ไม่พบผลการค้นหา
การย้ายเมืองหลวงมีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เช่นมาเลเซีย

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องการย้ายเมืองหลวงของไทย จากกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดนครนายก หรือจังหวัดเพชรบูรณ์

 

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาภัยธรรมชาติในอนาคต  การย้ายเมืองหลวงมีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เช่นมาเลเซีย

 

กรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองหลวงของมาเลเซียมาจนกระทั่งปี 2544 ศูนย์กลางการบริหารราชการของมาเลเซียจึงได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองปุตราจายา ซึ่งเป็นเมืองหลวงด้านการบริหารราชการแผ่นดินของมาเลเซีย ขณะที่เมืองหลวงด้านเศรษฐกิจ การค้า และการเงินยังคงอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์เช่นเดิม



โครงการสร้างเมืองศูนย์ราชการแห่งใหม่ของมาเลเซีย เริ่มต้นขึ้นในปี 2531 ซึ่งรัฐบาลของดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้เสนอให้ย้ายศูนย์ราชการไปอยู่รวมกันที่เมืองแห่งใหม่ เพื่อความสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารและการประสานงานระหว่างกระทรวงต่างๆ  โดยกำหนดว่าที่ตั้งของเมืองศูนย์ราชการแห่งใหม่จะต้องอยู่ระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์และท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ เพื่อความสะดวกในการเดินทางของข้าราชการ



รัฐบาลกลางได้เจรจาซื้อที่ดินเขตปารังเบซาร์ จากรัฐสลังงอร์ และเริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2538 โดยกำหนดให้โครงการเสร็จสิ้นภายใน 15 ปี และใช้งบประมาณในการก่อสร้างการก่อสร้างกว่า 250,000 ล้านบาท นับเป็นการก่อสร้างที่มีมูลค่าสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน



รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศให้ปุตราจายาเป็นเมืองศูนย์กลางการบริหารราชการแห่งใหม่ในปี 2542 และประกาศให้เป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐบาลกลางในปี 2544  หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลมาเลเซียเกือบทั้งหมดได้ย้ายมายังปุตราจายาในปี 2548 ยกเว้นกระทรวงสารสนเทศ การสื่อสารและวัฒนธรรม ที่ยังคงตั้งอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ เนื่องจากไม่สะดวกที่จะเคลื่อนย้ายอุปกรณ์และฐานข้อมูลที่กระทรวงดูแลรับผิดชอบอยู่ 



ปุตราจายามีพื้นที่กว่า 34,500 ไร่ อยู่ห่างจากกัวลาลัมเปอร์ 25 กิโลเมตร และห่างจากท่าอากาศยาน 20 กิโลเมตร  ชื่อ "ปุตราจายา" ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ตุนกู อับดุล ระห์มาน ปุตรา นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย



เมืองปุตราจายา นอกจากจะได้รับการออกแบบให้กระทรวงต่างๆ ตั้งอยู่ใกล้กันเพื่อความสะดวกในการประสานงานแล้ว ก็ยังกำหนดให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โดยสร้างระบบการสื่อสารของราชการบนเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการใช้เอกสารที่พิมพ์ลงบนกระดาษ และกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียว เช่น สวนหย่อมและปลูกต้นไม้ กระจายอยู่ทั่วเมืองโดยคิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 38 ของเมือง



ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่สำหรับให้เอกชนประกอบการธุรกิจ และมีเขตที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการและครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 68,000 คน

 

Produced by VoiceTV 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog