ในยุโรปช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีการควบรวมหรือซื้อกิจการเกิดขึ้นหลายครั้งในภาคโทรคมนาคม เริ่มต้นที่การควบรวมจาก 5 เหลือ 4 มาจนถึงจาก 4 เหลือ 3 กิจการ การควบรวมนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อโครงสร้างตลาดและการเปลี่ยนแปลงในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเครือข่ายสัญญาณมือถือ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะมีจำนวนผู้ให้บริการที่มีเครือข่ายของตนเองค่อนข้างน้อย เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูงในการเข้าร่วมแข่งขัน
การควบรวมตลาดในสหภาพยุโรปโดยทั่วไปอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานการแข่งขันระดับชาติ แต่กรณีตลาดนั้นใหญ่เกินขนาดที่กำหนด คณะกรรมาธิการยุโรปจะเข้ามามีบทบาทตัดสินว่าจะอนุมัติหรือไม่ เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากการแข่งขันที่ลดลง
หลังจากควบรวมกิจการโทรคมนาคมในออสเตรีย เยอรมนี ไอร์แลนด์ ช่วงปี 2013-2014 ซึ่งเป็นการควบรวมจาก 4 เหลือ 3 ผู้แข่งขันในตลาด หน่วยงานกำกับดูแลของยุโรปเพื่อการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ BEREC ทำการศึกษาผลกระทบด้านราคาการให้บริการ โดยนำเสนอในปี 2018
การศึกษาพบว่า ในทั้ง 3 กรณี มีหลักฐานว่า การควบรวมกิจการส่งผลให้ราคาขายปลีกสำหรับลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศในสหภาพยุโรปที่ไม่มีการควบรวมกิจการในช่วงเวลาเดียวกัน
ออสเตรีย
ออสเตรียเคยมี 4 บริษัทที่เป็นผู้แข่งขันกันในตลาดโทรคมนาคม A1 Telekom Austria (ส่วนแบ่งตลาด 39.7%), T-Mobile Austria (ส่วนแบ่งตลาด 30.7%), Orange Austria (ส่วนแบ่งตลาด 17.1%), และ Hutchison Three Austria (ส่วนแบ่งตลาด 12.6%) ช่วงปลายปี 2012 ไปจนถึงต้นปี 2013 เกิดการควบรวมกิจการโทรคมนาคมของบริษัท Hutchison และ Orange และการขายส่วนแบ่งบางส่วนให้ A1 Telekom ส่งผลให้คู่แข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมของออสเตรียเหลือเพียง 3 เจ้า คือ A1 Telekom Austria (ส่วนแบ่งตลาด 45.5%), T-Mobile Austria (ส่วนแบ่งตลาด 30.4%) และ Hutchison Three Austria (ส่วนแบ่งตลาด 24.1%)
การศึกษาพบว่า จากเดิมที่ราคาโดยเฉลี่ยของการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ในออสเตรีย ต่ำกว่าราคาในประเทศที่อยู่ในกลุ่มเปรียบเทียบ ในช่วง 2 ปีแรกหลังการควบรวมกิจการ ราคาการให้บริการในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นจนสูงเกินประเทศในกลุ่มเปรียบเทียบ ก่อนจะค่อยๆ ลดลงเล็กในหลังผ่านไปสามปี โดยราคาแพ็กเกจของผู้บริโภคที่ใช้งานปานกลางถึงมาก ลดลงต่ำกว่าก่อนเกิดการควบรวม ส่วนราคาแพ็กเกจของคนที่ใช้บริการน้อย ราคาหลังการควบรวมแม้จะลดลงหลังผ่านไปสามปี แต่ก็ยังสูงกว่าราคาก่อนเกิดการควบรวม
การศึกษาในเคสออสเตรียพบว่า ต้องใช้เวลามากกว่าสามปีหลังการควบรวมที่จะทำให้ตลาดเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทระบุไว้ตอนเสนอเรื่องการควบรวมต่อคณะกรรมาธิการยุโรปว่า การควบรวมนี้จะส่งผลในทางบวกต่อการแข่งขันในตลาดและต่อผู้บริโภค
ไอร์แลนด์
ก่อนการควบรวมของบริษัท Hutchison และ Telefónica O2 ในปี 2014 ตลาดโทรคมนาคมของไอร์แลนด์ประกอบไปด้วย 4 กิจการ โดยบริษัท Vodafone มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด 39.2% ตามมาด้วย Meteor 20.2% O2 23.3% และ Hutchison 8.9% การควบรวมทำให้บริษัท Telefónica O2 มีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 32% ขึ้นมาเป็นอันดับสองแทน Meteor
ผลการศึกษาพบว่า ราคาการให้บริการในไอร์แลนด์ก่อนหน้าการควบรวมสูงกว่าราคาในประเทศในกลุ่มควบคุมอยู่แล้ว หลังการควบรวมกิจการ ราคาการให้บริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับผู้ใช้งานทุกประเภท ต่างจากราคาการให้บริการของประเทศในกลุ่มควบคุมที่ไม่มีการควบรวมกิจการที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก และในกรณีของผู้ใช้บริการปานกลางถึงมากราคามีแนวโน้มลดลง
เยอรมนี
ก่อนหน้านี้ตลาดโทรคมนาคมในเยอรมนีประกอบด้วย 4 กิจการ โดยมีบริษัทใหญ่อย่าง Telekom Deutschland ถือส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 33.8% Vodafone 27% Telefónica 22.4% และ E-Plus 16.7%
ในปี 2014 Telefónica ซื้อกิจการของ E-Plus ส่งผลให้ Telefónica กลายเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 37.4% โดยมีข้อตกลงหนึ่งระบุว่า ทางบริษัทจะต้องขาย 30% ของความจุเครือข่ายที่ได้จากการซื้อกิจการ ให้กับโอเปอเรเตอร์รายย่อย (MVNOs) ไม่เกิน 3 ราย ก่อนที่การเข้าซื้อกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ ข้อตกลงนี้ส่งผลให้ 3 ปีหลังการซื้อกิจการครั้งนี้ บริษัทรายย่อยในเยอรมนีมีส่วนแบ่งรายรับมากขึ้นประมาณ 3%
ผลการศึกษาพบว่า หลังการซื้อกิจการ ราคาแพ็กเกจการใช้งานตั้งแต่น้อยถึงมากมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะแพ็กเกจสำหรับผู้ใช้งานน้อย ที่ก่อนหน้าการซื้อกิจการมีราคาต่ำกว่าประเทศในกลุ่มควบคุม เพียงแค่หนึ่งปีหลังการซื้อกิจการ ราคากระโดดขึ้นจาก 10 ยูโรต่อเดือน เป็น 16 ยูโรต่อเดือน สูงเกินราคาการให้บริการในประเทศที่ไม่มีการควบรวมและซื้อกิจการ
ที่ผ่านมา การศึกษาเรื่องผลกระทบของการควบรวมและซื้อกิจการต่อการเปลี่ยนแปลงของราคามีผลการศึกษาที่ค่อนข้างหลากหลาย ในสหภาพยุโรปยังมีการถกเถียงและศึกษาว่าจำนวนของผู้ประกอบกิจการในตลาดโทรคมนาคมควรมีเท่าไหร่ เพื่อที่จะส่งผลให้การแข่งขันและการลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค บ้างบอกว่า 4 กิจการคือตัวเลขที่ใช่ เพราะเคยมีงานวิจัยที่พบว่า การควบรวมจาก 5 เป็น 4 บริษัท ในสหราชอาณาจักรส่งผลให้ราคาลดลง บ้างบอกว่า “ไม่มีตัวเลขมหัศจรรย์” จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการยุโรปเคยห้ามไม่ให้เกิดการควบรวมกิจการโทรคมนาคมจาก 4 เหลือ 3 บริษัทในกรณีของเดนมาร์ก แต่อนุญาตให้ทำได้ในกรณีของประเทศเนเธอร์แลนด์
ที่มา:
BEREC (2018), 'Post-Merger Market Developments -Price Effects of Mobile Mergers in Austria, Ireland and Germany', BoR, (18) 119.