ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. นิตยสาร Time เผยแพร่บทสัมภาษณ์ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไทย ที่สัมภาษณ์ในทำเนียบรัฐบาลของประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยการพูดคุยระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและผู้สื่อข่าวเป็นเวลานับชั่วโมง โดยไม่มีเอกสารบันทึกช่วยจำใดๆ
b312ac1a-6bab-4cc5-b774-8250a60cb62d.jpg

Time ระบุว่า นับตั้งแต่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนนตรีไทย เศรษฐาได้เดินทางเยือนต่างประเทศกว่าสิบครั้ง เพื่อเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ตลอดจนการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ Time ระบุว่านายกรัฐมนตรีไทยเลือกใช้ห้องประชุมเล็กๆ ในการให้สัมภาษณ์ ซึ่งในห้องนั้นมีกระดานที่เขียนนโยบายของรัฐบาล ทั้งดิจิทัลวอลเล็ต การเป็นศูนย์กลางการบิน เหมืองโปแตช และเทสลา

Time รายงานว่า ความพยายามของเศรษฐาในการเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ได้ก่อให้เห็นถึงผลลัพธ์ประการหนึ่ง หลังจากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทยเมื่อช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่าตัวเมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้ ในเดือน พ.ย.เพียงเดือนเดียว เศรษฐาสามารถเปิดการลงทุนในไทยจาก Amazon Web Services, Google และ Microsoft มูลค่ารวม 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.96 แสนล้านบาท)

Time กล่าวถึงเศรษฐาว่า การชักชวนการลงทุนในไทยของเศรษฐา นับเป็นผลมาจากเสน่ห์อันล้นหลามของนายกรัฐมนตรีไทยในฐานะการเป็น “เซลส์แมน” หรือพนักงานขายของประเทศ “ผมอยากบอกให้โลกรู้ว่าประเทศไทยกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง” นายกรัฐมนตรีไทยระบุกับ Time

ประเทศไทยเผชิญกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจขั้นวิกฤต นับตั้งแต่การทำรัฐประหารในปี 2557 เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลกึ่งระบอบกองทัพและพลเรือนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร และอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนก่อน ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเลวร้ายลง Time รายงานอ้างอิง Credit Suisse Global Wealth Databook ว่า ในปี 2561 ผู้มีฐานะร่ำรวยที่สุดในประเทศไทยเพียง 1% กลับถือครองความมั่งคั่งของประเทศกว่า 66.9% (ในขณะที่สหรัฐฯ มีอัตราอยู่ที่ 26.5%) โดยวิกฤตทางเศรษฐกิจดังกล่าวนำมาซึ่งการประท้วงทั่วประเทศ

ตลอดช่วงเวลานับทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยแต่ละปีต่ำกว่า 2% มาโดยตลอด ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม กลับมีอัตราการเจริญเติบโตของตัวเลข GDP คิดเป็น 2 ถึง 3 เท่าตัว และยังดึงตัวเลขการลงทุน FDI ออกจากประเทศไทยไปเป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบกับปัญหาการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังคงส่งผลให้ปัจจุบันไทยยังคงมีตัวเลขนักท่องเที่ยวคิดเป็น 70% นับจากยอดสูงสุดในปี 2562

เศรษฐาให้สัมภาษณ์กับ Time อย่างตรงไปตรงมาว่า ประเทศไทยในตอนนี้อยู่ในช่วง “วิกฤตเศรษฐกิจ” ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับมือกับปัญหาดังกล่าวในขั้นต้น นายกรัฐมนตรีไทยได้พยายามลดราคาเชื้อเพลิง ประกาศการพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี สำหรับเกษตรกรที่ประสบกับปัญหาทางการเงิน และรัฐบาลไทยยังวางแผนที่จะประกาศใช้นโยบาย 10,000 บาทดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการรบริโภคในประเทศ

นอกเหนือไปจากการท่องเที่ยว ด้วยการยกเว้นวีซ่าสำหรับผู้มาเยือนจากจีนและอินเดีย และมีแผนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ Time ระบุว่าเศรษฐาพยายามเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ การดูแลสุขภาพ และการเงิน นายกรัฐมนตรีไทยยังเปิดให้ประเทศไทยเป็นเวทีกลางในการหารือกันระหว่าง เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และ หวังอี้ นักการทูตระดับสูงของจีนในเดือน ม.ค. ซึ่งนับเป็นการเปิดบทสนทนาที่มีความละเอียดอ่อนระหว่างสองมหาอำนาจ ในฐานะที่ไทยอันเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ กับสายสัมพันธ์ที่ไทยมีกับจีนอย่างลึกซึ้งด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเศรษฐาระบุว่า ไทยสามารถเป็น“สะพาน” และ “พื้นที่ปลอดภัย” พร้อมยกระดับชื่อเสียงระดับนานาชาติของไทย “ผมอยากเห็นประเทศไทยเปล่งประกาย” เศรษฐากล่าว

Time ระบุว่า เส้นทางในอนาคตของเศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรีไทยอาจจะยังคงมีความยากลำบาก สืบเนื่องจากผลการเลือกตั้งเมื่อช่วงปีที่แล้ว ที่พรรคเพื่อไทยสามารถคว้าคะแนนเสียงในรัฐสภาไทยมาเป็นอันดับที่ 2 แต่ด้วยระบบรัฐสภาและการหาเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่นๆ ทำให้เศรษฐาสามารถขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยได้ ในขณะที่พรรคก้าวไกลซึ่งคว้าคะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 1 ด้วยที่นั่ง 151 จาก 500 ที่นั้่งต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน

“ความกดดันไม่ได้เกิดจากการเป็นผู้ชนะอันดับ 2” เศรษฐากล่าวกับ Time ถึงการเลือกตั้งในไทยที่ผ่านมาครั้งล่าสุด “แรงกดดันมาจากความจำเป็นในการ (แก้ไข) ความยากจน เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยทุกคน นั่นคือความกดดันที่ผมเผชิญทุกวัน”

Time ระบุว่า เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 2 ที่ตัดสินใจพักค้างในทำเนียบรัฐบาล “ผมสามารถจัดการประชุมช่วงเช้าและดึกได้ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่ง” เศรษฐากล่าวถึงการใช้ทำเนียบเป็นที่พักค้างคืน “และผมไม่ต้องกีดขวางการจราจรด้วยรถมอเตอร์ไซค์นำทาง” Time รายงานอีกว่า เศรษฐามักไม่ใช้โต๊ะทำงานประจำ และเลือกที่จะทำงานในมุมต่างๆ ของห้องแทน “ผมคิดว่าครั้งเดียวที่ผมใช้โต๊ะคือรับสายจาก (นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน) เนทันยาฮู” เศรษฐากล่าว

Time รายงานถึงการเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงแรกของเศรษฐาเพียงเดือนเดียว เขาต้องรับมือกับวิกฤตการรุกรานพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสในวันที่ 7 ต.ค. 2566 ซึ่งส่งผลให้แรงงานไทยเสียชีวิต 37 ราย และถูกจับเป็นตัวประกันไป 32 ราย โดยรัฐบาลไทยภายใต้การนำของเศรษฐาเดินหน้าการเจรจา จนตัวประกันชาวไทยได้รับการปล่อยตัวออกมา คงเหลือที่ยังถูกจับกุมตัวเอาไว้อยู่ 8 ราย “ข่าวออกมาช้ามาก แต่ที่ทำให้ผมเจ็บปวดที่สุดคือมีผู้เสียชีวิต” เศรษฐากล่าว “ช่วงแรกๆ มี 8 ราย 9 ราย 10 ราย ผมจำความรู้สึกนั้นได้ เมื่อไหร่มันจะหยุดลงเสียที”

นายกรัฐมนตรีไทยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังคงเดินหน้าขัลเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ดี รัฐสภาไทยยังคงไม่มีการผ่านกฎหมายงบประมาณ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความวุ่นวายหลังจขากผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว การเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของเศรษฐกิจ ยังประสบกับอุปสรรคจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอ้างว่านโยบายดังกล่าวของรัฐบาลจะก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ “การเป็น CEO ของบริษัท คุณจะรู้ว่าคุณมีอำนาจจำกัด” เศรษฐากล่าว “แต่สิ่งที่ผมพบว่าน่าประหลาดใจที่สุดคือการไม่มีอำนาจอย่างที่นายกรัฐมนตรีมี”

