ชมรมแพทย์ชนบทชี้แจงว่า การบริหารจัดการวัคซีนของประเทศที่จะมีวัคซีนเต็มแขน ปัจจุบันพบปัญหาที่กลับตาลปัตรคือ มีการสั่งวัคซีนมามากเกินไป เกินความประสงค์ฉีดของประชาชน ยิ่งในสถานการณ์โควิดที่ลดลง แม้วัคซีนเข็มสามจะมีความคลุมราว 40.8% ของเป้าหมาย แต่การจะชี้ชวนมาฉีดนั้นแทบจะไม่มีใครมาฉีดแล้ว และเป็นสิทธิที่ประชาชนจะเลือก บังคับไม่ได้ วัคซีนจึงเหลือเต็มคลังของ สธ.
"สธ.คงรู้ว่าพวกโรงพยาบาลต่างๆ นั้นหัวดื้อ ส่งวัคซีนซี้ซั้วแบบนี้มาให้คงถูกด่าเปิง หวยเลยไปออกที่ รพ.สต. ที่ตัวเล็กสุด ปากเสียงเบาสุด การส่งวัคซีนครั้งนี้เล่นกระจายวัคซีนให้ รพ.สต.ทุกแห่ง ไม่สนใจว่าใหญ่เล็ก ประชากรที่ดูแลกี่คน ไม่สนใจจำนวนวัคซีนที่เขาต้องการ ส่งไปให้เลยทุกแห่งให้เท่าๆกัน ราวกับส่งไปเพื่อทิ้งอย่างชอบธรรม"
"ให้ไปเยอะแบบนี้ เอาไปฝากเพื่อให้หมดอายุที่ รพ.สต. เพื่อรอทิ้งชัดๆ และเชื่อว่า หลังจากรอบนี้ เดี๋ยวก็จะส่งมาอีก เพราะสั่งไว้เยอะ ประเทศเราไม่มีวิธีอื่นที่จัดการให้ดีกว่านี้แล้วหรือ เสียดายภาษี เสียดายค่า logistic การขนส่งเพื่อเอาไปวัคซีนไปทิ้งที่ รพ.สต.เพื่อให้ดูชอบธรรม รพ.สต.ไม่ใช่ถังขยะทิ้งวัคซีนนะเจ้านาย"
ชมรมแพทย์ชนบทยังย้ำอีกว่า วัคซีนล็อตเก่ายังเต็มตู้เย็น รอ expire อยู่อีกจำนวนมาก รพ.สต.ต่างๆ ใช้ไม่ทันแน่ เมื่อส่งมาใหม่ทำให้ตู้เย็นไม่พอเก็บ ที่ผ่านมาวัคซีนเหล่านี้จะมาสต็อคที่คลังโรงพยาบาลก่อน แล้วให้ รพ.สต. ทยอยเบิกไปทีละน้อย เพราะคลังวัคซีนต้องมีระบบห่วงโซ่ความเย็นที่สมบูรณ์ สำคัญคือตู้เย็นเก็บวัคซีนต้องมีระบบไฟสำรองเลี้ยงกรณีไฟดับ ซึ่ง รพ.สต.หลายแห่งไม่มีระบบไฟสำรอง จึงเสี่ยงต่อการรักษาคุณภาพวัคซีน ดังนั้น สิ่งที่ผู้มีอำนาจควรทำคือ เจรจากับบริษัทวัคซีนให้ชะลอการส่ง หรือเจรจายกเลิกออร์เดอร์
ทั้งนี้ หนังสือของกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 1 มิ.ย.2565 ระบุว่า ศบค.มีมติเห็นชอบแผ่นเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มกระตุ้นเพื่อรองรับระยะ Post Pandemic ของประเทศ สธ.จึงจัดส่งวัคซีนให้แก่ รพ.สต.เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในทุกกลุ่มเป้าหมาย กรณีที่ให้วัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายครบถ้วนแล้ว ยังมีวัคซีนคงเหลือใกล้หมดอายุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสามารถพิจารณาจัดสรรให้กับกลุ่มเป้าหมายอื่นได้ โดยบริหารจัดการวัคซีนทุกชนิดภายใต้คำแนะนำทางวิชาการและเร่งให้วัคซีนก่อนวันหมดอายุ
ในท้ายหนังสือมีการแจกแจงว่ารพ.สต.แต่ละจังหวัดจะได้วัคซีนเท่าไร โดยมีหมายเหตุว่า รพ.สต. 1 แห่งให้จัดสรรวัคซีนชนิดละ 100 ขวด ยกเว้นซิโนแวค ให้ 120 ขวด ทั้งนี้ รพ.สต.มีเกือบ 10,000 แห่งใน 76 จังหวัด รวมแล้วจะได้รับวัคซีนแบ่งเป็น ซิโนแวค 1.17 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 9.76 ล้านโดส ไฟเซอร์ 5.85 ล้านโดส รวมแล้ว 16.79 ล้านโดส
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีข้อสงสัยเรื่องการกระจายวัคซีนโควิด 19 ไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นแผนการระบายวัคซีนไปทิ้งให้หมดอายุ ว่า การส่งวัคซีนโควิด 19 ไปไว้ที่ รพ.สต.เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการวัคซีนได้ใกล้บ้านที่สุด ทำให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นมติของ ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) มาประมาณเกือบเดือนแล้ว เนื่องจากพบว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่มารับวัคซีน คือ เดินทางไม่สะดวก หรือไม่มีคนพาไป
“กระทรวงสาธารณสุข จึงส่งวัคซีนโควิด 19 ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ไปยัง รพ.สต. ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลสามารถพาผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงไปฉีดวัคซีนกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน นอกจากนี้ รพ.สต.หลายแห่งยังร่วมกับท้องถิ่นออกสำรวจประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและจัดวัคซีนไปบริการเชิงรุกถึงบ้าน โดยกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนอุปกรณ์การฉีดวัคซีน และ สปสช.สนับสนุนค่าฉีดวัคซีนให้กับ รพ.สต. ในอัตรา 40 บาท/เข็ม ไม่ใช่การระบายวัคซีนไปทิ้งแต่อย่างใด เพราะทุกวันนี้ รพ.สต.ก็มีให้บริการวัคซีนอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นต้น” นพ.สุเทพกล่าว
นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้งเป้าหมายฉีดเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมมากกว่า 60% เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นเพียงพอ รองรับการเปิดประเทศและใช้ชีวิตได้เป็นปกติและมีความปลอดภัยมากขึ้น สอดคล้องกับมาตรการเตรียมพร้อมโควิดสู่โรคประจำถิ่นในมาตรการ 2U คือ Universal prevention และ Universal Vaccination โดยภาพรวมขณะนี้มีประชาชนฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 138 ล้านโดส ความครอบคลุมเข็มแรก 81.6% เข็มที่ 2 ได้ 75.7% ส่วนกระตุ้นเข็มที่ 3 ได้เพียง 40.7% จึงขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์และความจำเป็นให้ประชาชนมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้ประเทศสามารถผ่านสถานการณ์โควิด 19 และเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ต่อไป