ไม่พบผลการค้นหา
ข้อกังขาของไพบูลย์ ประกาศปิดกิจการพรรคประชาชนปฏิรูป เพื่อเตรียมเข้าซบพรรคพลังประชารัฐ ยังคงสร้างความฉงนชวนสงสัย ทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย และ กกต. ชุดปัจจุบันจะวินิจฉัยสรุปเรื่องนี้อย่างไร หากทำได้ นี่อาจเป็นบรรทัดฐานให้พรรคการเมืองเล็กที่เหลือทำตามหรือไม่ ?

จากกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ประกาศปิดกิจการยุบพรรคประชาชนปฏิรูป โดยอ้างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91(7) ในการยกเลิกพรรค โดยยังคงสถานะ ส.ส. ส่วนการย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ในระยะเวลา 60 วัน เป็นไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(10)

นำมาซึ่งความสงสัยของสังคม คือ คะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูปจะติดตัวนายไพบูลย์ไปยังพรรคใหม่ด้วยหรือไม่ สถานะการเป็น ส.ส. ของนายไพบูลย์จะเป็นอย่างไร

เรื่องนี้จะส่งผลอย่างไรหากมีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปี และหากทำได้ จะทำให้พรรคการเมืองเล็กที่เหลือทำตามหรือไม่?

นายสมชัย ศรีสุธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งข้อสังเกตเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ผ่านเฟซบุ๊ก "Somchai Srisutthiyakorn" ระบุว่า กรณีนายไพบูลย์ ยุบพรรคตัวเอง แล้วประกาศจะไปเป็น ส.ส.ของ พลังประชารัฐ ถ้าเป็นสมัยก่อน บัตรเลือกตั้งสองใบ เขาได้เป็นบัญชีรายชื่อจากบัตรเลือกตั้ง ก็ถือว่ามีสถานะเป็น ส.ส.แล้ว เมื่อยุบพรรคก็ไปหาพรรคใหม่อยู่ได้ใน 60 วัน แต่กติกาใหม่ บัตรเลือกตั้งใบเดียว จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อผูกอยู่กับคะแนนเขตที่เลือกพรรคนั้น จึงมีความเห็นว่า

1. โอนคะแนนไปให้พรรคใหม่ไม่ได้ เพราะตอนประชาชนกาบัตร เขาไม่ได้กาให้พรรคใหม่

2. กกต.ต้องคำนวณ ส.ส บัญชีใหม่ทั้งระบบ โดยตัดคะแนนพรรคนายไพบูลย์ออก และจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก ส.ส.ที่พึงจะมีแต่ละพรรคใหม่

3. นายไพบูลย์ ต้องเลือกไปอยู่พรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม(หากเขารับ) และคงสถานะเป็น ส.ส. (แต่หากไม่รับ ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง)

4. ไม่ควรจบง่ายๆว่า ยุบแล้วไปอยู่พรรคไหนก็ได้ทันที เพราะเช่นนั้น บรรดาพรรค 1 เสียงทั้งหลายจะทำตาม เพื่อหลีกความเสี่ยงในความไม่แน่นอนที่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 ปี หลังจาก 24 มีนาคม 2562 ว่าอาจถูก กกต.คำนวณใหม่ และหมดสภาพการเป็น ส.ส. เช่นเดียวกับ กรณีพรรคไทยรักธรรม

นายสมชัยย้ำว่า "เรื่องนี้ ควรเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตามอง และดูแนวการวินิจฉัยจาก กกต.ชุดปัจจุบันว่าจะมีมติอย่างไร"

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้มีระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ที่เรียกว่า จัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ทำบัตรเลือกตั้งเหลือเพียง 1 ใบ (จากเดิมคือ 2 ใบ สำหรับเลือก ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ)

สมชัย ศรีสุทธิยากร.jpg


กฎหมายใหม่ เกราะป้องกัน ส.ส. สละเรือเล็ก – กระโดดขึ้นเรือใหญ่ กันคะแนนรั่ว ที่นั่งหลุด

สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตของการปิดกิจการพรรคของนายไพบูลย์ หรือนี่จะเป็นการ “หนี” หรือเลี่ยงกฎหมาย

หากมีการจัดการเลือกตั้งซ่อมอีกครั้งในอนาคต ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 131 ซึ่งกำหนดว่าจะต้องนับคะแนนใหม่เรื่อยๆ และมีการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อใหม่อีก หากมีการเลือกตั้งซ่อม เพราะการเลือกตั้งในเขตนั้นไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยไม่ให้นําคะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้งที่เป็นเหตุให้มีการเลือกตั้งใหม่มารวมคํานวณด้วย

กรณี 'พรรคไทรักธรรม' คือตัวอย่างของจากผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง จ.เชียงใหม่ ที่ถูกนำมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิมที่ได้คะแนนน้อยเป็นพรรคสุดท้าย 33,754 คะแนน ถูกหั่นออกอีกจากสูตรคำนวณตามรัฐธรรมนูญ2560 ส่งผลให้ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร

ดังนั้น พรรคการเมืองเล็กที่ได้เก้าอี้ ส.ส. เพียง 1 ที่นั่ง อาจเสียงต่อการ 'ที่นั่งหลุด' เนื่องจากจะต้องคำนวนคะแนนใหม่ทั้งหมด คือ พรรคพรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคพลังธรรมใหม่

พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ไทรักธรรม มงคลกิตติ์

'ไพบูลย์โมเดล' หวั่นพรรคเล็กแห่ย้ายซบพลังประชารัฐ

หากการย้ายพรรคของนายไพบูลย์สำเร็จ นี่อาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้ ส.ส. จากพรรคเล็กทำตามหรือไม่

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2562 นายสามารถ แก้วมีชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก Samart Kaewmechai ระบุว่า ตนได้เปิดดูรัฐธรรมนูญแล้ว ส.ส. ที่สังกัดพรรคเดิมจะย้ายไปอยู่พรรคอื่นได้ มีอยู่ 2 กรณีเท่านั้น คือ

1.กรณีถูกขับออกจากพรรคที่สังกัดด้วยเสียง 3 ใน 4 ของคณะกรรมการบริหารพรรคและ สส ที่สังกัดพรรคนั้น และต้องไปหาพรรคอื่นเข้าให้ได้ภายใน 30 วัน

2.พรรคการเมืองที่สังกัดถูกยุบ (กรณีไปทำอะไรที่เป็นความผิดร้ายแรงตาม กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ) ต้องหาพรรคเข้าภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค

"กรณียื่นขอเลิกกิจการพรรคหรือร้องขอให้ยุบพรรคที่ตัวเองสังกัด แล้วจะย้ายไปสังกัดพรรคอื่น ไม่น่าจะทำได้ แม้จะอ้างว่าทำตามข้อบังคับพรรคที่เขียนไว้ นอกจากจะขัดกับรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังห้ามควบรวมพรรคหลังเลือกตั้ง จะควบรวมได้ต้องกลังสภาสิ้นวาระหรือหลังสภาถูกยุบ

ไม่ว่าจะโดยลายลักษณ์อักษรหรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงกระทำไม่ได้เด็ดขาด ไม่งั้นก็จะเปิดช่องให้มีการกวาดต้อน ส.ส. จากพรรคเล็กเข้าพรรคใหญ่ด้วยวิธีขอเลิกกิจการพรรคกันหมด นี่ยังไม่พูดถึงว่าจะเอาคะแนนบัญชีรายชื่อจากพรรคเดิมไปรวมกับพรรคที่จะย้ายเข้าไปสังกัดได้อย่างไร จะตรงเจตนาของเสียงประชาชนที่เลือกสนับสนุนพรรคที่ถูกเลิกกิจการเองนั้นได้หรือ เรื่องนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด ไม่งั้นหลักการจะเสียหายหมด" นายสามารถ ระบุ

สามารถ แก้วมีชัย.jpg

'จรุงวิทย์' รอ กกต. ชี้ขาดปมพรรคประชาชนปฏิรูป

'วอยซ์ ออนไลน์' ติดต่อไปยัง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เพื่อสอบถามถึงกรณีที่นายไพบูลย์ จะยกเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป และย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ เพื่อถามสิ่งที่สังคมยังคงสงสัย

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นประเด็นที่ถูกพูดกันเฉยๆ แต่เรื่องตรงนี้ยังไม่เข้ามา อย่างไรก็ตาม อยากให้รอวันอังคารที่ 27 ส.ค. เพราะ กกต. เขาอาจจะดูเรื่องนี้ด้วย ในส่วนของการยื่นยกเลิกพรรคการเมือง ได้เสนอตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 ซึ่งสามารถทำได้ตามกฎหมาย

แต่ในประเด็นเรื่องการคงสถานะความเป็น ส.ส. ของนายไพบูลย์ และคะแนนของพรรคนั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุว่า ตนยังไม่ทราบเพราะยังไม่มีกฎหมายข้อนี้เท่าที่ทราบ แต่จะต้องนำเข้าที่ประชุม กกต. ก่อน

ส่วนประเด็นเรื่องการคงสถานะความเป็น ส.ส.และจะไปแทรกในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐได้ไหมนั้น นพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุว่า ตนยังไม่ทราบ เพราะว่าเท่าที่ดู ไม่มีบทบัญญัติตรงนี้ จะต้องรอคำวินิจฉัยจาก กกต. ซึ่งตนเสนอเข้าที่ประชุมไว้ คือเรื่อง ความเป็นสมาชิกความเป็น ส.ส. และคะแนนที่ยังสงสัยกันอยู่ ทั้งนี้ ตนขอนำเข้าให้ที่ประชุม ซึ่งน่าจะมีการประชุมในวันอังคารที่ 27 ส.ค. นี้


จรุงวิทย์ ภุมมา
'สดศรี' ยก รธน.เขียนสับสน คาดจบที่ศาล รธน.

'วอยซ์ ออนไลน์' ยังได้ขอสัมภาษณ์ไปยัง นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. เพื่อตอบข้อสงสัยในประเด็นนี้

นางสดศรี ระบุว่า กรณีของนายไพบูลย์ที่มีการยกเลิกพรรค ถือว่าเป็นการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองในเรื่องนี้สามารถทำได้ คือ ทำให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพนั้นตาม มาตรา 91

ทั้งนี้ นางสดศรีตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นที่สำคัญของ มาตรา 91 วรรคสุดท้าย ที่ระบุว่า "เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าการสิ้นสภาพ ของพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรคการเมือง"

นางสดศรีอธิบายว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ถือว่าเป็นการช่วยไว้ ตามที่ระบุในวรรคท้าย ความหมายของการถูกยุบพรรคการเมือง ในลักษณะนี้คือ "ไม่ต้องไปดำเนินการใด เพราะสามารถที่จะย้ายไปอยู่พรรคการเมืองอื่นได้" เหมือนการที่มีพรรคการเมืองหนึ่งที่ถูกยุบไปแล้วกรรมการบริหารพรรคสิ้นสภาพ แต่ผู้ที่เป็น ส.ส. ก็สามารถไปหาพรรคการเมืองอยู่ได้ ภายใน 60 วัน

สดศรี.jpg

"ในกรณีของพรรคของนายไพบูลย์ซึ่งแถลงว่าจะเลิกการเป็นพรรคการเมืองก็สามารถที่จะดำเนินการได้ตามมาตรา 91 และได้ประโยชน์จากมาตรา 91 วรรคท้าย คือให้ถือเสมือนว่าเป็นการถูกยุบพรรค ซึ่งคุณไพบูลย์ก็บอกว่าจะไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ คือยังเป็น ส.ส. ได้อยู่ แล้วก็ไปหาพรรคการเมืองอื่นอยู่ได้" อดีต กกต. กล่าว

นางสดศรี มองว่า ลักษณะเป็นบทบัญญัติที่ "เตรียมความพร้อม" ของการที่พรรคการเมืองเล็กๆ เกิดขึ้น แล้วก็สามารถที่จะยุบตัวลงได้ แล้วไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น ซึ่งต่อไปเชื่อว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มี ส.ส. คนเดียวอาจจะทำแบบพรรคนายไพบูลย์ เพื่อป้องกันการหลุดเก้าอี้ ส.ส. เป็นเหมือนเกราะป้องกันตัวเอง

สิ่งนี้ไม่เคยมีกำหนดไว้ในบทบัญญัติในกฎหมายพรรคการเมืองก่อนหน้านี้เลย เพิ่งมีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บอกว่า "แม้ว่าจะสิ้นสภาพในการขอเลิกพรรคการเมืองของตัวเอง ให้ถือว่าเป็นการถูกยุบ"

นางสดศรี กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้แล้วทำให้เกิดความสับสน อย่างที่ว่าเกิดความเข้าใจ สงสัย ในสังคม อย่างไรก็ดี เรื่องนี้อาจจะยังไม่ยุติจนกว่าจะมีการยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ หากมีผู้ร้องเรียนในเรื่องนี้ ถ้าหากเป็นกรณีที่เกิดมีปัญหากรณีที่มีการเลือกตั้งซ่อม แล้วถ้าบัญชีรายชื่อของนายไพบูลย์หายไป จะเป็นเรื่องที่กฎหมายขัดกันหรือไม่ คงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

ส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องนี้คงจะไม่ยุติลง ถ้าเลือกตั้งซ่อมแล้วจะทำอย่างไรกันต่อ เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 วรรคท้ายป้องกัน ส.ส. อยู่ แต่หากเมื่อก่อนพรรคการเมืองทำอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเลิกไปต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ เลือกตั้งกันใหม่ ในส่วนที่ขาดหายไป

ข่่าวที่เกี่ยวข้อง