Time ระบุว่า ประเทศไทยยังเกิดศูนย์กลางความสนใจใหม่ หลังจากที่ ทักษิณ ชินวิตร ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย สืบเนื่องมาถึงพรรคเพื่อไทย และผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค เลือกที่จะเดินทางกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากเขาต้องลี้ภัยทางการเมืองมาอย่างยาวนานกว่า 15 ปี โดยหลังจากการถูกควบคุมตัวที่สนามบิน ทักษิณได้เข้าสู้กระบวนการยุติธรรมของไทย ก่อนจะย้ายเข้ารับการักษาตัวในโรงพยาบาล และได้รับการพักโทษเพื่อกลับไปถูกจำกัดพื้นที่ในบ้านพักส่วนตัว ณ ปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ การปรากฏของทักษิณก่อให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมไทยออกไปหลากหลายทาง

เศรษฐาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จุดมุ่งเน้นของเขาอยู่ที่การลงทุนจากต่างประเทศ การค้า และการพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะตกต่ำ แม้จะมีประชาชนบางกลุ่มมองว่าการเน้นนโยบายทางเศรษฐกิจ อาจเป็นการละเลยปัญหาด้านการเมืองและประเด็นสิทธิมนุษยชน แม้ว่ารัฐบาลของเศรษฐากำลังพยายามผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม และสิทธิของชุมชน LGBTQ+ ในประเทศไทยก็ตาม

ในอีกด้าหนนึ่ง Time รายงานว่าประเทศไทยยังมีเยาวชนกว่า 2,000 รายที่กำลังประสบกับการถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมในทางการเมืองเมื่อช่วงปี 2563-2564 ก่อนการจัดตั้งรัฐบาลของเศรษฐา นอกจากนี้ ในวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ยังมีผู้สื่อข่าว 2 รายถูกตำรวจจับกุมตัว ซึ่งเข้าไปสัมภาษณ์และรายงานข่าวนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา มีประชาชนกว่า 200 รายที่ถูกดำเนินคดีดังกล่าว ทั้งนี้ ในขณะที่พรรคก้าวไกลเสนอการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เศรษฐาให้สัมภาษณ์กับ Time ว่า “สิทธิในการเข้าถึงระบบยุติธรรมที่เป็นธรรม สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีนั้นยังมีอยู่”

ในด้านนโยบายต่างประเทศ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐาได้เข้าพบกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ณ กรุงปักกิ่ง พร้อมกันกับการเชิญชวนนักลงทุนจากจีนให้่ีเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือระนองบริเวณทะเลอันดามันผ่านทางถนน ทางรถไฟ และท่อส่งก๊าซ ไปยังจังหวัดชุมพรบนอ่าวไทยประมาณ 96 กิโลเมตร

Time สอบถามถึงความประทับใจของเศรษฐาที่มีต่อสี โดยเศรษฐาหยุดคิดก่อนที่จะตอบว่า “ในฐานะผู้นำระดับโลก เขามีออร่าในตัวเขา” นายกรัฐมนตรีไทยระบุ “ผมคิดว่าเขาต้องการแลกเปลี่ยน ผมคิดว่าเขาไม่ได้ดูจะสร้างปัญหาใดๆ เขาไม่ได้มองหาสงคราม”

เศรษฐายังมีโอกาสพบกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เมื่อช่วงเดือน ต.ค.เดียวกัน ก่อนที่เศรษฐาจะเชิญชวนให้ปูตินเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ แม้ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) จะออกหมายจับต่อปูตินในฐานะอาชญากรสงคราม อย่างไรก็ดี ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ส่งผลให้หมายจับดังกล่าวต่อปูตินไม่มีผลเหนือดินแดนของไทย 

“เราได้ชี้แจงความกังวลของเรา (ต่อรัฐบาลไทย) เกี่ยวกับการกระทำและกิจกรรมของปูติน รวมถึงการรุกรานที่ไม่ได้รับการยั่วยุในยูเครน” เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของสหรัฐฯ กล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลไทยต่อปูตินกับ Time “มีหลักฐานว่า (ปูติน) มีส่วนผู้รับผิดชอบหรือไม่” เศรษฐาตั้งคำถาม “มันเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในดินแดนของพวกเขา หากเป็นอาชญากรรมจริงๆ เราไม่ก้าวก่ายอธิปไตยของประเทศอื่น” นายกรัฐมนตรีไทยย้ำในท่าทีของไทยต่อปัญหาในยูเครน ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวจากรัสเซียนับล้านคนโดยการเปิดฟรีวีซ่าเป็นเวลา 90 วัน มากกว่าเวลาฟรีวีซ่าของนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ ในไทยทีได้เพียงแค่ 30 วันเท่านั้น

เศรษฐายังได้เดินทางไปทั่วโลก เพื่อทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุน ซึ่งยังคงมีปัญหาการผูกขาดทางการค้า ทั้งนี้ การขายเบียร์ปริมาณน้อยถูกห้ามในประเทศไทย ภายใต้กฎหมายอายุหลายสิบปี ซึ่งคุ้มครองบริษัทครอบครัวขนาดใหญ่ 2 แห่งที่ผูกขาดตลาดถึง 90% อันคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.85 แสนล้านบาท และเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้วที่บริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยได้รับสัมปทานสินค้าปลอดภาษีในสนามบินหลักของกรุงเทพฯ เพียงบริษัทเดียว

Time ตั้งข้อสังเกตว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะให้คำมั่นที่จะลดอำนาจของกลุ่มบริษัท แต่เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่เศรษฐาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เศรษฐาได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดโดยหัวหน้าบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจากหลายสิบครอบครัว โดยเศรษฐายืนยันว่า เขาไม่เห็นเรื่องผิดอะไรในสถานะเดิมของประเทศไทย พร้อมยืนยันว่าประเทศไทยยังคงมีพื้นที่สำหรับการแข่งขันระหว่านักธุรกิจของไทยและต่างชาติ “ผมไม่คิดว่า (เศรษฐกิจไทย) ถูกครอบงำโดยกลุ่มบริษัทระดับโลกล้วนๆ” นายกรัฐมนตรีไทยกล่าว

ในทางตรงกันข้าม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล อดีตว่าที่นายกรัฐมนตรีไทย ระบุกับ Time ว่า คนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จากคะแนนเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกลจำนวน 14 ล้านเสียง ที่ต้องการให้มี “การกระจายอำนาจและการทลายการผูกขาด พิธายังวิจารณ์เศรษฐาว่า “ยังคงติดอยู่ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ”

Time รายงานว่า เศรษฐายังชอบเดินทางไปตรวจดูงานที่สนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่แจ้งหมายกำหนดการล่วงหน้า พร้อมกันกับการวิจารณ์เจ้าหน้าที่สนามบินที่ดำเนินงานไม่เป็นไปตามประสิทธิภาพ เศรษฐายังเคยออกมาแสดงความเสียใจที่ เทย์เลอร์ สวิฟต์ เลือกจะเล่นคอนเสิร์ต Eras Tour ของเธอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แค่สิงคโปร์เป็นที่เดียวโดยไม่เลือกกรุงเทพฯ ในอีกด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรีไทยผู้นี้ยังต้องพยายามจัดการกับการปฏิรูปประเทศไทยในอีกหลายด้านอย่างกล้าหาญ

“จากการเป็น CEO ของบริษัทไปจนถึง CEO ของประเทศ มันมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกมากมาย” เศรษฐากล่าวกับ Time


ที่มา:

https://time.com/6899782/thailand-prime-minister-srettha-thavisin-business-hub/?utm_source=twitter&utm_medium=social&utm_campaign=editorial&utm_term=world_asia&linkId=357013854&fbclid=IwAR1jnTaM0hRj7jGwmUbYZf2PZ1v5hVBpbT3Vrh1_9jiK33NHBjLwn6agtus