ไม่พบผลการค้นหา
ผลสำรวจล่าสุดชี้ นักกีฬา เป็นหนึ่งอาชีพในฝันของหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ สามารถสร้างเงินเป็นกอบเป็นกำ ส่วนกระแสความคิดของผู้ปกครองในอดีต ที่อาจไม่คาดคิดมาก่อนว่า กีฬาจะเป็นอาชีพที่มั่นคงและได้รับการยอมรับในสังคม

ผลสำรวจล่าสุดชี้ นักกีฬา เป็นหนึ่งอาชีพในฝันของหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ สามารถสร้างเงินเป็นกอบเป็นกำ ส่วนกระแสความคิดของผู้ปกครองในอดีต ที่อาจไม่คาดคิดมาก่อนว่า กีฬาจะเป็นอาชีพที่มั่นคงและได้รับการยอมรับในสังคม 
    
ผลสำรวจล่าสุดชี้ นักกีฬา เป็นหนึ่งอาชีพในฝันที่กำลังมาแรงในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ขณะที่อาชีพนักกีฬาในประเทศไทย ไม่ได้จำกัดเฉพาะกีฬาเทนนิส กอล์ฟ หรือฟุตบอล และประโยชน์ที่ได้จากการเล่นกีฬาอาชีพ ยังมีมากกว่าตัวเงิน แต่รวมถึงการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่มีน้ำใจนักกีฬา และการเคารพกฎกติกาสังคมได้อีกด้วย
    
กระแสความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอล วอลเลย์บอล รวมถึงแบดมินตันในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เยาวชนไทยหลายคนใฝ่ฝันที่จะเติบโตไปมีอาชีพเป็นนักกีฬากันมากขึ้น  ข้อมูลนี้อ้างอิงจากการสำรวจล่าสุดของกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย ซึ่งระบุว่า อาชีพในฝันของเด็กไทยในปี 2558 แม้ห้าอันดับแรก จะยังคงเป็นแพทย์ ทหาร ตำรวจ ครู และวิศวกร ตามลำดับ แต่อาชีพที่มาแรงไม่แพ้กันยังรวมถึงนักกีฬา ซึ่งบรรดาผู้ปกครองในอดีตอาจไม่คาดคิดมาก่อนว่า จะเป็นอาชีพที่มั่นคง และได้รับการยอมรับมากมายในสังคม

ปัจจุบัน อาชีพนักกีฬาในประเทศไทย สามารถสร้างรายได้แบบเป็นกอบเป็นกำ ยกตัวอย่างเช่น นักฟุตบอล ซึ่งมีลีกอาชีพภายในประเทศรองรับ และสามารถทำรายได้ถึงปีละหลายล้านบาท

จากข้อมูลของเว็บไซต์ MThai รายงานว่า ชาริล ชัปปุยส์ นักเตะลูกครึ่งไทย - สวิส ของทีมสุพรรณบุรี เอฟซี ถือเป็นนักเตะที่มีค่าตัวสูงเป็นอันดับต้นๆของไทย โดยมีเงินเดือนประมาณ 7 แสนบาท หรือปีละ 8.4 ล้านบาท ไม่รวมโบนัส เงินอัดฉีด หรือค่าพรีเซ็นเตอร์โฆษณาต่างๆ  รองลงมา คือ ธีราทร บุญมาทัน กัปตันทีมชาติไทยของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีรายได้เดือนละ 6 แสนบาท หรือปีละ 7.2 ล้านบาท ตามมาด้วย "ลีซอ" ธีรเทพ วิโนทัย ของทีมเพื่อนตำรวจ ได้เงินเดือน 4 แสนบาท และกวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ นายทวารทีมชาติไทยของทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด มีรายได้เดือนละ 3.5 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลไม่ใช่กีฬาชนิดเดียวที่สามารถยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ โดยแผนกลยุทธ์การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551-2554 มีการผลักดันกีฬาทั้งหมด 12 ชนิด ให้ได้รับการพัฒนาเข้าสู่ระบบกีฬาอาชีพ ได้แก่ กอล์ฟ เทนนิส บิลเลียด โบว์ลิ่ง แบดมินตัน จักรยานยนต์ เทเบิลเทนนิส มวยไทย ฟุตบอล เซปักตะกร้อ ตะกร้อลอดห่วง และวอลเลย์บอล

นายมนตรี ไชยพันธุ์ รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) บอกว่า รู้สึกยินดีที่เยาวชนไทยยุคใหม่ให้ความสนใจกีฬากันมากขึ้น ถึงขั้นที่อยากยึดเป็นอาชีพกันอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็มองว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ให้คุณกับนักกีฬา และสังคมไทยไปพร้อมกัน เพราะนอกจากการเล่นกีฬาจะให้รายได้เป็นตัวเงินแล้ว ยังทำให้นักกีฬาได้เรียนรู้การเคารพกฎกติกา และมีน้ำใจเป็นนักกีฬามากขึ้นอีกด้วย

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog