ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยเมื่อวันพุธ (9 ส.ค.) ถึงตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ลดลง 0.3% ในเดือน ก.ค. หลังจากตัวเลขดังกล่าวมีอัตราที่ทรงตัวในเดือนก่อนหน้า
การหดตัวของราคาผู้บริโภคจีนเป็นสัญญาณล่าสุด ของแนวโน้มที่มืดมนสำหรับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก หลังจากการส่งออกของจีนเมื่อเดือนที่แล้วลดลง 14.5% ซึ่งเป็นการลดลงที่ติดต่อกันครั้งที่ 3 และลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี ทั้งนี้ จีนประสบกับภาวะเงินฝืดในช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงปลายปี 2563 และต้นปี 2564 เมื่อราคาเนื้อหมูตกต่ำลงทั่วทั้งประเทศ
โดยทั่วไปแล้วนักเศรษฐศาสตร์มักมองภาวะเงินฝืดในแง่ลบ เนื่องจากราคาที่ตกต่ำลงกว่าเดิมมักจะนำไปสู่การลดการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมไปถึงการผลิตที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้เกิดการปลดพนักงาน และการตัดเงินเดือน
เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวท่ามกลางอุปสงค์ที่ลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากโควิด-19 และการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงต้นปี ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศมาตรการเชิงนโยบายมากมายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการมอบการสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับองค์กรเอกชน นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลจีนอาจประกาศนโยบายเพิ่มเติม ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
“โมเมนตัมทางเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอลง เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ขาดความแจ่มใส” จางจือเว้ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Pinpoint Asset Management ในฮ่องกงกล่าวกับสำนักข่าว Reuters “มันยังไม่ชัดเจนในขั้นตอนนี้ว่า นโยบายที่ประกาศไปเมื่อเร็วๆ นี้จะสามารถพลิกฟื้นโมเมนตัมทางเศรษฐกิจในเร็วๆ นี้ได้หรือไม่ ภาวะเงินฝืดของดัชนีราคาผู้บริโภคอาจเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลพิจารณามาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความท้าทายดังกล่าว”
ที่มา: