ตามที่มีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบยกระดับมาตรการ เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19
โดยล่าสุดมีการมีประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 29 เม.ย. เรื่อง ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 2 2 )
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกต ในประกาศได้มีคำอธิบายถึงที่มาของการออกข้อกำหนด ระบุว่า โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นในเดือน เม.ย.2564 อันเป็นช่วงวันหยุดเทศกาล โดยในรอบนี้ผู้ติดโรคจะไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อยมากในระยะแรก
ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่มีความผ่อนคลายกับสถานการณ์การควบคุมโรคที่ดีขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ค่อยระมัดระวังป้องกันตัวอย่างในช่วงต้นของการระบาด จึงทำให้โรคแพร่กระจายไปในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร มีผู้ป่วยติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน และต่อระบบการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการควบคุมการระบาด ของโรคให้เข้มข้นกว่าเดิม เพื่อมิให้เหตุการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินทวีความร้ายแรงมากขึ้น และให้สามารถยุติลงได้โดยเร็ว
สำหรับการยกระดับมาตรการ เริ่มวันที่ 1 พ.ค. เน้นไปที่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ
มีมาตรการ เช่น ห้ามรับประทานอาหารในร้าน ซื้อกลับได้ไม่เกิน 21.00 น. ห้ามกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน , ร้านสะดวกซื้อตลาดโต้รุ่ง เปิดบริการตั้งแต่เวลา 04.00 น. ถึง 23.00 น. ,ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ
ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการตามปกติ ไม่เกิน 21.00 น. ,สถานศึกษาทุกระดับ ห้ามใช้อาคารสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก ,ปิดสถานที่เสี่ยง หรือสถานที่ที่มีกิจกรรมเสี่ยง ยกเว้นสถานที่เล่นกีฬากลางแจ้งเปิดได้ไม่เกิน 3 ทุ่ม แข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชม , ขอให้งดเดินทางออกนอกพื้นที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง