2563 ถือเป็นปีที่แสนสาหัสทารุณจิตใจของคนหลากหลายอาชีพ ต่างล้วนเผชิญชะตาชีวิตระลอกแล้วระลอกเล่า
31 ธันวาคม ค่ำคืนส่งท้ายปีที่หลายคนละไว้ซึ่งทุกข์ก่อนเปิดรับวันใหม่ในปี 2564 แต่ความรื่นเริงผ่านไปไม่กี่ชั่วยาม
คล้ายสำนวน 'พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก' การระบาดของโควิด-19 กลับมาถาโถมเจ้าของกิจการ 'โกดังชาบู' เมื่อเธอเพิ่งฟื้นตื่นจากฝันร้าย แต่นรกทางธุรกิจกำลังรอให้เธอพบเจออีกครั้ง
"เคสที่ระยองก็เป็นบทเรียนแล้ว แทนที่จะแก้ไข ยังจะทำให้มันชิบหายลงมาอีก ขอถามสักคำ ความผิดร้านอาหารเหรอที่จะต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ แล้วจะให้กูทำมาหาแ_กอะไร ยังไงกูก็ไม่ปิดร้าน"
เกือบ 2,000 แชร์ จากโพสต์ต้นทางเมื่อข้อความดังกล่าว เผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดีย คล้อยหลังกรุงเทพมหานคร สั่งปิด 25 สถานที่เป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ถือเป็นของขวัญที่ผู้ประกอบการไม่อยากรับ ก็ไม่ได้อาจปฏิเสธ
"ถ้าปิดรอบนี้ไปพวกหนูจะเอาที่ไหนกิน ไม่มีที่ให้กู้แล้ว กู้จนไม่รู้จะกู้ยังไง"
มธุรา อดเหนียว ผู้เป็นเจ้าของร้านชาบูย่านฝั่งธน ร่วมกับคู่ชีวิตและเด็กหญิงตัวน้อยในวัยกำลังเติบโต บอกเล่าสิ่งที่เธอกำลังแบกรับ นั่นคือ 'หนี้สิน' จากการหยิบยืมเพื่อฟื้นธุรกิจจากภาวะโรคระบาด ตั้งแต่ต้นปี 2563
ก่อนจะมาเป็นร้านโกดังชาบู เธอกับแฟนเริ่มต้นชีวิตด้วยการขายร้านก๋วยเตี๋ยวขนาดย่อม และขยับขยายขายยำตามสั่งริมทาง เก็บเล็กผสมน้อยเพื่อสานฝันปัจจุบันร้านชาบูแห่งนี้หยั่งรากบนถนนวุฒากาศมาแล้ว 2 ปี แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นกับครอบครัวเธอ
"ปีแรกทุกอย่างโอเคมาก เราค่อยๆ ปรับแต่งขยับขยายร้าน แต่พอต้นปีที่แล้วมันเริ่มแย่ลง จนในที่สุดมีคำสั่งให้ปิด พอปิดรอบนั้นคือทุกอย่างเหมือนดิ่งลงเหว แย่จนก้าวต่อไม่ไหว แต่ได้กำลังใจจากลูกและแฟน พยายามกลับมาสู้ เริ่มต้นกันใหม่ แต่ยอดขายก็ไม่ได้เหมือนเดิม... หายไปเกินครึ่ง"
เมื่อรายรับไม่สอดคล้องกับรายจ่าย ร้านที่เปรียบเป็นเสมือนฟันเฟืองติดชะงักลง ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ยังเดินหน้าตลอด แต่หญิงวัย 30 ปี ผู้เป็นเจ้าของก็ไม่อาจที่จะถอยหลังให้กับปัญหา เมื่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือสายเลือดของเธอ
"ตอนนั้นปิดรอบแรก หนูขายไม่ได้เลย ตื่นตี 5 ไปตลาด เปิดร้าน 9 โมง ปิด 4 ทุ่ม ตอนนั้นมีเคอร์ฟิว ทั้งวันหนูขายได้ 59 บาท แย่ขนาดที่ว่าแล้วเราจะทำอย่างไงต่อ ค่านมลูกยังแทบไม่มีเลย แม่ห่วงหลานส่งนมส่งแพมเพิสมาให้
"ถึงขั้นนับเหรียญไปซื้อนมเซเว่นมาให้ลูก มันถึงจุดนั้นแล้ว ความเป็นแม่มันพีคมาก เรากินข้าวกินอะไรได้ แต่เด็กต้องกินนม ถ้าเขาไม่มีแล้วจะกินอะไร หนูร้องไห้... เพราะคนเป็นแม่มันก็อึดอัดใจ" มธุรา น้ำตาคลอ ย้อนถึงชะตากรรมตัวเอง
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด คงไม่ใช่คำใหญ่นักหากเปรียบกับโชคชะตาของผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย ซึ่งหลายคนเริ่มตั้งตัวได้หลังจากผู้ป่วยโควิดในประเทศยอดเป็นศูนย์เป็นเวลาหลายเดือน จวบจนเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดระออกสองในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเดือนธันวาคม 2563
"วันสิ้นปีเราโพสต์ว่า สิ่งที่เลวร้ายในปีเก่าที่ผ่านมา เราจะโยนทิ้งไว้ให้หมด ปีใหม่เราจะเจอแต่สิ่งดีๆ เราเริ่มต้นกันใหม่"
หลังจากนั้นเธอตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ กลับเจอประกาศให้เตรียมความพร้อมวันที่ 4 มกราคม ซึ่งร้านของมธุราอาจจะถูกปิดหรือห้ามทานที่ร้าน
มธุราตัดสินใจเรียกพนักงาน เพื่อบอกข่าวร้าย พนักงานหลายคนเข้าใจกับสิ่งที่ต้องพบเจอและบอกเธอว่า "คงกลับบ้าน เก็บผักเก็บยอดหญ้ากินเอา" กลายเป็นความดาลเดือด ว่าทำไมต้องมารับผลกรรม เพราะความบกพร่อง 'การ์ดตก' ของผู้มีอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า
"เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการควบคุมป้องกัน แล้วถ้าให้หยุดมีมาตรการไหนช่วยบ้าง ปิด 15 วันหรือ 1 เดือน ถามว่าให้ร่วมมือได้ไหม ให้ได้นะ แต่อยากจะรู้ว่าเขาจะช่วยอะไรได้บ้าง เพราะมกราคมนี้ทุกอย่างที่เขาพักชำระ หนูต้องเริ่มจ่ายหมดแล้ว ถ้าหนูไม่มีรายได้ แล้วหนูจะเอาที่ไหนไปจ่าย"
"ไม่เอานะพอแล้ว ทำยังไงก็ได้ ไม่อยากให้ปิด มาตรการไหนก็ได้ แต่ไม่ปิด ปิดไม่ได้แล้ว หนูอยู่ไม่ได้" คุณแม่วัย 30 ปี กล่าวย้ำพร้อมเหม่อมองลูกสาวแสนซน
อ่านเพิ่มเติม