ไม่พบผลการค้นหา
'ปริญญา' ชี้ไทยมีรัฐประหารบ่อย เหตุศาลรับรองถ้าทำสำเร็จ-ประชาชนสร้างทางตัน มอบความชอบธรรมให้ทหาร วอนทุกฝ่ายทำสัญญาประชาคม ร่าง รธน. ฉบับประชาชน ครบรอบ 100 ปีประชาธิปไตยไทย

9 มี.ค. 2567 ที่อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในกิจกรรม '50 ปี อมธ. 5 ทศวรรษแห่งการเปลึ่ยนแปลง' ปริญญา เทวนฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ปี 2535 กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ 'รัฐธรรมนูญ: เสียงของประชาชน หรืออำนาจของชนชั้นนำ?'

ปริญญา กล่าวว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ หนึ่งในสาเหตุคือประเทศไทยมีรัฐประหารมากถึง 13 ครั้ง ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐประหารเป็นความผิดมาตรา 113 ฐานเป็นกบฏ แต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว และยังมีผลสืบเนื่องต่อไปยังปัจจุบันจนถึงอนาคตนานเท่านาน เพราะได้มีการวางระบบไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และศาลรับรองการทำรัฐประหารตั้งแต่ปี 2490 

"เรามีรัฐธรรมนูญที่แท้จริงโดยที่อาจจะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ 20 ฉบับที่มีมาก่อน คือฉบับจารีตประเพณี ที่บัญญัติแปลว่าการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ทำได้ในประเทศไทย ถ้าทำสำเร็จ" 

ปริญญา อธิบายว่า คณะรัฐประหารจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อกำหนดว่าฉบับถาวรจะร่างอย่างไร และคณะรัฐประหารจะเป็นผู้เลือกคนร่างรัฐธรรมนูญเอง ผ่านทาง สว. เป็นเครื่องมือเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป แต่ไม่เคยมีคณะรัฐประหารใดจะทำมากเท่า คสช. ที่ให้ สว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี และเลือกองค์กรอิสระ ซึ่งไม่เคยมี สว. ชุดใดทำได้มาก่อน

ปริญญา ยกเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2516 นักศึกษาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และปล่อยนักศึกษาที่ถูกจับ 13 คน และในวันที่ 13 ต.ค. มีการรวมพลครั้งใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนลุกลามขึ้นเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จนได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ใช้ได้เพียง 2 ปี ทหารก็เข้ามายึดอำนาจอีกครั้ง แต่เหตุการณ์ 14 ตุลา ยังเหมือนเป็นโมเดลและภาพจำที่ทำให้เราตระหนักเสมอมาว่า นักศึกษามีพลังเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมา ความขัดแย้งสูญเสียยังเกิดขึ้น โดยไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดแก้ปัญหาได้เลย พร้อมเสนอว่า ถ้าประชาชนปล่อยให้มีการแก้ปัญหาไปตามวิถีทาง การรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น หากประชาชนไม่สร้างทางตัน และเชิญทหารให้มาทำรัฐประหารอย่างมีความชอบธรรม พร้อมมองว่า ทั้งฝ่ายการเมือง ประชาชน ทหารและศาลได้ตกลงกัน ว่าการรัฐประหารปี 2557 ให้เป็นการทำครั้งสุดท้าย โดยทำเป็นสัญญาประชาคม 

“การไปเรียกร้องศาลให้เปลี่ยนบรรทัดฐานก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จแล้วในตอนนี้ เพราะตอนหลังมาคณะรัฐประหารได้นำรัฐธรรมนูญมารับรองการปฏิวัติไปแล้ว จากเดิมไม่มีโดยมีการรับรองเพียงประกาศ และคำพิพากษาศาลฎีกา เช่นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 279 ก็รับรองว่าการรัฐประหารของ คสช. ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญทั้งหมด จะต้องแก้รัฐธรรมนูญต่อไปด้วย” ปริญญากล่าว 

พร้อมกันนี้ ปริญญา ยังชี้ถึงปัจจัยที่ทำให้การทำรัฐประหารสำเร็จได้ มีสาเหตุมาจากการเรียกร้องของประชาชน พร้อมระบุว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นฉบับที่เป็นกติกาไม่เป็นธรรม โดยในปี 2567 เป็นปีที่ประชาธิปไตยครบ 90 ปี และ 100 ปี ในช่วงปี 2575 หวังว่าประเทศไทยจะเป็นช่วงประชาธิปไตยที่เต็มใบ ไม่มีการรัฐประหาร และแม้มีความเห็นต่างก็จะมีการพูดคุย และประชาชนร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนร่วมกัน