และการใช้ดุลพินิจของ กกต. ต่อคำร้องยุบพรรคก้าวไกล หลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี สะท้อนชัดถึงอุปสรรคในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่คุกคามต่อระบอบประชาธิปไตย
ไล่เรียงจากประเด็นการแยกเบอร์บัตรเลือกตั้ง ซึ่งพบว่า ยังเป็นปัญหาทั้งในเชิงปฏิบัติและหลักการ
ในทางปฏิบัติ การเลือกตั้งบัตรใบเดียวเมื่อปี 2562 แบบต่างเขตต่างเบอร์ ย้ำชัดให้เห็นถึงความสับสนในช่วงการหาเสียงของพรรคการเมือง และการนำเสนอของสื่อมวลชนให้ประชาชนรับรู้ ลำพังเพียงบัตรใบเดียวยังต้องพบเจอความแตกต่าง 350 เขต หากบัตร 2 ใบ ต่างเบอร์ก็รับรองว่ายิ่งสร้างความสับสนในการสื่อสารชนิดทวีคูณ ไม่เพียงแต่สื่อ หรือประชาชนที่จะต้องระมัดระวังในการลงคะแนน
แต่ กกต. ในฐานะผู้รับผิดชอบการเลือกตั้ง ก็ต้องเจออุปสรรคตั้งแต่การพิมพ์บัตรจนถึงการนับคะแนน และแน่นอนว่า ข้อครหาต่าง ๆ แบบปี 2562 จะกลับมาอีกครั้ง เพราะปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข และซ้ำร้ายยังซับซ้อนยิ่งขึ้น
ในทางหลักการก็จะยิ่งปรากฏชัดถึงการต่อสู้กันระหว่างอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่ได้มากจากการเลือกตั้ง ซึ่งห้ามลืมเป็นอันขาดว่า ผู้เสนอ 2 บัตรใบละเบอร์ ไม่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล หากแต่มาจาก 1 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง และ 1 ส.ส.ปัดเศษจากพรรคเล็ก
มีการข่มขู่แนวคิดบัตร 2 ใบ คนละเบอร์ ส่อขัดรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้นมากล่าวอ้าง ทว่าเมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็จะพบว่า เลื่อนลอย
เพราะแม้แต่ คำอธิบายประกอบร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 90 ก็ได้กำหนดเพียงเฉพาะเงื่อนไขของการส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ไม่ได้ระบุ ถึงการกำหนดเบอร์เลือกตั้ง
ยิ่งดูคำอธิบายประกอบในมาตรา 91 ก็ยิ่งสะท้อนชัด การแก้ไขให้ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบคนละเบอร์ ไร้หลักการมารองรับ เพราะคำอธิบายของมาตรานี้ ระบุถึงหลักการว่า ต้องการให้เกิดความแตกต่างระหว่าง รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 ให้แตกต่างจากฉบับ 2560 ที่ใช้ระบบ "บัตรเดียว" เมื่อ ส.ส. ชุดปัจจุบันได้แก้รัฐธรรมนูญ 2560 กลับไปใช้บัตร 2 ใบ เหมือน ฉบับ 2540 และ 2550 แล้วเหตุใดจึงไม่อาจใช้เบอร์เดียวกันแบบเดิมตามที่ปวงชนชาวไทยคุ้นชินได้
ส่วนประเด็นพิจารณายุบพรรคก้าวไกล หลังอนาคตใหม่ หนสองในรอบสามปี ก็บ่งชี้ถึงอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยจากรัฐธรรมนูญ ประกอบกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับ 2560 ที่กำหนดให้ กกต. สามารถใช้ดุลพินิจรวบรวมหลักฐานในการยื่นยุบพรรคเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ต่างจากกฎหมายลูกพรรคการเมืองฉบับ 2550 ที่มีกลไกถ่วงดุลโดยให้อัยการ ในฐานะอัยการแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบกลั่นกรอง และ กกต. จะต้องตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการเพื่อพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งยังต้องข้อสังเกต ตามบันทึกข้อเท็จจริงจาก กกต. ที่พรรคก้าวไกลเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ได้อีกว่า การเดินหน้าพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นในยุคสมัยของ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เป็นเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายเทียบพรรคการเมือง ที่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงวันที่ 26 พ.ย. 2564
ซึ่งต่อมา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ได้ลาออกจากเลขาธิการ กกต. เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2564 เพื่อไปเป็น ส.ว. แต่งตั้ง ตามบัญชีตัวสำรองลำดับที่ 8 เมื่อ 27 ก.พ. 2565 มีความเกี่ยวโยงกันหรือไม่ ประการใด
นอกจากนี้ สังคมยังคงต้องการคำอธิบายจาก กกต. อีกว่า การรับคำร้องยุบพรรคก้าวไกลประเด็นการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี อันเป็นหน้าที่และเอกสิทธิ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรอิสระมีสิทธิก้าวล่วงได้หรือไม่ เหตุใดจึงรับไว้ดำเนินการอย่างง่ายดาย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่จะตามมา เหมือนครั้งยุบไทยรักไทย พลังประชาชน ไทยรักษาชาติ และอนาคตใหม่
ปมร้อนทั้งการชงยุบพรรคก้าวไกล โดย กกต. และข้อเสนอกาบัตรสองใบคนละเบอร์ โดย ส.ว. แต่งตั้ง และส.ส.ปัดเศษ จึงสะท้อนถึงชัดถึงการที่อำนาจจากการแต่งตั้ง กำลังคุกคามและรุกไล่อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย