นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) บุกแหล่งครีมกวนเองในพื้นที่จังหวัดหนองคาย หรือผู้ผลิต “ครีมหมี ปริญญา” ที่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งหลงเชื่อซื้อมาใช้แล้วได้รับความเสียหาย จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า กระแสความนิยมของการมีผิวขาวเพิ่มขึ้น ตลอดจนกระแสการขายเครื่องสำอาง ทั้งขายตรงและเครื่องสำอางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น มีผู้เข้าสู่ตลาดนี้ได้ง่ายและมากขึ้น ทำให้มีการลักลอบใช้สารปรอทในเครื่องสำอางเพื่อรักษาฝ้า จุดด่างดำ หรือทำให้ผิวขาวกลับมาอีกระลอกหนึ่ง และนับว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งเพราะพิษของสารปรอทนั้นมีผลกระทบหลายระบบของร่างกาย สารปรอทไม่ใช่สารอันตรายตัวใหม่ที่เพิ่งใช้กันในสังคมไทย ในช่วง 20 - 30 ปีที่ผ่านมา สารปรอทเคยเป็นสารอันตรายอันดับหนึ่งของเครื่องสำอางที่ใช้ในไทยมาก่อนเช่นกัน โดยนิยมผสมในครีมที่เรียกกันว่า “ครีมไข่มุก”อย่างไรก็ตาม เมื่อทางรัฐได้เข้มงวดมากขึ้น ครีมปรอทเหล่านี้จึงได้ลดความนิยมลงและเป็นที่รู้จักในวงแคบหรือในตลาดใต้ดิน
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาของสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ซึ่งตรวจสารอันตรายในเครื่องสำอางจากที่ผู้ป่วยส่งตรวจและจากที่ได้จากการซื้อขายผ่านตลาดนัดและตลาดออนไลน์ ระหว่างปี 2561-2562 จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น (ส่วนใหญ่จะเรียกว่า “ครีมหน้าขาว”) มีสารอันตรายถึงร้อยละ 25 นั่นคือ ในทุกๆ 4 ตลับจะพบสารอันตราย 1 ตลับเลยทีเดียว โดยสารปรอทเป็นสารอันตรายที่พบบ่อยที่สุด รองลงมาคือ สารไฮโดรควิโนน และกรดวิตามินเอ ซึ่งพิษที่สำคัญของสารปรอทต่อร่างกาย มีดังนี้
1. พิษต่อผิวหนัง แม้ว่าสารปรอทจะมีผลทำให้เม็ดสีลดลง แต่พบว่าอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ หากใช้ในระยะยาว จะทำให้ผิวบางลง เกิดจุดดำที่ผิวเพิ่มขึ้น เกิดฝ้าถาวร หรือในบางจุดจะทำให้เกิดผิวด่างถาวร
2. พิษต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการสั่น ปลายประสาทอักเสบ การทรงตัวผิดปกติ ชักกระตุก ซึมเศร้าหรือเกิดประสาทหลอนได้
3. พิษต่อตับและไต ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และไตอักเสบได้ในระยะยาว
4. พิษต่อระบบเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
5. หากใช้ระหว่างตั้งครรภ์ สารปรอทจะดูดซึมสู่ทารก และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกสมองพิการและปัญญาอ่อนได้
จากการศึกษาของสถาบันโรคผิวหนังดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารปรอทในเครื่องสำอางค่อนข้างสูง จึงขอให้พึงระวังในการใช้เครื่องสำอางจากแหล่งที่เชื่อถือได้มากที่สุด หากผู้บริโภคท่านใดไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ สามารถส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาขอรับการตรวจสอบสารอันตรายเบื้องต้นได้ที่ สถาบันโรคผิวหนัง (โครงการตรวจสารอันตรายในเครื่องสำอาง) 420/7 ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด