ไม่พบผลการค้นหา
รองโฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ พอใจการแก้ปัญหาความยากจน หลังสภาพัฒน์ฯ กางตัวเลขปี 2562 คนจนลดเหลือ 4.3 ล้านคน จาก 6.7 ล้านคน จากปีก่อนหน้า บรรลุแผนพัฒนาฉบับที่ 12

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจภาพรวมผลลัพธ์การแก้ไขปัญหาความยากจน ภายหลังสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสัดส่วนคนจนลดลงจาก 9.85% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 6.24% ในปี 2562 หรือมีคนจน จำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคน ในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ เป็นต้น

โดยส่งผลให้ภาพรวมคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,847 บาทต่อคนต่อเดือน จากปี 2560 ที่มีรายได้ 9,614 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 2.42% ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 2,823 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2560 เป็น 3,016 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 6.81% ซึ่งการที่คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี ตกกับคนยากจนมากขึ้น

ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากนี้สัดส่วนคนจนปี 2562 ที่ 6.24% ทำให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในการแก้ปัญหาความยากจนตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่มีเป้าหมายให้สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือ 6.5% ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ ในปี 2564 อีกด้วย สะท้อนถึงการประสบความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจน และการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนในภาพรวมจะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจน ให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปจนสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงาน

จากการรายงานของสภาพัฒน์ฯ พบว่า สัดส่วนความยากจนลดลงเกือบทุกจังหวัด และภาพรวมสัดส่วนคนจนมีแนวโน้มลดลงในทุกภูมิภาค โดยในปี 2562 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด ได้แก่ นนทบุรี (0.24%) รองลงมาคือ ปทุมธานี (0.24%) ภูเก็ต (0.40%) สมุทรปราการ (0.56%) และ กทม. (0.59%)

ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ย้ำจะต้องแก้ไขปัญหาความยากจนต่อไป เพราะสาเหตุของความยากจนนั้นมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา ปัญหาภาคเกษตรกรรม การอาศัยอยู่ในครัวเรือนใหญ่ที่ทำให้มีรายได้น้อย และแรงงานนอกระบบ ซึ่งอาจไม่ได้รับการดูแลภายใต้กฎหมายการคุ้มครองแรงงาน ทำให้โอกาสการเข้าถึงสวัสดิการมีอย่างจำกัด โดยมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีส่วนช่วยให้คนยากจนมีรายได้ที่สูงขึ้น แต่คนจนยังคงเข้าถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐได้น้อย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจนไม่สามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังรับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 6 ข้อของสภาพัฒน์ฯ ประกอบด้วย

1. การมีระบบข้อมูลเพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ยากจน มุ่งเน้นการพัฒนาข้อมูลที่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะประชากรที่ยากจน กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ และต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ และทันต่อสถานการณ์เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างตรงจุด

2. การจัดสวัสดิการและมาตรการช่วยเหลือให้กับคนจนอย่างเหมาะสมและแตกต่างตามลักษณะของคนจน

3. การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น

4. การบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา สาธารณสุขให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น

5. ขยายฐานภาษีและปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นกลไกในการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. การติดตามและประเมินผลกระทบของนโยบาย โดยมีการประเมินผลมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำที่สำคัญอย่างเป็นระบบ