นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีฝุ่นละออง PM 2.5 ว่า การจะแก้ เรื่องฝุ่น PM 2.5 ได้นั้น อาจต้องใช้ใจคิด เชื่อเหตุผลสำคัญ คนที่อยู่ในอำนาจไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งตนเองได้ทดลองนั่งรถโดยสารสาธารณะ โดยพบว่า มลพิษทางอากาศส่วนมากมาจาก ขนส่งมวลชน มากกว่า รถส่วนบุคคล
โดย นายพิธา ระบุว่า "1) วันนี้ค่า PM 2.5 อยู่ที่ 158 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ผมว่าเรื่อง PM 2.5 บางทีก็เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ เพราะมันเป็นปัญหาที่มองเห็นไม่ได้ชัดมากเท่ากับมลพิษอื่น ผลกระทบต่อสุขภาพ ค่อนข้างที่จะเป็นระยะยาวเมื่อเทียบกับมลพิษอื่น ผลกระทบต่อคนแต่ละชนชั้นก็ไม่เท่ากัน แต่ละคนก็รู้สึกไม่เท่ากัน"
2) ผมเชื่อว่าอีก 1 เหตุผลที่สำคัญอาจเป็นเพราะชีวิตของคนที่อยู่ในอำนาจส่วนใหญ่ (รวมถึงผมด้วย)ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นโดยตรง ไม่จำเป็นต้องไปยืนรอรถเมล์ในสถานที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงๆ ไม่ต้องเดินถนนคลุกฝุ่นโดยไร้หน้ากากที่แพง พอประชุมในห้องแอร์ นั่งรถส่วนตัว ไม่ค่อยได้รับผลกระทบอะไรกันสักเท่าไรนัก นึกภาพผลกระทบไม่ค่อยออก เฉยๆ กับมัน
3) ปัญหาบางปัญหาอาจจะ ไม่ได้ใช้วิทยาศาสตร์แก้ ไม่ได้ใช้คณิตศาสตร์แก้ แต่เริ่มที่ใช้ใจแก้ พอ "ใจเขามาใส่ใจเรา" ก็พอที่จะเริ่มเข้าใจ เมื่อเริ่มเข้าใจก็เริ่มที่จะใส่ใจ เมื่อเริ่มที่จะเริ่มใส่ใจก็จะเริ่มสั่งการได้ดีขึ้น ละเอียดขึ้น
4) วันนี้พอตกเย็น ประชุมพรรคเสร็จ พอจะว่าง เลยนั่งสาย 2 ลองดูให้เห็นกับตา ไม่ได้ต้องการจะสร้างภาพอะไร ปกติก็ใช้รถส่วนตัวบ้างรถไฟฟ้าบีทีเอสบ้าง จักรยานบ้าง คละๆ กันไป แค่อยากลองสัมผัสให้รู้ ค่า AQI จะ 50, 100, 158 เกินมาตราฐาน WHO (World Health Organization) คืออะไรยังไง ก็ไม่เท่าว่าลองสัมผัสดูก่อนที่จะอภิปราย ญัตติด่วน เรื่อง PM 2.5 พรุ่งนี้ (22 ม.ค.) บวกกับประสบการณ์ที่ผ่านมา หวังว่าจะพอจะอภิปราย แบบ "เกาให้ถูกที่คันได้"
5) สิ่งที่พอจะมองเห็นได้ว่า มลพิษทางอากาศส่วนมากก็มาจาก ขนส่งมวลชน นั้นเอง ไม่ค่อยจะมาจากรถส่วนบุคคลสักเท่าไร เพราะฉะนั้นบางครั้ง การออกนโยบายให้งดการใช้รถส่วนตัว ให้หันมา ใช้รถเมล์ อาจจะยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหาหรือไม่ บางทีอาจจะเกาถูกที่กว่าว่า
"ในระยะสั้น ห้ามรถขนส่งมวลชนเก่ากว่ากี่ปีๆ หรือที่ไม่ผ่านเกณฑ์วิ่ง ถามพี่ตำรวจว่าเวลามีด่านตรวจ ได้จับรถของรัฐบ้างไหม พี่ตำรวจบอกว่าส่วนใหญ่จับมอเตอร์ไซค์"
นายพิธา ระบุว่า ในระยะกลาง เริ่มบอกให้ฝ่ายนโยบายไปดูว่า สัดส่วนรถใหม่ : รถเก่า แผนการเปลี่ยนเป็น รถเมล์ไฟฟ้ามีสัดส่วนอย่างไร ภายในกี่ปี ในระยะยาว เริ่มคิดว่าหรือบางทีมันอาจเป็นเรื่องของ"ผังเมือง"ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พยายามจะลด PM 2.5 ยังไงก็ทำไม่ได้ ถูก ผิด ยังไม่รู้ แต่ อย่างน้อยก็มีสมมุติฐาน และ ความคิด แล่นกว่าตอนนั่งอ่านรายงานในห้อง ที่สภาเยอะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง