เปิดตัวกันไปแล้วเป็นที่เรียบร้อยกับมหากาพย์ภาพยนตร์สงครามอวกาศระดับตำนานอย่าง Star Wars: The Rise of Skywalker ภาคปิดของภาพยนตร์สุดโปรดของแฟนๆ ทั่วโลกที่ดำเนินมาอย่างยาวนานกว่า 42 ปี ซึ่งแน่นอนว่าในการเปิดตัวสุดสัปดาห์แรก สามารถทำรายได้ได้มากถึง 175.5 ล้านดอลลาร์ในอเมริกาเหนือ
The Washington Post ชี้ แม้ The Rise of Skywalker จะเป็นภาคสุดท้ายแล้วแต่นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สตาร์วอร์สที่มี 'ฉากจูบของผู้หญิง 2 คน' ในเรื่อง และแม้ว่าฉากจูบที่ว่านี้จะเกิดขึ้นตอนช่วงท้ายของเรื่องเป็นเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่ามันจะยาวนานเกินกว่าที่ทางการของประเทศสิงคโปร์จะรับได้ จึงเป็นเหตุให้มีการตัดฉากจูบดังกล่าวออกไปในเวอร์ชั่นที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของสิงคโปร์
หน่วยงานกำกับสื่อของสิงคโปร์ให้คำอธิบายกับสำนักข่าว BBC ว่าการตัดฉากดังกล่าวออกไปจาก Star Wars:The Rise of Skywalker มีจุดประสงค์เพื่อการันตีว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นไปตามกฎข้อบังคับการให้เรทติ้งประเภทที่เหมาะสมกับเยาวชน หรือที่เรียกว่า PG-13 ในสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนดูที่กว้างขึ้นและส่งผลให้สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นด้วย หากไม่มีการตัดฉากจูบของคนเพศเดียวกันออก ทางการจำเป็นจะต้องกำหนดเรทติ้งที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ไม่สามารถเข้าชมได้
ด้าน เจ.เจ. เอแบรมส์ ผู้กำกับ ให้สัมภาษณ์กับสื่อด้านภาพยนตร์ MovieZine ว่าเขาตั้งใจที่จะให้มีฉากจูบกันของคนเพศเดียวกันในผลงานชิ้นล่าสุดนี้เพราะต้องการเพิ่มเนื้อหาที่แสดงออกถึงกลุ่มคู่รักเพศเดียวกันให้มากขึ้นในสื่อภาพยนตร์ และการใส่ฉากนี้เข้าไปในหนังก็เป็นไปเพื่อการเฉลิมฉลองและเป็นธรรมชาติ ไม่ได้มีลักษณะของการทำให้เป็นเรื่องใหญ่โตหรือยัดเยียดประเด็นการแสดงออกถึงความรักของคู่รักเพศเดียวกันให้กับผู้ชมแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารออกมาด้วยว่า ณ กาแลกซีแห่งนี้มีความหลากหลายของผู้คน และทุกคนก็ได้รับการต้อนรับด้วยความยินดี
ปัจจุบันการแต่งงานของคนเพศเดียวกันยังคงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในสิงคโปร์ แม้ว่าการมีความสัมพันธ์กันของคนเพศเดียวกันจะไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในสิงคโปร์ก็ตาม และโดยปกติแล้วสังคมของสิงคโปร์ยังเป็นสังคมที่มีความอนุรักษ์นิยมสูงมาก
สำนักข่าว Reuters ชี้ว่าในการสำรวจความเห็นของประชาชนในสิงคโปร์ช่วงปี 2018 และ 2019 โดย Institute of Policy Studies พบว่าอัตราการยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ในสิงคโปร์มีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในปี 2013