ไม่พบผลการค้นหา
โฆษณาในยุคนี้ ต้องเน้นเรื่องดราม่า ทำให้สื่อต่างประเทศ วิจารณ์ว่าโฆษณาไทยเน้นทำร้ายอารมณ์คนดู ไม่ช่วยแก้ปัญหา และไม่สะท้อนถึงแบรนด์สินค้าด้วย

โฆษณาในยุคนี้ ต้องเน้นเรื่องดราม่า ทำให้สื่อต่างประเทศ วิจารณ์ว่าโฆษณาไทยเน้นทำร้ายอารมณ์คนดู ไม่ช่วยแก้ปัญหา และไม่สะท้อนถึงแบรนด์สินค้าด้วย รวมทั้งโฆษณาเมืองไทย กำลังตามรอยโฆษณาต่างชาติโดยใช้ดราม่า เป็นสูตรสำเร็จ 

เว็บไซต์ Rocket news ได้แสดงความเห็นถึง โฆษณากล้องวงจรปิดแห่งหนึ่ง ในประเทศไทย โดยเป็นโฆษณา"เจ้าของแผงหนังสือกับคนจรจัด" ที่เจ้าของแผงหนังสือ ไร้น้ำใจกับคนจรจัดคนหนึ่ง ที่ชอบมานอนหน้าร้านเป็นประจำ ก่อนที่คนจรจัดผู้นี้จะหายไปจนเจ้าของแผงหนังสือสงสัยและได้ไปเปิดกล้องวงจรปิดพบว่า คนจรจัดคนนี้ เป็นคนมีน้ำใจ ช่วยปกป้องร้านของเขา จากคนเมาที่ชอบมาปัสสาวะหน้าร้าน รวมทั้งมิจฉาชีพ และ เขาต้องตายเพราะถูกมิจฉาชีพแทงตายหน้าร้าน  ก่อนที่โฆษณาจะจบลงด้วยประโยค มีความจริงอีกมากมายที่เราไม่เคยรู้ 

ซึ่งสะท้อนว่า โฆษณาของไทย มักเน้นเรียกกระแสดราม่า ให้สะเทือนอารมณ์ แต่ไม่ได้ให้แง่มุมคิดหรือการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด  เช่น การหาแหล่งบริจาคเงิน เช่น มูลนิธิ หรือแหล่งช่วยเหลือคนพักพิง  แต่โฆษณา กลับทำให้ผู้ชม ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ หรือ เจ้าของแผงหนังสือน่าจะนำวิดีโอเทปวงจรปิดไปให้ตำรวจ เพื่อติดตามจับกุมคนร้าย หรือไม่
          
จริงอยู่ การทำให้ผู้ชมรู้สึกดีถือเป็นกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพด้านการค้า โดยเฉพาะการสร้างโฆษณาที่ต้องดึงดูดผู้คนที่มีเวลาจำกัด หรือ 30 วินาที ก่อนจะจบด้วยการบอกชื่อสินค้าของโฆษณา เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกดีกับสินค้าแบรนด์นั้น แต่โฆษณาของไทย มักเล่นกับอารมณ์เจ็บปวดสะเทือนอารมณ์ เพื่อทำให้ผู้ชมต้องเสียน้ำตา และรู้สึกเห็นอกเห็นใจ 

และโฆษณานี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อโฆษณาของบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ชุด #UnsungHero หรือ “วีรบุรุษที่ไม่มีใครรู้จัก” ที่ไปส่งเสริมการช่วยคนขอทาน ให้เรียนหนังสือได้  ทำให้มูลนิธิกระจกเงา ท้วงติงโฆษณาชุดนี้

ขณะที่ Mashable สำนักข่าววาไรตี้และการตลาดโดยคอลัมนิสต์ T.L.Stanley เผยแพร่บทความวิเคราะห์กระแสซีรี่ย์โฆษณาต่อมน้ำตาแตกของประเทศไทย โดยระบุถึง โฆษณาจากบริษัทประกันชีวิตแห่งเดียวกัน ที่เด็กนักเรียนคนหนึ่งที่หัดเล่นกีต้าร์เอง เพื่อจะได้หาเงินมาช่วยจ่ายค่ารักษาให้แก่แม่ที่เป็นมะเร็ง แต่น่าสนใจตรงที่การบอกว่าเกิดจากเรื่องจริง หรือ true story และไม่นำเสนอแบบสะเทือนอารมณ์มาก 

ซึ่งสะท้อนว่า บริษัทโฆษณาในไทย เริ่มเลียนแบบโฆษณาอเมริกันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ Barbara Lippert นักวิจารณ์สื่อและคอลัมนิสต์ของ MediaPost.com ระบุว่า โฆษณาของไทยระยะหลังจึงเป็นแนว sadvertising หรือโฆษณาที่เร่งเร้าให้ผู้ชมเกิดความซาบซึ้ง กินใจ โดยใช้การดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคน และกลายเป็นสูตรสำเร็จที่ทำเมื่อไหร่ก็ประสบความสำเร็จ

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
189Article
76559Video
0Blog