ไม่พบผลการค้นหา
ขณะมาเลเซียส่อเค้าลอยลำเข้าเจรจาเอฟทีเอรวมชาติแปซิฟิก หลังสหรัฐฯอัพเกรดสถานะประเทศค้ามนุษย์ให้รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ ไทยกลับยังไม่สามารถร่วมวงกลุ่มค้าเสรีมูลค่ามหาศาลได้ เพราะถูกขึ้นบัญชีดำ

ขณะมาเลเซียส่อเค้าลอยลำเข้าเจรจาเอฟทีเอรวมชาติแปซิฟิก หลังสหรัฐฯอัพเกรดสถานะประเทศค้ามนุษย์ให้รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ ไทยกลับยังไม่สามารถร่วมวงกลุ่มค้าเสรีมูลค่ามหาศาลได้ เพราะถูกขึ้นบัญชีดำ

 

รายงานของนิวยอร์กไทมส์ ระบุว่า กรณีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯยกระดับการประเมินผลงานของมาเลเซียจากบัญชี “เทียร์ 3” เป็น “เทียร์ 2 วอทช์ลิสต์” หรือประเทศที่ยังต้องจับตาการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯในด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์นั้น เปิดทางให้รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์สามารถเข้าร่วมเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีรวมชาติแปซิฟิก

 

เหตุที่รายงานประเมินผลงานปราบปรามการค้ามนุษย์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ เป็นที่จับตามากเป็นพิเศษในปีนี้ เพราะรัฐบาลวอชิงตันตั้งเป้าที่จะบรรลุผลเจรจาข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนรวมชาติแปซิฟิก หรือทีพีพี (Trans-Pacific Partnership) ให้ได้โดยเร็ว

 

ปัจจุบัน มีประเทศต่างๆที่ลงนามแล้ว กำลังเจรจา และแสดงความสนใจเข้าร่วมในกลุ่มทีพีพี รวม 16 ประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นชาติสมาชิกอาเซียน คือ บรูไน สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ยังมีสหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ

 

เมื่อเร็วๆนี้ สภาคองเกรสให้อำนาจประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่จะรวบรัดขั้นตอนการเจรจาจัดตั้งกลุ่มการค้าเสรีดังกล่าว แต่มีเงื่อนไขห้ามผู้นำสหรัฐฯทำเอฟทีเอกับประเทศที่ถูกกระทรวงต่างประเทศจัดเข้ากลุ่ม Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ หรือทีไอพี (Trafficking in Persons) เพราะถือว่าประเทศในกลุ่มนี้ไม่ได้ใช้ความพยายามมากเพียงพอในการยุติการค้ามนุษย์

 

 

สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างรายงานทีไอพีปี 2015 ระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่ประเทศไทยไม่ได้รับการอัพเกรดผลการประเมิน ก็คือ ทางการไทยไม่ได้สอบสวนและดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนพัวพันกับการค้ามนุษย์

 

แม้ว่าตำรวจเร่งมือปราบปรามการค้ามนุษย์ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา แต่รายงานทีไอพีครอบคลุมช่วงเวลาจนถึงเดือนมีนาคม ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยสอบสวนคดีค้ามนุษย์น้อยลงกว่าเมื่อปี 2556 อีกทั้งยังไต่สวนคดีและตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์น้อยกว่าเมื่อปี 2557 ด้วย

 

รายงานของนิวยอร์กไทมส์ ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่ติดเทียร์ 3 ส่วนใหญ่ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด หรืออาจเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ เช่น เกาหลีเหนือ ซีเรีย รัสเซีย แต่ไทยเป็นมิตรกับอเมริกามาช้านาน การกีดกันไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่ ไม่ให้เข้าร่วมในกลุ่มทีพีพี ดูจะทำให้ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้แหว่งวิ่น

นิวยอร์กไทมส์จึงชี้ชวนให้จับตาว่า รัฐบาลโอบามาจะยอมเปิดทางให้ไทยเข้าร่วมเจรจา ทั้งๆที่มีชนัก “เทียร์ 3” ติดหลัง หรือไม่

 

อย่างไรก็ดี รายงานบอกว่า โอบามาคงใช้กลยุทธ์ “หลับตาข้างหนึ่ง” ไม่ง่ายนัก เพราะปีกเสรีนิยมที่สนับสนุนเขาในสภาคองเกรสคงไม่เออออห่อหมกด้วย ต้องไม่ลืมว่า สมาชิกรัฐสภาในปีกนี้มีกำลังภายในพอสมควร เคยหวุดหวิดคว่ำข้อตกลงทีพีพีมาแล้ว.

 

Source: New York Times ; Reuters

Photos: AFP

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
184Article
76559Video
0Blog