เฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เขียนข้อความขอให้ผู้โพสต์ข้อความ อย่าใช้คำหยาบคายหรือข่มขู่ หลังจากมีผู้โพสต์ข้อความจำนวนมาก ตำหนิท่าทีของสหรัฐต่อการบังคับใช้มาตรา 112
ด้านรองนายกรัฐมนตรี ย้ำ จะเร่งตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กรณีนายสุนัย จุลพงศธร มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการเผยแพร่และปลุกระดมให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบัน
นายศิริโชค โสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดสงขลา ยื่นหนังสือต่อ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบพฤติกรรม นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีระบบรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กรณีมีคลิปภาพและเสียงแสดงทัศนคติเป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ปลุกระดมคนเสื้อแดง ด้วยการบิดเบือนข้อมูล หวังผลเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และมีการเผยแพร่ไปยังต่างประเทศผ่านโซเชียลมีเดีย
โดยขอให้ตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลในการปกป้องสถาบัน และเรียกร้องให้รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดำเนินคดีตามกฎหมาย และอยากให้รัฐบาลจริงจังกับการปราบปราม และปิดเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่เป็นบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์
ขณะที่เฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เขียนข้อความว่า สถานทูตยินดีรับมุมมองและความคิดเห็นที่หลากหลายบนหน้าเฟซบุ๊ก แต่ขอให้ทำความเข้าใจกับเงื่อนไขในการให้บริการเฟซบุ๊กของทางสถานทูต และโปรดงดเว้นการใช้ภาษาที่หยาบคาย รุนแรง หรือข่มขู่
ซึ่งข้อความนี้ เกิดขึ้นหลังมีผู้เข้าไปโพสต์ข้อความจำนวนมาก ตำหนิ ท่าทีของนางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย หลังศาลมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี 5 เดือน นายโจ กอร์ดอน ชายไทยสัญชาติอเมริกัน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
โดย นางคริสตี้ เคยระบุว่า สหรัฐกังวลใจต่อเรื่องดังกล่าว เพราะการตัดสินไม่สอดคล้องกับมาตรฐานเสรีภาพพื้นฐานสากลว่าด้วยสิทธิในการแสดงออก พร้อมยืนยันว่าทางการสหรัฐมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยอย่างหาที่สุดมิได้ แต่สหรัฐสนับสนุนการมีสิทธิทางความคิดและเสรีภาพในการแสดงออกทั่วโลก
ขณะที่ภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี นำโดย พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงท่าทีที่ชัดเจน ต่อกรณีที่มีตัวแทนองค์กรต่างชาติ เช่น รักษาการโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ,ผู้ตรวจการพิเศาแห่งสหประชาชาติ ,เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ ผู้แทนระดับสูงสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคง แสดงความคิดเห็นและเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยเครือข่าย เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติถึงหลักการยึดมั่น ยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำความเข้าใจกับตัวแทนองค์กรต่างชาติถึงรายละเอียดของกฎหมายอาญา มาตรา 112 และวัฒนธรรมการปกครองระหว่างประชาชนไทยกับพระมหากษัตริย์
โดยต้องทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับคดีที่เกี่ยวข้อง และผลร้าย หากมีการละเมิด และต้องออกหนังสือประณามการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทย
ด้านกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงปิดกั้นข้อความไม่เหมาะสมแล้วกว่า 60,000 ยูอาร์แอล เปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่ปิดไป 73,000 ยูอาร์แอลในช่วง 3 ปี ก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้เอาจริงเอาจัง และปิดกั้นได้ ทั้งเว็บไซต์ที่เปิดในไทย และต่างประเทศ
Produced by VoiceTV