ไม่พบผลการค้นหา
ชมรมคราฟท์เบียร์ ยื่นจดหมายร้องเรียนคณะกรรมาธิการสาธารณสุข โพสต์ภาพเบียร์หาทางรอดช่วงโควิด กลับถูกปรับซ้ำเติมหนัก

วันที่ 4 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนปรนมาตรการอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉพาะซื้อกลับบ้านเท่านั้น เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่มและผู้นำเข้ากลับมาเปิดกิจการตามปกติ พร้อมกับเผยแพร่ข่าวสารการกลับมาดำเนินธุรกิจผ่านทางสื่อออนไลน์ให้ผู้บริโภคได้รับทราบ

ล่าสุดได้เกิดปัญหาขึ้นเมื่อผู้ประกอบการหลายรายร้องเรียนว่า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐและคนบางกลุ่มทำการแจ้งจับ และออกหมายเรียกในข้อหา มีการกระทำอันเข้าข่ายเป็นความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 

เจอหมายเรียกแล้วกว่า 400 ราย

นายอาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์ นักวิจารณ์และนักชิมเบียร์ รวมถึงเป็นแอดมินเพจ 'แดกเบียร์ให้เพลียแคม' เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร นักวิจารณ์เครื่องดื่ม ผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้รับหมายเรียกแล้วกว่า 400 ราย โดยแต่ละรายถูกเรียกปรับที่ 50,000-500,000 บาท ซึ่งนับเป็นบทลงโทษที่สูงยิ่งกว่าคดีอุกฉกรรจ์ เสมือนเหยียบย่ำซ้ำเติมคนทำมาหากินในสภาวะเศรษฐกิจยุคโควิด-19 

นายณิกษ์ อนุมานราชธน ผู้ก่อตั้งบริษัท VV spirits ตัวแทนจากฝั่งผู้จำหน่ายเครื่องดื่มคอกเทล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกหมายเรียกและปรับจากเจ้าหน้าที่ กล่าวว่า เรามาถึงจุดที่คนที่เกี่ยวข้องกับสุรา ถูกกระทำไม่ต่างอะไรจากคนที่ขายยาเสพติด และดูเหมือนจะรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ ในช่วงนี้ที่ทุกกิจการต่างต้องเผชิญความยากลำบาก แบกปากท้องของพนักงานลูกจ้าง ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เราคือบริษัทจดทะบียน ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศที่อนุญาตให้จำหน่ายเป็นการค้าเสรี มีการเสียภาษีถูกต้อง แต่กลับต้องเจอกฎหมายที่เอาผิดซ้ำซ้อน เอาเปรียบประชาชนและคนทำธุรกิจ 

"สิ่งที่มอมเมาประชาชน จึงอาจไม่ใช่เหล้าเบียร์ แต่เป็นชุดความคิดที่ดูถูกและมองว่าประชาชนไม่มีความคิดมากพอ" นายณิกษ์ กล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวว่า การสั่งปิดกิจการชั่วคราวของภาครัฐ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารที่มีสต็อกสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอายุสั้น เช่น คราฟท์เบียร์ และไวน์องุ่น ได้รับผลกระทบเพราะสินค้าหมดอายุในช่วงวันห้ามจำหน่าย ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นมิอาจทวงคืนหรือขอรับการเยียวยาจากใครได้ ดังนั้น เมื่อมีการอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบกลับบ้านได้ จึงมีผู้ประกอบการหลายร้านที่พยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ใช้สื่อออนไลน์สื่อสารกับผู้บริโภคให้ทราบว่าร้านเปิดดำเนินการและมีสินค้าจำหน่าย เช่น การเขียนข้อความและแสดงรูปภาพผลิตภัณฑ์ ในเฟซบุ๊กแฟนเพจร้าน กลุ่มเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่ในโปรไฟล์ส่วนตัวของเจ้าของกิจการเอง

"สิ่งนี้กลายเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกผู้แสดงภาพและข้อความประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วกว่า 400 ราย ให้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา ฐานฝ่าฝืนมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความผิดปรับตั้งแต่ 50,000 บาท จนถึง 500,000 บาท" 

ชี้ซ้ำเติมผู้ค้า-ประชาชน

นายศุภพงษ์ พรึงลำภู ตัวแทนจาก 6 ชมรมคราฟท์เบียร์ กล่าวว่า เข้าใจในความห่วงใยสังคมของเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อพิจารณาโทษปรับที่รุนแรงถึง 500,000 บาท จำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ในการมาบังคับใช้กับการใช้ชีวิตปกติของคนทั่วไป เช่น การถ่ายรูป หรือการรีวิว การให้ข้อมูล ด้วยคำว่า "ผู้ใด" ตามมาตรา 32 นี้ ค่อนข้างเป็นการควบคุมและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป

"อยากให้เข้าใจตรงกันว่า สุราเป็นสินค้าควบคุมมีการจัดเก็บภาษีและมีกฎหมายห้ามมากมายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอายุผู้ซื้อ พื้นที่การขาย และระยะเวลาขาย ฯลฯ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ในลักษณะแบบนี้ถือว่าซ้ำซ้อน มีแต่จะซ้ำเติมผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สังคมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปมากจากช่วงเวลาที่ออกกฏหมายนี้มา" นายศุภพงษ์ กล่าว

ยื่นขอความเป็นธรรมสภาผู้แทนฯ 

ตัวแทนชมรมผู้ประกอบการเกี่ยวกับคราฟท์เบียร์ และนักวิจารณ์เบียร์ทางเลือก รวม 6 ชมรม ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 4 มิ.ย. ที่รัฐสภาแห่งใหม่ ถนนสามเสน โดยชี้แจงเหตุผล 7 ประการที่เห็นว่า มาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีข้อความไม่ชัดเจน ทำให้มีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เกินจำเป็น มีอัตราค่าปรับสูงเกินไป มีการจัดสรรเป็นเงินรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ เป็นการกีดกันทางการค้ามิให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ที่มีศักยภาพในการจ่ายค่าปรับมากกว่า และเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่ได้รับความยากลำบากในการประกอบธุรกิจในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19

ตลอดจนละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนในการแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มทางเลือกโดยสุจริตและไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน มีความซ้ำซ้อนในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การจัดโซนนิ่ง การจำกัดระยะเวลาขาย และห้ามจำหน่ายแก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นต้น โดยคณะตัวแทนฯ ได้เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ เร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไขเยียวยาสถานการณ์โดยเร่งด่วน

"ในเวลาที่ยากลำบากเพราะวิกฤติโรคระบาด พวกเราอยากให้เจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจมิติอื่นๆ ของเรื่องนี้บ้าง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้มีแค่มิติของคนเมาหรือการมั่วสุม แต่เป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มี "มนุษย์" มากมายที่ทำงานในธุรกิจนี้เพื่อหล่อเลี้ยงครอบครัว และมีทักษะวิชาชีพต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ หลายคนกำลังพยายามดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูตนเองกลับมาจากวิกฤต ดังนั้นขออย่าได้ซ้ำเติมกันเลย" นายศุภพงษ์ กล่าว 

ทั้งนี้ ภาคประชาชน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนแคมเปญ หยุดทำร้ายประชาชน ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ผ่าน https://www.change.org/ โดยมีเนื้อหาโครงการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งในเวลาเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็มีผู้ร่วมลงชื่อเข้าร่วมนับพันราย และคาดว่าจะมีผู้ให้การสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :