นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย ผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงยุติธรรมกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมประชุม
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเด็กวัยเรียน วัยรุ่น ถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต การดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 หน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการฯ และขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลดอัตราคลอดมีชีพในวัยรุ่นทั้งกลุ่มวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี และอายุ 15-19 ปี ได้ตามเป้าหมายรายปีที่กำหนด แต่อย่างไรก็ตาม
พบว่า ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาระหว่าง พ.ศ. 2563 - 2567 อัตราคลอดมีชีพในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี เริ่มคงที่อยู่ในระดับ 0.9 ต่อพัน ข้อมูล ล่าสุดในปี 2567 อัตราคลอดมีชีพในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี เท่ากับ 0.93 ต่อพัน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.7 ต่อพัน
“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยมีเป้าหมายการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รวมทั้งลดปัญหาสืบเนื่องมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/ซิฟิลิส เป็นต้น” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ขับเคลื่อนผ่านกลไกการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวม 77 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในระดับจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานระดับกรุงเทพมหานคร โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนตามความเหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่และทันต่อสถานการณ์ เป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดให้มีระบบดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครองนักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิด้านการศึกษา การเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตร กรณีวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่ประสบปัญหาเกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ก็ควรได้รับการดูแล ช่วยเหลือ ได้รับคำปรึกษาทางเลือกก่อนตัดสินใจว่าจะท้องต่อหรือจะยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่งสิทธิในการตัดสินใจเป็นสิทธิของผู้หญิง โดยรับการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมผ่านช่องทางออนไลน์สายด่วนและเฟสบุ๊คแฟนเพจ 1663 (มูลนิธิเข้าถึงเอดส์) หรือรับบริการ ผ่าน Line OA Teen Club การรับบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาในระบบสุขภาพ ทำให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนในการรับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือในกรณีวัยรุ่นท้องต่อก็จะได้รับการดูแลช่วยเหลือ คุ้มครองสิทธิรอบด้านและการจัดสวัสดิการสังคมทั้งก่อนและ/หรือหลังคลอดเพื่อส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์
ด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2570 ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ระหว่างตุลาคม 2566 - กันยายน 2567 วัยรุ่นเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตร โดยได้รับการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมผ่านช่องทางออนไลน์สายด่วนและเฟสบุ๊คแฟนเพจ 1663 (มูลนิธิเข้าถึงเอดส์) รวมทั้งสิ้น 46,893 ราย (เฉลี่ย 128 ราย/วัน) การจัดบริการ One Stop Service ให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารให้การปรึกษา ให้บริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งบริการยุติการตั้งครรภ์ที่เป็นมิตรและปลอดภัย รวมจำนวน 1,899 คน (เฉลี่ย 5 คน/วัน) การรับบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาในระบบสุขภาพ (ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ข้อมูลปิงบประมาณ 2559 - 31 ตุลาคม 2567) พบว่า จำนวน ผู้รับบริการรวมทั้งสิ้น 157,010 คน ใช้ยายุติการตั้งครรภ์ จำนวน 136,152 คน (เฉลี่ย 46 คน/วัน)
อธิบดีกรมอนามัย เพิ่มเติมว่า ความพึงพอใจของวัยรุ่นที่ได้รับบริการสุขภาพที่เป็นมิตร ร้อยละ 87.6 หญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี ได้รับบริการคุมกำเนิดด้วยวิธีสมัยใหม่ (Modern Methods) หลังคลอดหรือหลังแท้ง ร้อยละ 43.7 และหลังคลอดหรือหลังแท้งที่คุมกำเนิดได้รับการคุมกำเนิดด้วย วิธีกึ่งถาวร ร้อยละ 69.5 ด้านระบบการดูแลช่วยเหลือการคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัสดิการสังคม พบว่าวัยรุ่นร้อยละ 96.3 ได้รับสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ร้อยละ 90.4 มีความพึงพอใจต่อการได้รับสวัสดิการทางสังคม สภาเด็กและเยาวชนขับเคลื่อนกิจกรรมป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 414 กิจกรรม