ชัชวาลย์ วงศ์สวรรค์ ประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) โพสต์ในเฟซบุ๊กบัญชีชื่อ 'ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งประเทศไทย' ชี้แจงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยคนชรา-เบี้ยผู้พิการ ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยประสบปัญหาเรื่องนี้ เพราะมีการนำงบสนันสนุนตรงอืื่นมาจ่ายแทนก่อนได้ แล้วค่อยทำเรื่องเบิกคืนทีหลังได้
จนกระทั่งกรมบัญชีกลางเข้ามาดูแลงบประมาณนี้ ตั้งแต่แรกกรมบัญชีกลางยืนยันว่ามีงบให้ ในกรณีประสบปัญหางบไม่เพียงพอ โดยตัวแทนจากกรมบัญชีกลางยืนยันในที่ประชุมผู้แทนชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 5 คน ว่า "กรมบัญชีกลางมีเงินทดรองราชการ จำนวน 1,500 ล้าน ในการสำรองให้ก่อนแล้วจะไปเรียกเก็บคืนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเอง"
ทั้งนี้ ชมรมฯ ยังฝากไปถึงกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังด้วยว่า อย่าเอาชาวบ้านมาเป็นตัวประกันในการทำงาน ตอนจะทำงานพูดสวยหรูว่าจะสำรองให้ แต่ถึงเวลาจริงๆ ไม่สำรองให้ เพราะว่าอะไรก็ต้องชี้แจงมาให้พวกเราได้รับทราบว่าเพราะอะไร ทำไมใช้เงินทดรองราชการไม่ได้ ติดขัดอะไรตรงไหน ไม่มีความพร้อมหรือไม่ ก็ส่งคืนกลับมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจ่ายเหมือนเดิม เพราะว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เคยทำให้ประชาชนผิดหวังอยู่แล้ว
ข้อความทั้งหมดดังนี้
ออกข่าวทุกหน่วยงาน คนทำงานไม่มีโอกาสชี้แจง ขอใช้พื้นที่นี้ชี้แจงมั่ง ว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราคุยอะไรกันไว้
#SAVE คนทำงานเบี้ยยังชีพ
#SAVE องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
.................
โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม e-Social Welfare
#เงินทดรองราชการ ๑,๕๐๐ ล้านบาท ไปไหน
#กรมบัญชีกลางโอนเงินเกินเวลาตามที่ระเบียบกำหนดผิดกฎหมายหรือไม่
#ทำไมต้องโยนความผิดมาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเมื่อทุกเดือนก็โอนได้
พวกเราในนามของผู้ปฏิบัติงานเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล) ซึ่งปัจจุบันรับงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ในนามของชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งประเทศไทย (ซึ่งเป็นองค์กรของคนทำงานสวัสดิการสังคม งานพัฒนาชุมชน และงานสังคมสงเคราะห์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)
###ยกเว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คือกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ของบประมาณจากสำนักงบประมาณโดยตรง
พวกเราในฐานะคนทำงานในตำแหน่งต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการดูแลสวัสดิการชาวบ้านเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ ขอชี้แจงว่า พวกเราทำงานกันมาตั้งแต่นโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ตั้งแต่ ปี 2552 มาถึงเดือน ธ.ค. 2562 (ไม่นับรวมถึงทำงานมาตั้งแต่ภารกิจถ่ายโอน) โดยมีการทำงานระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีปัญหาการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการแต่อย่างใด เนื่องจากกระบวนการทำงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีกระบวนการทำงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรองเงินจ่ายไปก่อนแล้ว แล้วค่อยรายงานของบประมาณที่ขาด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณที่ขาดจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตอนปลายปีงบประมาณ ซึ่งจะได้รับการจัดสรรช้าหรือเร็วอยู่ที่กระบวนการรายงานและกระบวนการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องของระบบราชการ ซึ่งจะไม่เอาคำว่าสิทธิประชาชน มาเป็นข้ออ้างในการที่ไม่จ่ายให้กับประชาชน ตั้งปีงบประมาณ 2552-2559 (เป็นเงินนอกงบประมาณ) หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ หรือได้มาไม่เพียงพอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการยืมเงินสะสมทดรองจ่ายไปพลางก่อน โดยจ่ายให้กับผู้มีสิทธิตามจำนวนผู้มีสิทธิ ที่จะได้รับทุกคนทุกรายการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 เป็นต้นมา (เป็นเงินในงบประมาณในข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ)
หากงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีหรือยังไม่ได้รับการจัดสรร หรือจัดสรรมาช้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถยืมเงินสะสมมาจ่ายก่อนได้ และในไตรมาสที่ 2 หากงบประมาณยังไม่ได้จัดสรร ก็สามารถใช้งบประมาณประจำปีที่มีใช้จ่ายไปก่อนได้ และถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ไม่มีเงินเพียงพอ ก็ขอทำการตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการใช้เงินสะสมได้ หรือหากมีเงินสะสมไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้เงินทุนสำรองสะสมมาใช้ก่อนได้อีก แต่โดยปกติกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน หรือหากงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ประกาศใช้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะรีบทำการตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้สามารถใช้เงินจ่ายให้กับผู้สูงอายุและคนพิการได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงจ่ายเงินให้กับประชาชนได้อย่างไม่มีข้อติดขัดและมีปัญหาใดๆ
ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นมา กรมบัญชีกลางได้เข้ามามีหน้าที่โอนงบประมาณ แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามนโยบายรัฐ ซึ่งก็มีกระบวนการทำงานที่มีการแก้ไขระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ระเบียบเบี้ยความพิการ และระเบียบการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะทำให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ดำเนินการจ่ายเงินได้
ซึ่ง วันที่ 7 พ.ค. 2562 กรมบัญชีกลางได้เชิญผู้แทนชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 5 คน ประกอบด้วย 1.ชัชวาลย์ วงศ์สวรรค์ ประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย 2.เวชยันต์ ทิศรี รองประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย (ประธานภาคอีสาน) 3.นงนุช เครือเอม รองประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย (ประธานภาคกลาง) 4.นครินทร์ กลิ่นซ้อน รองประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย (ประธานภาคเหนือ) 5.อรุณทิพย์ สนิบากอ รองประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย (ประธานภาคใต้) และ ผู้แทนจากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
โดยเข้าร่วมประชุมที่กรมบัญชีกลาง เนื่องจากต้องมีการนำร่อง 9 จังหวัด (น่าน, อุทัยธานี, สิงห์บุรี, สมุทรสงคราม, จันทบุรี, นครราชสีมา, มุกดาหาร, พังงา, และสงขลา) แต่ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากติดขัดเรื่องระบบการรับลงทะเบียนและระบบจ่ายเงิน จึงต้องมีการเลื่อนการนำร่อง 9 จังหวัดนำร่องไปก่อน และในวันนั้นประธานชมรมฯ ได้มีการซักถามเรื่องการทำงาน เสนอปัญหาต่างๆ ประเด็นที่เราเป็นห่วง คือ หากงบประมาณไม่เพียงพอ กรมบัญชีกลางจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งในที่ประชุมกรมบัญชีกลางได้ ตอบมาว่า "กรมบัญชีกลางมีเงินทดรองราชการ จำนวน 1,500 ล้าน ในการสำรองให้ก่อนแล้วจะไปเรียกเก็บคืนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเอง"
ซึ่งเป็นคำตอบที่พวกเราในฐานะผู้แทนได้ยินได้ฟังแล้ว พวกเรารู้สึกอุ่นใจว่า หากมีการเปลี่ยนผ่านกระบวนการจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิโดยกรมบัญชีกลางแล้ว กรมบัญชีกลางมีเงินทดรองราชการที่จะสามารถสำรองแทนก่อนได้ คล้ายๆ กับที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรองมาก่อน
วันที่ 11 ก.ค. 2562 กรมบัญชีกลางได้มีการจัดประชุมที่ศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี โดยได้เชิญชัชวาลย์ วงศ์สวรรค์ ประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย และผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเข้าร่วมประชุม และในที่ประชุมกรมบัญชีกลางได้พูดชัดเจนและในที่ประชุมได้สอบถามและได้คำตอบว่า หากงบประมาณมีไม่เพียงพอ กรมบัญชีกลางมีงบประมาณเงินทดรองราชการ 1,500 ล้านบาท สำรองให้ก่อน โดยเริ่มนำร่อง ที่จังหวัดสิงห์บุรีเดือน ส.ค. 2562 เป็นต้นมา
โดยในจังหวัดสิงห์บุรีมี จำนวน 41 แห่ง มีความพร้อม 38 แห่ง และตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ พร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด สิงห์บุรีอีก 3 แห่ง ก็เข้าร่วม โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม e-Social Welfare พร้อมกัน โดยมีหลักการว่า ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณไปที่บัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (558/559) โดยไม่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรงแล้ว และหลักการที่สำคัญคือ กรมบัญชีกลางจะโอนให้เฉพาะคนที่มีชื่อในระบบของปีงบประมาณ 2563 ของ ระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( http://welfare.dla.go.th/) เท่านั้น ถ้าไม่มีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสรรงบประมาณมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานไปแล้วภายในวันที่ 31 ก.ค. 2563 ตามหนังสือวันที่ 13 ก.ค. 2563 โดยโอนเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดือนละ 1 ครั้ง
กรณีมีข่าวบอกว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้เงินสะสมได้ พวกเราขอบอกไว้ก่อนเลยว่า การรับเงินมี 2 วิธีหลักๆ คือ 1.เงินสด 2.โอนเข้าบัญชี ในการจ่ายเงินเดือน ก.ย. 2563 กรมบัญชีกลาง ใช้ยอดผู้มีสิทธิ ณ วันที่ 31 ส.ค. 2563 เป็นฐานในการโอนงบประมาณประจำเดือน ก.ย. 2563 ซึ่งหากใครจ่ายเงินสด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดมีงบประมาณประจำปีเพียงพอ หรือถ้าไม่มี หากจะใช้เงินสะสมหรือเงินทุนสำรองสะสมก็ต้องทำตามระเบียบของทางราชการ ก็สามารถเบิกจ่ายก่อนได้ และถึงเวลากรมบัญชีกลางก็จะโอนงบประมาณมาคืนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในส่วนการโอนเข้าบัญชีชาวบ้านโดย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถใช้เงินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายไปก่อนได้หรือนำเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองสะสมจ่ายไปก่อนได้ เนื่องจากในระบบได้บันทึกเป็นการโอนเข้าบัญชีไปแล้ว ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการโอนงบประมาณไปก่อน ถึงเวลากรมบัญชีกลางก็จะโอนไปซ้ำซ้อนเข้าบัญชีชาวบ้านอีก 1 รอบ (ดังนั้น ถ้าจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายไปก่อน ท่านต้องทำหนังสือแจ้งมาว่าเดือน ก.ย. ของทุกปี ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรองจ่ายไปก่อน แล้วท่านจะโอนเงินมาเข้าบัญชี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด)
ดังนั้นกรณีงบประมาณไม่เพียงพอ หน่วยงานที่เป็นผู้จ่าย หากใช้เงินทดรองราชการจ่ายไปก่อน แล้วมาเรียกคืนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็คงไม่มีปัญหา แน่นอน
ดังนั้น พวกเราในนามของชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งประเทศไทย จึงขอฝากไปถึงกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังว่า อย่าเอาชาวบ้านมาเป็นตัวประกันในการทำงาน ตอนจะทำงานพูดสวยหรูว่าจะสำรองให้ แต่ถึงเวลาจริงๆ ไม่สำรองให้ เพราะว่าอะไรก็ต้องชี้แจงมาให้พวกเราได้รับทราบว่าเพราะอะไร ทำไมใช้เงินทดรองราชการไม่ได้ ติดขัดอะไรตรงไหน ไม่มีความพร้อมหรือไม่ ก็ส่งคืนกลับมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจ่ายเหมือนเดิม เพราะว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เคยทำให้ประชาชนผิดหวังอยู่แล้ว
การเขียนข้อความนี้เป็นการแจ้งบอกกล่าวคร่าวเท่านั้น
และขอแจ้งสื่อมวลชนทุกหน่วยงานว่า
#องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้ถังแตก กรุณาให้ทราบด้วย เวลาเขียนข่าว กรุณาหาข่าวก่อนว่า
อปท. แปลว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สถ. แปลว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
บก. แปลว่า กรมบัญชีกลาง
มท. แปลว่า กระทรวงมหาดไทย
จะหมายถึงใคร กรุณาใช้คำพูดเต็มๆ ถ้าพูดคำว่า ท้องถิ่น มันจะหมายถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ผู้เขียนข้อความ
นายชัชวาลย์ วงศ์สวรรค์
ประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :