วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี มีจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผลงานของบรมครู 2 ท่าน เขียนประชันฝีมือกัน พระประธานในโบสถ์เป็นงานช่างแบบเดียวกับพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์ฯ
วัดสุวรรณาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เข้าทางถนนจรัลสนิทวงศ์ ตรงข้ามกับบางขุนนนท์
ภายในวัดมีศิลปกรรมไทยอันควรชม ได้แก่ พระอุโบสถแบบไทยประเพณี ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ วิหารที่มีมุขขวางด้านหน้าและด้านหลัง เจดีย์ทรงเครื่องหน้าวิหาร
วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เดิมชื่อ วัดทอง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดฯให้รื้อและสร้างขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม พระราชทานนามว่า วัดสุวรรณาราม
วัดตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย
ด้านหน้าวัด มีพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ประตูกำแพงพระอุโบสถ
ที่หน้าประตูโบสถ์ มีรูปสลักหิน ศิลปะจีน
อาคารพระอุโบสถเป็นแบบไทยประเพณี เสาย่อมุมไม้สิบสอง มีคันทวยรองรับชายคา มีประตูทางเข้า 3 ประตู
ซุ้มสีมาเป็นลักษณะอย่างไทย มีฐานสิงห์รองรับอาคาร ส่วนยอดเป็นชั้นมีหัวเม็ด
ประตูกลางเป็นประตูยอดปราสาท ด้านข้างเป็นประตูซุ้มบรรพแถลง
กรอบหน้าต่างเป็นซุ้มบรรพแถลง
หลังคาพระอุโบสถ มีไขรา เครื่องลำยองประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
หน้าบันประดับงานไม้ จำหลักรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ล้อมรอบด้วยลายกระหนกเปลว มีลายเทพพนมแทรกอยู่ในกนกเปลว กล่าวกันว่าเป็นหน้าบันโบสถ์ที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง
ภายในพระอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนัง แสดงฝีมือช่างชั้นครู ในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ ครูทองอยู่ กับครูคงแป๊ะ
พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อ ปางมารวิชัย ฝีมือช่างแบบเดียวกันกับพระศรีศากยมุนี ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม
ผนังสกัดด้านหน้าพระประธาน เป็นฉากมารผจญ
ในฉากมารผจญ มีรูปชาวตะวันตกปะปนอยู่ด้วย
ผนังด้านข้างทั้งสองด้าน เหนือกรอบหน้าต่าง แสดงภาพเทพชุมนุม สลับกับพัดดอกไม้
เทพยดาพากันมาชุมนุม ภายหลังการตรัสรู้ของพระพุทธองค์
ม้ากัณฐกะที่เจ้าชายสิทธัตถะประทับเมื่อเสด็จออกบรรพชา
เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
เจ้าชายสิทธัตถะตัดพระเมาลี
ภาพพระเนมิราช ฝีมือครูทองอยู่ จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 3
เนมิราชชาดก เป็นชาดกเรื่องที่ 4 ในชุด พระเจ้าสิบชาติ หรือทศชาติชาดก
ชาดกเรื่องนี้ สอนคติธรรม เรื่อง การบำเพ็ญอธิษฐานบารมี คือ ความมีใจแน่วแน่ ไม่หวั่นไหว
พระวิหาร มีมุขขวาง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ด้านหน้าพระวิหาร มีเจดีย์ทรงเครื่อง สร้างขึ้นเมื่อคราวบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3.
เอกสารอ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2556). พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ : พัฒนาการของงานช่างและแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง