ไม่พบผลการค้นหา
ในขณะที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย ผู้สูงวัยชาวจีนนับร้อยล้านกลับประสบปัญหาไล่ตามโลกดิจิทัลไม่ทัน รู้สึกโดดเดี่ยวจากสังคม และไม่สามารถเข้าถึงบริการหลายอย่างที่เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลได้

ในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีผู้ใช้งานแอปฯ ทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือราว 890 ล้านราย ทว่าจีนมีจำนวนประชากรเกือบ 1.4 พันล้านคน ขณะที่เขตเมืองของจีนแทบจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดโดยสมบูรณ์แล้ว ต้ังแต่กาแฟตลอดจนรถยนต์สามารถซื้อขายได้ผ่านหน้าจอ การพัฒนาอย่างรวดเร็วกก็ทำให้ผู้สูงอายุที่ใช้งานเทคโนโลยีใหม่ไม่เป็นกำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

จาง จื่อเซีย อดีตครูโรงเรียนอนุบาล วัย 62 ปี คือหนึ่งในผู้สูงวัยที่ไม่อยากตกขบวนเทคโนโลยีของจีน เธอจึงชาร์จแบตเตรียมพร้อมเพื่อเรียนรู้วิธีใช้งานสมาร์ตโฟนกับ ซียัง (See Young) กลุ่มอาสาสมัครผู้จัดสอนคลาสเรียนวิธีใช้โทรศัพท์มือถือ ณ เทศบาลนครผานจวง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปักกิ่ง

แม้การเรียนวิธีใช้มือถือจะทำให้ทักษะของจางจะก้าวหน้าไปมาก แต่เธอก็ยังคงจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลด้วยธนบัตรปึกใหญ่

"ฉันอิจฉาคนอื่นมากเลย พวกเขาจ่ายเงินด้วยการแสกนนิดเดียว แต่ฉันยังต้องนับแบงค์ทีละใบอยู่เลย บางทีก็ต้องนับหลายรอบด้วยเพราะกลัวจะนับผิดไป" จางกล่าว

ขณะที่ชาวจีนในเขตเมืองรับเอาเทคโนโลยีมาใช้งานกันมากขึ้น คนรุ่นเดียวกับจางที่ใช้วิถีชีวิตแบบอนาล็อกมาหลายทศวรรษก็กลายเป็นคนส่วนน้อยไป ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าผ่านหน้าร้าน การต่อคิวรอที่ธนาคาร หรือการโบกแท็กซี่ด้วยมือ ก็กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไป

หลู จีฮัว ศาสตราจารย์ด้านประชากรศาสตร์สังคม มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่า ในบางคราวกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ถูกเรียกว่าเป็นผู้ลี้ภัยทางดิจิทัล (digital refugee) เมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมาโดยคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลตั้งแต่เด็ก ความแพร่หลายของเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของผู้สูงวัย

แม้ว่า ฟาง ฮุ่ยเซิง วัย 82 ปี จะเรียนกับกลุ่มซียังกระทั่งชำนาญการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลแล้ว แต่เธอยังคงกลัวที่จะถูกความก้าวหน้าทิ้งไว้ข้างหลัง

"เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมาก สิ่งที่ควรจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นกลับสร้างปัญหาให้กับคนแก่อย่างพวกเรา" ฟางกล่าว

เธอยังเล่าอีกว่าความพยายามของรัฐบาลที่จะย้ายบริการสาธารณะให้ไปอยู่ในโลกออนไลน์ ทำให้เหลือที่เดียวที่คนสูงอายุอย่างเธอจะจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้คือที่สำนักงานไปรษณีย์เท่านั้น

การกลายเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มตัวเสี่ยงต่อการทำให้ผู้ที่ใช้เทคโนโลยีไม่เป็นถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง อย่างการที่พวกเขาไม่สามารถจ่ายเงินซื้อตั๋วรถไฟหรือซื้อสินค้าในร้านที่รับชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลเท่านั้น

หลู กล่าวในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านประกรศาสตร์ว่า ขณะที่รัฐบาลพยายามจะทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกสบายขึ้นด้วยเทคโนโลยี ความพยายามนั้นก็ทำให้พลเมืองสูงอายุลำบากขึ้นเช่นกัน เขายกตัวอย่างกรณีของโรงพยาบาลที่การลงทะเบียนผู้ป่วยผ่านแอปพลิเคชันในมือถืออาจจะไม่มีประโยชน์นัก เมื่อพิจารณาว่าผู้สูงอายุที่ใช้แอปฯ ไม่เป็นนั้นคือฝ่ายที่เข้าโรงพยาบาลกันเยอะกว่าคนหนุ่มสาวมาก

โหว หยู่ชิง นักศึกษาชาวจีนผู้เป็นอาสาสมัครของกลุ่มซียัง เล่าว่า การช่วยอาม่าของตัวเองให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการช่วยผู้สูงอายุคนอื่นๆ รับมือกับความท้าทางทางเทคโนโลยีด้วย

"มือถือเดี๋ยวนี้มีฟังก์ชันเยอะเกินไป ไม่ใช่แค่กับคนสูงอายุนะ บางทีขนาดฉันเองยังสับสนกับเทคโนโลยีเลย" เธอว่า

เมื่อเทรนด์ของโลกพัฒนาไปไม่หยุดแม้ว่าคนบางกลุ่มอาจจะไม่พอใจ การสนับสนุนและช่วยเหลือให้คนเหล่านี้ปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสูงวัยคงไม่สมบูรณ์ หากผู้ซื้อหลักของตลาดสูงวัยกลับซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางการขายหลักอย่างอินเทอร์เน็ตไม่ได้

ในปี 2017 ชาวจีนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวนถึง 241 ล้านคน คิดเป็น 17.3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 จะมีสัดส่วนถึงหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด และในปี 2050 อาจมีสัดส่วนสูงขึ้นเป็นหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด ด้วยจำนวนที่สูงเช่นนี้ การสนับสนุนให้ผู้สูงวัยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของจีน โดยการศึกษาจากสถาบันวิจัยของบริษัทเทนเซ็นต์ และมหาวิทยาลัยเซินเจิ้น ชี้ว่าการสอนโดยคนในครอบครัวคือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุที่จะเรียนรู้เทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม จาง เล่าว่าการขาดพื้นฐานทางเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นก็ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเธอกับลูกชายผู้ลังเลจะสอนการใช้แอปฯ ส่งข้อความอย่างวีแชตให้เธอ รวมถึงปฏิเสธที่จะซื้อมือถือรุ่นใหม่ๆ ให้ โดยบอกว่าเธอควรจะใช้แค่มือถือที่โทรเข้าโทรออกได้ก็พอ การที่ลูกชายไม่มีความอดทนมากพอที่จะสอนก็ทำให้เธอรู้สึกโดดเดี่ยว

นอกจากนี้ สภารัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเมินไว้ว่าชาวจีนราว 118 ล้านคนอาศัยอยู่เพียงลำพังจึงเสี่ยงที่จะรู้สึกโดดเดี่ยวหลังถูกตัดขาดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ การเรียนกับกลุ่มอาสาสมัครอย่างกลุ่มซียังจึงมีความหมาย โดยสำหรับจางนั้น ในทีแรกเธอยังทำได้เพียงส่งข้อความให้เพื่อนและครอบครัว หลังเรียนรู้เป็นเวลาสามเดือน เธอสามารถเดินทางโดยใช้แอปฯ แผนที่นำทาง และปรับแต่งวิดีโอในมือถือได้แล้ว

จางเล่าว่า เทคโนโลยีที่พัฒนารวดเร็วจนเธอตามไม่ทันนั้นทำให้เธอรู้สึกเหมือนคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่ชุมชนที่สนับสนุนการเรียนรู้ของเธอทำให้เธอรู้สึกมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ที่มา : China's technology revolution is leaving its senior citizens behind

On Being
198Article
0Video
0Blog