ผู้เชี่ยวชาญเคมบริดจ์พบดาวแคระขาวกำลังเขมือบคู่สหาย จับตาดาวทั้งสองชนกันแล้วระเบิดเป็นมหานวดารา ช่วยไขปริศนาการขยายตัวของจักรวาล
ทีมผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ รายงานในวารสาร Monthly Notices of the Royal Astronomical Society ในวันศุกร์ ว่า พบดาวแคระขาวที่มีความหนาแน่นสูงดวงหนึ่ง ห่างจากโลก 730 ปีแสง กำลังกลืนกินดาวสหายของมันเอง
ดาวแคระขาวเป็นซากหลงเหลือของดาวฤกษ์ที่มีมวลไม่มาก ซึ่งได้ใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ไปจนหมดแล้ว ดาวชนิดนี้อยู่ในช่วงสุดท้ายของพัฒนาการ ตามทฤษฎีแล้ว ดาวแคระขาวจะเย็นตัวลงจนกระทั่งไม่แผ่รังสีที่มองเห็นได้อีกต่อไป กลายเป็นดาวแคระดำในท้ายที่สุด
ดาวทั้งสองจัดเป็นระบบดาวคู่ มีชื่อว่า Gaia14aae ซึ่งตั้งชื่อตามนามของดาวเทียม กายา ขององค์การอวกาศยุโรป ที่ค้บพบดาวคู่ดังกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 หลังจากมันปะทุอย่างรุนแรง เปล่งแสงเจิดจ้ากว่าเดิมถึง 5 เท่าภายในวันเดียว
นักวิจัยพบว่า การปะทุดังกล่าวเป็นผลจากการที่ดาวแคระขาวดูดดึงเอาก๊าซจากดาวสหายที่มีขนาดใหญ่กว่า เจ้าดวงเล็กนี้มีความหนาแน่นมาก เนื้อสารขนาดช้อนชามีน้ำหนักเท่าช้างตัวหนึ่งเลยทีเดียว
แรงโน้มถ่วงของดาวแคระขาวทำให้ดาวสหายพองใหญ่ขึ้น จนทั้งสองมีขนาดเทียบได้กับบอลลูนยักษ์กับลูกหิน
แรงดึงดูดนี้ยังทำให้เจ้าดวงโต ซึ่งมีมวลสารราว 125 เท่าของดวงอาทิตย์ของเรา เคลื่อนที่เข้าหาเจ้าดวงเล็ก ซึ่งมีขนาดเท่าโลก ด้วย
แม้มีขนาดใหญ่กว่า แต่เจ้าดวงโตนั้นมีน้ำหนักเบา มวลสารของมันคิดเป็นเพียง 1% ของดาวแคระขาว สหายทั้งสองโคจรรอบกันและกันในระยะใกล้
ยังไม่รู้ว่า ดาวแคระขาวดวงนี้จะเขมือบเพื่อนจนหมดสิ้น หรือว่าทั้งสองจะชนกันในที่สุด แล้วระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา
นักดาราศาสตร์อาศัยปรากฏการณ์ซูเปอร์โนวา หรือมหานวดารา เป็นจุดอ้างอิงเมื่อต้องการวัดการขยายตัวของจักรวาล.
Source: AFP : วิกิพีเดีย
Image credit: Marisa Grove/Institute of Astronomy