นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค ได้วิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา โดยวิธีอนุกรมเวลา วิเคราะห์จำนวนและช่วงเวลาการเกิดโรคต่างๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรค และนำมาพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2562 เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพยากรณ์โรคติดต่อ และกลุ่มที่ 2 โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ ดังนี้ การพยากรณ์โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2562 มี 3 โรค ได้แก่
1.โรคไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลในปี 2561 (ณ สิ้น พ.ย. 2561) พบผู้ป่วย 166,342 ราย เสียชีวิต 38 ราย สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2562 คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะยังคงสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี โดยจะมีผู้ป่วย 177,759 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยใกล้เคียงกับปี 2561 โดยในช่วงต้นปี (ม.ค.-มี.ค.) จะมีผู้ป่วยประมาณ 13,000-15,000 ราย และช่วงฤดูฝน (ก.ค.-พ.ย.) จะมีผู้ป่วยประมาณ 15,000-25,000 ราย กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด”
ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้ 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ 3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4.หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด
2.โรคหัด จากข้อมูลในปี 2561 (ณ วันที่ 25 พ.ย. 2561) มีรายงานผู้ป่วยไข้ออกผื่นหรือสงสัยหัด 5,442 ราย เสียชีวิต 22 ราย เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 2,451 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 1-4 ปี คิดเป็นร้อยละ 30 รองลงมาคือ 20-29 ปี สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2562 หากมีมาตรการควบคุมโรคที่เข้มแข็ง มีความครอบคลุมของวัคซีนได้ตามเป้าหมาย และมีการให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยง คาดว่าจะมีผู้ป่วยสงสัยโรคหัด 1,003 ราย
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าโรคหัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ของกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ปกครองพาเด็กเล็กไปรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง
3.โรคไข้เลือดออก จากข้อมูลในปี 2561 (ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2561) พบผู้ป่วย 78,762 ราย เสียชีวิต 105 ราย สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2562 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 94,291 ราย และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในเดือน เม.ย. และอาจพบสูงสุดในช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค. โดยคาดว่าจะมีอำเภอเสี่ยงสูง 136 อำเภอจากทั้งหมด 928 อำเภอ (ใช้เกณฑ์การประเมินจากพื้นที่ป่วยซ้ำซากและความรุนแรงของการเกิดโรคในปีปัจจุบัน)
กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน 2.เก็บขยะ และ 3.เก็บน้ำ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการพยากรณ์โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ มี 1 เรื่อง คือ การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน เนื่องจากทุกปีประเทศไทยจะพบอุบัติเหตุจากการจราจรเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ทั้งจากรถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะ และพบว่าบางรายมีการใช้แอลกอฮอล์ร่วมด้วย ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากกรณีดังกล่าวจำนวนมากตามมาเช่นกัน
เมื่อทำการคาดการณ์จำนวนผู้บาดเจ็บจากการจราจรทางถนน ในปี 2562 คาดว่าจะต้องเฝ้าระวังและย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอุบัติเหตุตลอดทั้งปี กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ผู้ขับขี่รถยนต์ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง หากดื่มสุราแล้วไม่ควรขับรถ และง่วงต้องไม่ขับ
นอกจากนี้ ประชาชนต้องดูแลสุขภาพและระมัดระวังตนเองจากโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาการป่วยตายของคนไทยในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อ ซึ่งหากไม่แก้ปัญหานี้จะกลายเป็นภาระของประเทศในการใช้งบประมาณจำนวนมากในการการดูแล รักษา ผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ
ส่วนภัยสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องระมัดระวังคือ การป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจในช่วงปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะในเดือน ม.ค. – เม.ย. ของทุกปี จะมีหมอกควันหนาขึ้น มีผลกระทบทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ ประชาชนและผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ได้แก่ โรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาจทำให้อาการกำเริบรุนแรงจนเสียชีวิตได้
สำหรับมาตรการในการดำเนินงานเพื่อปกป้องประชาชนจากโรคและภัยสุขภาพดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งในส่วนกลาง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจจับ คัดกรองโรคและภัยสุขภาพ และเตรียมพร้อมทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) รวมถึงการตอบโต้โรคและภัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในปัจจุบันต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด โรงเรียน และประชาชนทั่วไป เพื่อป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงลดการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้