ไม่พบผลการค้นหา
เหตุการณ์ 'อาหรับ สปริง' ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศตูนิเซีย และลุกลามกลายเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาค จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ

เหตุการณ์ 'อาหรับ สปริง' ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศตูนิเซีย และลุกลามกลายเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาค จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ

 

เหตุการณ์การลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลาง หรือ "Arab Spring" นั้น เริ่มต้นขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศตูนิเซีย เมื่อชายขายผักคนหนึ่งจุดไฟเผาตนเอง เนื่องจากไม่พอใจรัฐบาล จากนั้น การประท้วงก็ได้เริ่มลุกลาม จนขยายเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ และทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงแอฟริกาเหนือ

 

จุดเริ่มต้นดังกล่าว ได้นำไปสู่การขับไล่ประธานาธิบดีซิเน่ อัล-อะบิดีน เบน อาลี วัย 74 ปี ที่ครองตำแหน่งผู้นำประเทศตูนิเซียมานานถึง 23 ปีให้ลงจากตำแหน่ง แม้ว่าก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีเบน อาลี จะแสดงท่าทีที่อ่อนลง โดยแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ของทางการว่า เขาขอสัญญาว่าจะไม่ให้กองกำลังด้านความมั่นคงใช้กระสุนจริงกับผู้ประท้วง จะยอมให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้สื่อข่าว และจะยุติการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ที่ต่อต้านรัฐบาล แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มผู้ประท้วงจะไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ทำให้การประท้วงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุด ประธานาธิบดีเบน อาลี ต้องเดินทางออกนอกประเทศ ไปยังซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 14 มกราคม

 

ไม่กี่วันต่อมา เรื่องราวของการลุกฮือของชาวตูนิเซีย ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ในประเทศอียิปต์  ประชาชนจำนวนมากใช้ช่องทางของโซเชียล มีเดีย เพื่อนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านรัฐบาล นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และความยากจน ก็ได้ช่วยจุดชนวนการประท้วงให้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนชาวอียิปต์กว่า 1,000,000 คน ได้ออกมารวมตัวกันเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ก้าวลงจากตำแหน่ง ซึ่งนายมูบารักก็ได้เสนอทางออกในช่วงนั้นว่า เขาจะยอมถ่ายโอนอำนาจให้แก่รองประธานาธิบดี แต่จะไม่ก้าวลงจากตำแหน่งในทันที ตามที่ผู้ประท้วงต้องการ

 

ท้ายที่สุด นายมูบารักก็ถูกบังคับให้ก้าวลงจากตำแหน่ง โดยคณะกรรมาธิการทหาร ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารประเทศชั่วคราว ท่ามกลางการเฉลิมฉลองของประชาชนทั้งประเทศ และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายมูบารัก พร้อมกับบุตรชายทั้งสองคน ก็ได้ขึ้นศาลเพื่อรับฟังการพิจารณาคดี ที่พวกเขาถูกตั้งข้อหาว่า ทุจริตคอรัปชั่น โดยนายมูบารักและบุตรชาย ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

 

ขณะที่ประชาชนในอียิปต์กำลังรวมตัวกันประท้วงต่อต้านรัฐบาลอยู่นั้น ที่ประเทศบาห์เรน ก็เริ่มเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม เนื่องจากชาวบาห์เรนที่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายชิอะห์ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่พอใจการปกครองของชนชั้นปกครอง ที่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายซุนนี ความขัดแย้งในครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลบาห์เรนต้องประกาศกฎอัยการศึก พร้อมนำกำลังเข้าสลายการชุมนุม โดยมีมิตรประเทศอย่างซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่งกองกำลังมาช่วยเหลือรัฐบาลบาห์เรนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา และขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายก็กำลังดำเนินการเจรจาเพื่อหาแนวทางในการปรองดอง

 

อีกหนึ่งประเทศ ที่มีการชุมนุมประท้วงต่อเนื่องยาวนาน ก็คือประเทศเยเมน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ประชาชนได้รวมตัวกันต่อต้านประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ที่ปกครองประเทศมานานถึง 33 ปี การประท้วงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าประธานาธิบดีซาเลห์จะแถลงการณ์ว่า เขาจะยอมก้าวลงจากอำนาจ เพื่อให้เหตุการณ์นองเลือดยุติลง แต่ดูเหมือนว่า คำแถลงดังกล่าวไม่ได้เกิดผลอันใดทั้งสิ้น เนื่องจากการสลายการชุมนุมและสังหารประชาชนยังคงเกิดขึ้นทุกวัน



โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีซาเลห์ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิด ทำให้เขาต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปรักษาตัว ไม่กี่เดือนต่อมา ประธานาธิบดีซาเลห์ก็เดินทางกลับประเทศ ท่ามกลางการประท้วงที่ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ประธานาธิบดีซาเลห์ได้ยอมลงนามในข้อตกลงที่จะก้าวลงจากตำแหน่ง แต่ยังคงรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีเอาไว้ จนกว่าเยเมนจะมีการเลือกตั้งและได้ผู้นำคนใหม่ในอนาคต

 

สำหรับเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงที่โดดเด่นที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ในประเทศลิเบีย แม้ว่าทุกคนจะทราบจุดจบเรากันดีว่า พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ประธานาธิบดีลิเบีย ที่ปกครองประเทศมานานถึง 41 ปี ได้ถูกฝ่ายตรงข้ามสังหารจนเสียชีวิตลง ขณะที่บุตรชายของเขา ก็ถูกจับกุมอยู่ที่ลิเบีย

 

ซึ่งก่อนหน้านี้ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเป็นไปอย่างเข้มข้น จนองค์การนาโต้และกองกำลังของยูเอ็น ต้องเข้ามาแทรกแซง เพื่อปกป้องชีวิตของพลเรือน หลังจากที่ประชาชนจำนวนมากได้เสียชีวิตลง  ล่าสุด รัฐบาลใหม่ของลิเบียให้สัญญาว่า จะปกครองประเทศอย่างโปร่งใส และให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

ปิดท้ายที่ประเทศซีเรีย ที่เหตุการณ์การประท้วงยังคงเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ผ่านมากว่า9 เดือน ล่าสุด ยูเอ็นก็ได้ออกรายงานฉบับใหม่ ที่สรุปยอดผู้เสียชีวิตในซีเรียว่ามีมากถึง 5,000 รายแล้ว โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัดซาด ได้ให้สัญญาว่า เขาจะก้าวลงจากตำแหน่ง และเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2555 ซึ่งคำสัญญานี้ ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ในประเทศดีขึ้น เพราะรัฐบาลยังคงออกคำสั่งให้ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากภาพวิดีโอ ที่กลุ่มผู้ประท้วงนำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบ

 

Produced by VoiceTV

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog