรถ อันเป็นข้อพิรุธ"

"การที่ผู้ถูกร้องเป็นพิธีกรให้บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการรับจ้างทำการงานตามความหมายของคำว่า "ลูกจ้าง" ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 267 แล้ว กรณีถือได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง (สมัคร สุนทรเวช) จึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7)" คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  06.jpg
  • คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2550
  • เทียบเคียงข้อหา 'ประยุทธ์-สมัคร' คดีขัดกันแห่งผลประโยชน์

กรณีของสมัคร สุนทรเวช ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 267 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งมาตราดังกล่าวให้นำมาตรา 265 มาบังคับใช้กับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่่งผลหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดมิได้ด้วย"

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ หมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา 184 (3) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ

ซึ่งมาตรา 186 ให้นำมาตรา 184 มาใช้บังคับกับรัฐมนตรีโดยอนุโลม

การเข้าอาศัยบ้านพักของราชการ ที่พรรคฝ่ายค้านยื่นคำร้องนั้น ได้เปิดแผลนายกรัฐมนตรีที่มาจากการสืบทอดอำนาจว่าอาจเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 184 (3) ที่เป็นเหตุให้สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี และพรรคฝ่ายค้านก็ยังหยิบยกมาตรา 160 (5)ที่กำหนดไว้ว่า "รัฐมนตรีต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง"

จึงไม่แปลกที่ 'ประเสริฐ จันทรรวงทอง' จะย้ำในการแถลงเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ ว่า ของ สมัคร สุนทรเวช ศาลรัฐธรรมนูญเปิดพจนานุกรมตีความลูกจ้าง ด้วยเหตุรับเงินจากนายจ้างเกิน 3,000 บาท 

"แต่ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อคำนวณการใช้้น้ำ และไฟฟ้า ตอนเป็น ผบ.ทบ. 4 ปี และหลังจากนั้น 5 ปี ผมว่าคำนวณแล้วน่าจะเกิน 1 ล้าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (3)"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง