วัดม่วง อำเภอบ้านโป่ง มีอายุเก่าแก่กว่า 370 ปี ทางวัดจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน แสดงรากเหง้าของชาวมอญในลุ่มน้ำแม่กลอง ที่โบสถ์หลังเก่ามีจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือช่างพื้นบ้าน
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ (2554) ศึกษาความเป็นมาของชุมชนวัดม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พบว่า กลุ่มบ้านของชาวมอญแถบนี้มีการตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 370 ปีแล้ว
สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำคณะทัศนศึกษาไปเยี่ยมชม เมื่อ 26 กันยายน 2558
สืบค้นอายุชุมชน
ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน บรรพบุรุษรุ่นแรกอพยพมาจากพม่า ในราวรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2133-2148) โดยติดตามพระมหาเถรคันฉ่อง พระสงฆ์เชื้อสายมอญ เข้ามาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำแม่กลอง และตั้งชื่อหมู่บ้านเหมือนบ้านเดิมในพม่า ว่า “บ้านม่วง” เรียกชื่อวัดประจำหมู่บ้านว่า “วัดม่วง”
ทะเบียนวัดของกรมการศาสนา ระบุว่า วัดม่วงจัดตั้งเมื่อปีพ.ศ.2223 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231) คัมภีร์ใบลานผูกหนึ่ง ซึ่งจารขึ้นที่วัดม่วง ระบุปีที่จารตรงกับพ.ศ.2181
สุภาภรณ์ (2554) ลงความเห็นว่า เป็นไปได้ว่า ชาวมอญรุ่นแรกของวัดม่วงอาจอพยพมาในราวสมัยพระนเรศวรจริง จากนั้นใช้เวลาอีก 30 ปีเศษในการตั้งชุมชน สร้างวัด และจารคัมภีร์ ในเมื่อคัมภีร์ผูกนี้จารเมื่อปี 2181 นั่นหมายความว่า ในรัชกาลของพระเจ้าปราสาททองแห่งอยุธยานั้นมีวัดม่วงแล้ว ดังนั้น วัดนี้จึงมีอายุไม่ต่ำกว่า 370 ปี
โบสถ์หลังเก่า-เจดีย์มอญ
พระอุโบสถหลังเก่าหันหน้าสู่แม่น้ำทางทิศตะวันออก (ปัจจุบันใช้เป็นวิหาร โดยมีการสร้างโบสถ์หลังใหม่เป็นแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ตั้งอยู่ด้านหลังของโบสถ์หลังเก่า) อาคารหลังนี้เป็นแบบไทยประเพณี มีระเบียงรอบ มีหลังคาตอนเดียวซ้อน 2 ตับ เป็นอาคารทรงโรง มีพาไลคลุม รองรับด้วยเสานางเรียง ไม่มีบัวหัวเสา
หน้าบันเป็นปูนปั้นลวดลายเรขาคณิต ระบายสีคล้ายรูปมังกรในศิลปะจีน ผนังพระอุโบสถเป็นผนังฉาบเรียบ เขียนจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องพุทธประวัติ กรอบประตูเขียนเป็นรูปซุ้ม บานประตูเป็นไม้ มีภาพเขียนสีรูปทวารบาล ยืนถืออาวุธ เหยียบบนสัตว์พาหนะ
ที่หน้าวัด ริมฝั่งแม่กลอง มีพระเจดีย์แบบมอญ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ตั้งบนฐานเขียงรูปสีเหลี่ยม ถัดขึ้นมาเป็นฐานสอบเข้ารูปแปดเหลี่ยม องค์ระฆังเป็นทรงกลม
ใกล้กับอาคารพิพิธภัณฑ์ มีศาลต้นโพธิ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลอาหน็วก” เวลาในวัดมีการจัดงาน ต้องจุดธูปเทียนบอกกล่าวหรือขออนุญาต หรือจะบนบานขอความสำเร็จต่างๆก็ได้
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2535 ด้วยความร่วมมือระหว่างวัดม่วง ชาวบ้านม่วง และมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆที่พบบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง อาทิ เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูป
ติดตามสารคดีภาพ ชุด มอญแม่กลอง
มอญแม่กลอง (1): ย้อนอดีตบ้านโป่ง-โพธาราม
มอญแม่กลอง (2): หอไตรฯ-เจดีย์ ทรงรามัญ
มอญแม่กลอง (3): ศิลปะผสมชนชาติ
มอญแม่กลอง (5): จิตรกรรมอันลือเลื่อง
มอญแม่กลอง (6-ตอนจบ): ภาพถวายพระเพลิงฯ
เรียบเรียงเรื่อง และถ่ายภาพ: สาธิต มนัสสุรกุล
เอกสารอ้างอิง
ปริมประภา แก้วละเอียด. (2551). การศึกษาวิเคราะห์หลักฐานประวัติศาสตร์ของชุมชนบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง กรณีอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี. การ ค้นคว้าอิสระตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2554). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง ความหลากหลายของผู้คน ชุมชน และวัฒนธรรม บ้านโป่ง-บ้านเจ็ด สมียน. กรุงเทพฯ: เอราวัณการพิมพ์.