ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.สมรสเท่าเทียม ปลื้มสภาฯ ผ่านความเห็นชอบ ‘ดนุพร‘ มั่นใจ สว. เห็นชอบ หลังเริ่มถก 2 เม.ย. จ่อถก ‘อัตลักษณ์ทางเพศ-ยกเลิกค้าประเวณี’ ในสมัยประชุมหน้า

วันที่ 27 มี.ค.67 ที่อาคารรัฐสภา ดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมด้วย อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย และธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.ฯ แถลงข่าวหลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านการเห็นชอบในวาระ 2-3 ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ด้วยมติ 400 ต่อ 10 

ดนุพร เปิดเผยว่า กมธ. เคยระบุว่า กฎหมายฉบับนี้จะเสร็จทันก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ เดือนเมษายนนี้ และทุกภาคส่วนไม่ว่าจะฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาลก็ทำงานเต็มที่ด้วยความรอบคอบ แก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้ออกมามีผลบังคับใช้กับทุกคน และย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้ ชาย-หญิงทั่วไปเคยได้รับสิทธิอย่างไรในกฎหมายเก่า ท่านจะได้รับสิทธินั้นเช่นเดิม 

โดยการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการยกระดับประเทศไทยในสายตาของโลก ขยับเรื่องความเท่าเทียมทางสังคม เริ่มจุดไฟดวงแรกทำให้ประเทศนี้มีความเท่าเทียมในสังคมเกิดขึ้น และกฎหมายฉบับนี้เราไม่ได้แก้ไขเพื่อให้สิทธิกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กฎหมายฉบับนี้เพื่อคนไทยทุกคนตามสิทธิ และเสรีภาพของรัฐธรรมนูญ

ดนุพร ยกตัวอย่างสิทธิที่ LGBTQ จะได้รับหากจดทะเบียนสมรสกัน โดยจะได้ทั้งสิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการลงชื่อยินยอมให้การรักษา สิทธิเบิกจ่ายภาษี สิทธิในการซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และตนเองในฐานะประธาน กมธ. จะประสานกับรัฐบาล และหลายฝ่ายเพื่อขอให้นำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา (สว.) ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ 

ทั้งนี้ ดนุพร เชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่านการพิจารณาของ สว. แต่หากไม่ผ่านก็จะตั้งคณะ กมธ. ร่วมสองสภาฯ เพื่อพิจารณาต่อไป เท่าที่พูดคุยกับ สว. มีทิศทางบวกที่จะผ่านให้ในชั้น สว. โดยในสมัยประชุมหน้าจะเสนอกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงการเตรียมเสนอร่างกฎหมาย Sex Worker ด้วย 

ธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า จากนี้จะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เช่น กฎหมายรับรองเพศสภาพ และคำนำหน้านาม เพื่อให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้นิยามตัวตนในบทบาทผู้ปกครอง บิดา มารดาตามเจตจำนงของเขา ซึ่งจะอยู่ในหมวดการแสดงเจตจำนงอัตลักษณ์ทางเพศ

ส่วนกฎหมายการตั้งครรภ์ทางเทคโนโลยี มีการพูดคุยและเริ่มทำงานกันแล้ว คู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศจะต้องกำหนดเงื่อนไขที่ต่างออกไป ซึ่งอาจต้องใช้การตั้งครรภ์ทางเทคโนโลยี ซึ่งจะมีการแก้ไขต่อไป โดยภาพรวมวันนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมให้สิทธิศักดิ์ศรีกับกลุ่มคนทุกเพศ และมีสเต็ปที่จะต้องก้าวต่อไป