ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์เพื่อเอสเอ็มอีชี้ รายได้จากดอกเบี้ยอาจลดลง 700 ล้านบาท ปัจจัยหลักหนี้เสียที่อาจเด้งขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการย้ำ ยอดหนี้เสีย ณ สิ้นปี อาจไม่เกิน 2 หมื่นล้าน

นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยตัวเลขมูลค่าสินเชื่อคงค้าง ณ ส.ค.ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้นราว 1 แสนล้านบาท จากตัวเลขลูกค้าราว 6 หมื่นราย 

นารถนารี รัฐปัตย์ - เอสเอ็มอีดีแบงก์ - SME D BANK
  • นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank

ในจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ธนาคารเข้าไปช่วยเหลือทันที 4.3 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 6.6 หมื่นล้านบาท ผ่านมาตรการเสริมสภาพคล่องทั้งจากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน และมาตรการเพิ่มเติมจาก ธพว.เอง

ขณะที่สัดส่วนอีก 30% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด นารถนารี ชี้ว่า แบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือ หรือผู้ที่มีสินเชื่อตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป และอีก 20% คือกลุ่มที่เป็น 'หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้' หรือ NPLs

ปัจจุบัน ธพว.ถือพอร์ตสินเชื่อกลุ่มต้องเข้าสู่การฟื้นฟูข้างต้นทั้งหมด 6,727 ราย หรือคิดเป็นวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ณ ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะย้ำว่า ตัวเลขดังกล่าวถือว่าปรับดีขึ้นจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาซึ่งยอดหนี้เสียขึ้นไปแตะหลัก 1.9 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจะสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ธนาคารมองว่า ผลกระทบดังกล่าวที่อาจทำให้ลูกหนี้บางส่วนตกชั้นลงมาเป็นกลุ่มต้องรับได้การฟื้นฟู เพิ่มเติมมากที่สุดไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่ายอดหนี้เสียที่ปรับตัวลดลงจาก 1.9 หมื่นล้านบาท ลงมาอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท อาจปรับตัวขึ้นไปแตะหลัก 2 หมื่นล้านบาทได้

ด้วยเหตุนี้ ธพว.ชี้ว่า ณ สิ้นปี 2563 รายได้จากดอกเบี้ยของธนาคารจะตกลงราว 700 ล้านบาทจากปีก่อนหน้า หรือลงมาอยู่ที่ระดับ 4,600 ล้านบาท