ไม่พบผลการค้นหา
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอี เดินหน้าพัฒนาระบบ AI ไทย หวังสร้าง ‘เศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัล’ ที่เข้มแข็ง รองรับการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลภูมิภาค

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในการประธานเปิดงาน ‘TB-CERT Cybersecurity Annual Conference 2024’ Theme: Tomorrow’s Cybersecurity in the age of AI เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ซึ่งจัดโดย ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ณ โรงแรม InterContinental Bangkok Hotel กรุงเทพมหานคร ว่า กระทรวงดีอี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งปัจจุบันพบว่าเทคโนโลยี AI มีการพัฒนาและเติบโตไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา Generative AI หรือการพัฒนาเทคโนโลยี AI เชิงสร้างสรรค์ และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้การทำงานต่างๆในชีวิตประจำวันสะดวกขึ้น

S__6127903.jpg

ขณะที่สถานการณ์ด้าน AI ของประเทศในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจและสังคมไทยมีความตื่นตัวต่อเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนา AI ของประเทศอย่างเป็นระบบ แทนที่การใช้ระบบจากต่างประเทศ โดยกระทรวง ดีอี เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้มีการเสนอให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) โดยเพิ่มคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีหน้าที่ ศึกษา ทบทวนกฎหมายรองรับการขับเคลื่อนและการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของประเทศ จัดทำแนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล (AI Governance Guideline) ให้กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สู่การนําไปปฏิบัติต่อไป เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรม

S__6127897.jpg

เรื่องดังกล่าว จะเป็นการรองรับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค โดยขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นด้าน Data Center ด้าน Cloud First หรือด้าน Semi-Conductor และได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาคธุรกิจ

S__6127895.jpg

กระทรวง ดีอี ยังเน้นให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้าน AI พร้อมกับการเสนอมาตรการจูงใจไม่ว่าจะเป็น Digital scholarship fund และมาตรการลดหย่อนภาษี หรือการดึงกำลังพลมีความรู้ความสามารถเข้ามา ในการสร้างคนในประเทศผ่านกลไกที่สำคัญคือ Global Digital Talent Visa ที่จะดึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ไม่เกิน 600 อันดับแรก เข้ามาทำงานและใช้ชีวิต เติมเต็มแรงงานภายในประเทศ เพื่อที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาของ AI อย่างมีประสิทธิภาพ  

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีได้ส่งเสริม AI provider และ AI startup ซึ่งผู้พัฒนา AI ภายในประเทศ ผ่านการสนับสนุนของ สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจในประเทศ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีพื้นฐานด้านข้อมูลธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ Big data ผนวกรวมกับ เทคโนโลยี AI ในการขับเคลื่อนและพัฒนาแผนธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูงทางการแข่งขัน พร้อมทั้งพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่หรือ Thai Large Language Model เป็นการต่อยอดพัฒนาการใช้งานแอปพลิเคชัน ในมิติต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์ การท่องเที่ยว และเรื่องอื่นๆ รวมถึงการส่งเสริมให้ SME ธุรกิจต่างๆ มีการพัฒนาทักษะ มีการเรียนรู้การใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมสร้างความตระหนักรู้และการพัฒนาทักษะ AI ให้ประชาชน

S__6127909.jpg

“การพัฒนา AI เพื่อรองรับกับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยนั้น จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย และจริยธรรมที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้และสร้างความเชื่อมั่นด้านการใช้เทคโนโลยี AI ให้กับคนไทย ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว