ไม่พบผลการค้นหา
ทหารเมียนมาควบคุมตัวอองซานซูจี ประธานาธิบดี และแกนนำรายอื่นๆ ของพรรคเอ็นแอลดี - สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตกรุงเนปิดอว์ถูกตัดขาด

สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า ช่วงเช้าตรู่ของ 1 ก.พ. เมียว ยุนต์ โฆษกพรรคพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี (NLD) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่า ออซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, อู วินมิ่นท์ ประธานาธิบดีเมียนมา และผู้นำคนอื่นๆ ได้ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพเมียนมาในช่วงเช้านี้

"ผมต้องการจะบอกกับประชาชนของเราว่าอย่าตอบโต้อย่างผลีผลาม และผมต้องการให้พวกเขาทำตามกฎหมาย" เมียวกล่าวโดยเรียกร้องให้สมาชิกพรรคทำตามกฎหมาย และอย่ากระทำการใดๆ ที่หุนหันพลันแล่น 

ผู้สื่อข่าวของบีบีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า มีรายงานว่าทหารออกมาอยู่ตามท้องถนนทั้งในกรุงเนปิดอว์และนครย่างกุ้ง และยังมีสายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตที่ติดต่อไปยังกรุงเนปิดอว์ถูกตัดขาด เช่นเดียวกับมีรายงานว่า การเชื่อมต่อข้อมูลอินเทอร์เน็ตรวมทั้งบริการโทรศัพท์บางอย่างหยุดชะงักในย่างกุ้งเมื่อช่วงเช้า

เหตุการณ์นี้มีขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพลเรือนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงมีกระแสข่าวรัฐประหารตลอดทั้งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

การควบคุมตัวสมาชิกระดับสูงของเอ็นแอลดีงนี้ มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่เมียนมามีกำหนดเปิดสมัยประชุมรัฐสภาในวันนี้ ซึ่งกองทัพเรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนกำหนดเปิดสมัยประชุมออกไป หลังประเทศมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ย. ซึ่งพรรคเอ็นแอลดีของนางซูจีครองที่ได้ในสภา 346 เสียง แบ่งเป็น สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง 258 ที่นั่ง และสภาชนชาติ หรือสภาสูง 138 ที่นั่ง

แม้ยังไม่ชัดเจนถึงเจตนากองทัพ แต่เป็นสัญญาณว่าเมียนมาอาจกำลังเผชิญการก่อรัฐประหาร


กองทัพแย้มฉีกรัฐธรรมนูญ - ข้อกล่าวหาโกงเลือกตั้ง

ก่อนหน้านี้กระแสข่าวรัฐประหารเริ่มโหมกระพือหนักขึ้น หลังจากหนังสือพิมพ์เมียวดีฉบับเมื่อ 28 ม.ค. ตีพิมพ์คำกล่าวหนึ่งของพล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ว่า รัฐธรรมนูญเมียนมาที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2551 นั้น เป็นกฎหมายแม่บทของทุกกฎหมายที่มีอยู่และควรได้รับการเคารพ แต่อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ก็อาจจำเป็นที่กระทำบางอย่างที่ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ 

ท่าทีของ ผบ.สส. เมียนมาสอดคล้องกับคำแถลงของ พล.ต.ซอหมิ่นตุน โฆษกกองทัพที่กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า กองทัพปฏิเสธตัดความเป็นไปได้ของการรัฐประหารเพื่อจัดการกับ "วิกฤตทางการเมือง" หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมายังไม่ทำตามเสียงเรียกร้องของกองทัพเพื่อตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้ง ยิ่งกระพือซ้ำความหวั่นกลัวเกรงเรื่องการรัฐประหารมากยิ่งขึ้น 

ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือยูเอสดีพี (USDP) ซึ่งเป็นพรรคใกล้ชิดกองทัพ และกองทัพกล่าวหาว่ามีการ "โกงการเลือกตั้ง" เมื่อ 8 พ.ย. 2563 พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมียนมา เปิดเผยรายชื่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่กองทัพไม่ได้รับการสนอง

สัปดาห์ที่แล้ว โฆษกพรรคเอ็นแอลดี เผยกับรอยเตอร์ว่า ความตึงเครียดทางการเมืองมีขึ้นท่่ามกลางแผนการของพรรคที่เตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนอำนาจของกองทัพในรัฐสภา เนื่องจากรัฐธรรมนูญเมียนมาให้โควต้าแก่กองทัพที่ 25% ของจำนวนเสียงในรัฐสภา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :