ไม่พบผลการค้นหา
'วราวุธ' แจง “No Gift Policy” มีแนวทางชัดเจน แต่ไม่สามารถจับมือบังคับใครได้ ขอ ปชช.เชื่อมั่นกระบวนการตรวจสอบ ปมอธิบดีกรมอุทยานฯ เรียกรับผลประโยชน์

ภายหลังการบุกจับ รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คาห้องทำงานพร้อมยึดเงินสด 4.9 ล้านบาท พร้อมกับบัญชีรายชื่อเรียกเก็บจากผู้ใต้บังคับบัญชา แลกกับการไม่ถูกโยกย้ายตำแหน่ง

วันนี้ 29 ธ.ค. 2565 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นัดประชุมผู้บริหารกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมโชว์การ์ดอวยพรปีใหม่ ตามนโยบายไม่รับของขวัญ ของกำนัล “No Gift Policy ทส.โปร่งใสและเป็นธรรม” โดยเปิดเผยว่า ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราปฏิเสธไม่ได้ถึงความรับผิดชอบและการดำเนินการ โดยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา ซึ่งภายใน 7 วัน หากทราบข้อเท็จจริง จะมีการดำเนินการทางวินัยและกรอบกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งกระทรวงจะมีปัญหานี้ เพราะยังมีข้าราชการหลายท่านทำงานอย่างหนักหน่วง แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทุ่มเทเพื่อประชาชน 

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนัดแรกเมื่อวานนี้ ได้มีข้อเสนอให้อธิบดีกรมอุทยานฯ มาช่วยงานส่วนกลางที่กระทรวง แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งให้อธิบดีกรมอุทยานฯ ปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้เป็นต้นไป ส่วนตำแหน่งรักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ ตามระเบียบบริหารระบบราชการ ถือเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงฯ ในการหาผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทน

ต่อกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานสังกัดกรมอุทยานฯ ที่มีรายชื่อปรากฏบนซองเงินของกลาง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจะตรวจสอบด้วย ส่วนตำแหน่งที่มีการโยกย้ายไปแล้ว ทางปลัดกระทรวงฯ จะดำเนินการพิจารณาทบทวนต่อไป ย้ำว่า ทุกครั้งที่มีการโยกย้ายในระดับผู้อำนวยการสำนัก ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมฯ เพราะหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงลงไปดูการโยกย้ายระดับผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าหน่วยงาน ด้วยตนเอง คงจะไม่มีใครเชื่อว่าลงไปดูเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ถือเป็นดาบสองคม

อย่างไรก็ดี การที่ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่ามีสายโทรศัพท์ลึกลับโทรข่มขู่คุกคาม และเตรียมขอคุ้มครองพยานนั้น วราวุธ ระบุว่า คงต้องเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้หลังเกิดเหตุ ตนเองยังไม่มีโอกาสพูดคุยกับอธิบดีกรมอุทยานฯ โดยตรง เนื่องจากอาจเกิดข้อครหาว่า ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง เกี่ยวข้องกับการทำงานราชการ 

พร้อมย้ำว่า ตั้งแต่ตนเองเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้เปิดช่องทางให้กับข้าราชการในกระทรวงร้องเรียนปัญหาต่างๆ อาทิ ร้องเรียนมาที่ตนเองโดยตรง ผ่านจดหมายสนเท่ห์ และศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ไม่เฉพาะปัญหาการทุจริต แต่รวมถึงการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยทุกเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามา จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เพื่อนข้าราชการ 

ส่วนประเด็นที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในระบบราชการของกระทรวง และตั้งคำถามว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่มีมานานแล้วหรือไม่ วราวุธ ระบุว่า ความเชื่อใจในระบบเป็นสิ่งที่ทำให้การทำงานในระบบราชการดำเนินมาได้จนถึงทุกวันนี้ หากไม่เชื่อในกลไก เราจะใช้กลไกใดตัดสิน ความรู้สึกหรือเสียงส่วนมาก ส่วนตัวมั่นใจในกระบวนการตรวจสอบ และกระบวนการยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามประกาศกระทรวง เรื่อง นโยบายและเจตนารมณ์เป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ไม่รับของขวัญ และของกำนัลทุกชนิดจากการปฎิบัติหน้าที่ โดยหน่วยงานในสังกัดอย่างกรมอุทยานฯ ก็มีประกาศเรื่องนี้เช่นกัน ลงนามเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 โดย รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 

ด้าน วราวุธ ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า การออกนโยบายแต่ละครั้ง ผู้บริหารกระทรวงมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพียงแต่เมื่อนโยบายออกไปแล้วการนำหลักการไปปฏิบัติในแต่ละองค์กร แต่ละบุคคล จะมีความแตกต่างกันไป เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจับมือและบังคับกันได้ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการตามระเบียบและกฎหมาย