ไม่พบผลการค้นหา
บทความนิวยอร์กไทม์สระบุ ไทยและบางชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อาจเกิดจากหลายปัจจัยที่ช่วยเกื้อหนุน ทั้งวัฒนธรรมการทักทายแบบไม่ต้องสัมผัสตัว ความพร้อมใจกันใส่หน้ากากอนามัย และระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง

เว็บไซต์ The New York Times สื่อสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความ No One Knows What Thailand Is Doing Right, But So Far, It's working โดยระบุว่าการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ของประเทศไทยยังคง 'ได้ผลดี' แม้จะไม่มีใครรู้ว่าเกิดจากปัจจัยใดกันแน่

ตัวชี้วัดที่สะท้อนว่าไทยมาถูกทางเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 คือ สถิติผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศมีจำนวนเพียง 3,240 ราย เมื่อวันที่ 16 ก.ค. และสถิติผู้เสียชีวิต 58 ราย นับตั้งแต่ที่จีนยืนยันการแพร่ระบาดของโรคเมื่อเดือน ม.ค.เป็นต้นมา โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดราว 70 ล้านคนทั่วประเทศ

บทความของนิวยอร์กไทม์สระบุว่า ไม่มีใครรู้ว่า สิ่งที่ไทยทำได้อย่างถูกต้องคืออะไร แต่จนถึงขณะนี้การป้องกันโรคโควิด-19 ก็ยังได้ผลดี พร้อมประเมินปัจจัยอีกหลายอย่างที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น วัฒนธรรมการไหว้ทักทาย ทำให้คนไทยไม่ต้องสัมผัสหรือแตะต้องตัวผู้อื่น แตกต่างจากวัฒนธรรมตะวันตกที่นิยมการจับมือ สวมกอด หรือจูบทักทาย ซึ่งพฤติกรรมอย่างหลังส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคมากกว่า โดยข้อสันนิษฐานเรื่องการไหว้ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัส อ้างอิงคำกล่าวของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

อีกปัจจัยที่นิวยอร์กไทมส์มองว่าน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การป้องกันโควิด-19 ในไทยได้ผลดี คือ ความจริงจังในการสวมหน้ากากอนามัยของคนส่วนใหญ่ในสังคม รวมถึงระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง

ขณะเดียวกันก็มีข้อสันนิษฐานเรื่องพันธุกรรมของคนไทยส่วนใหญ่อาจทนทานต่อเชื้อโรคต่างๆ แต่ว่า นพ.วิพุธ พูลเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สำรวจสถานการณ์โควิด-19 ใน จ.ปัตตานี ไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ โดยให้เหตุผลว่า ผลสำรวจประชากรทางใต้ของไทย ไม่พบว่ามีภูมิต้านทาน 'ไวรัสไข้เลือดออก' เป็นพิเศษ จึงไม่คิดว่าภูมิต้านทานไวรัสโคโรนาของคนไทยจะดีกว่าคนชาติอื่นๆ แต่อย่างใด


คุมโควิดฯ ดี แลกมาด้วยอะไรบ้าง?

แม้เวียดนามที่มีประชากรมากกว่าไทยจะไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เลยแม้แต่คนเดียว รวมถึงลาวและเมียนมาที่มีรายงานยอดสะสมผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อยกว่า แต่นิวยอร์กไทม์สกล่าวว่า ไทยสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ดีกว่า เพราะไทยเป็นประเทศแรกนอกจากจีนที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในประเทศตั้งแต่เดือน ม.ค. เป็นนักท่องเที่ยวจากเมืองอู่ฮั่นของจีน แต่ไทยกลับควบคุมสถานการณ์ได้ดี ทั้งที่เปิดรับนักท่องเที่ยวจีนเป็นจำนวนมากช่วงต้นปี

AFP-บริจาคสู้โควิด ไวรัสโคโรนา วินมอเตอร์ไซค์ อาสาสมัคร.jpgธ.ก.ส. เกษตรกร แจกเงิน เยียวยาเกษตรกร

ด้วยเหตุนี้ นิวยอร์กไทม์สจึงมองว่า คำสั่งห้ามเที่ยวบินจากต่างประเทศเข้ามายังไทยที่มีผลในเดือน เม.ย. รวมถึงการออกคำสั่งล็อกดาวน์ควบคุมการเดินทางของประชากรในประเทศ น่าจะมีผลอย่างมากในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพียงแต่มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไม่มีทางเลี่ยง และจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจของสังคมไทยยิ่งแย่ลงกว่าเดิม

นิวยอร์กไทม์สอ้างอิงการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ระบุว่าระบบเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้นตัวภายในปีนี้ และคาดว่าธุรกิจประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ในไทยอาจต้องเลิกกิจการภายในสิ้นปี เป็นผลจากการระงับกิจการต่างๆ ชั่วคราวในช่วงที่ต้องล็อกดาวน์ป้องกันโรคระบาด

นอกจากนี้ การพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยที่เกิดจากทหารอียิปต์และครอบครัวเจ้าหน้าที่ทางการทูตของซูดาน จะส่งผลให้การอนุญาตชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยเป็นไปได้ยากขึ้น แต่ที่ผ่านมา ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวค่อนข้างมาก การสั่งห้ามคนเดินทางเข้าประเทศย่อมไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง


การแพร่ระบาดรอบใหม่ 'มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก'

แม้ว่าไทยจะป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างดีในช่วงที่ผ่านมา แต่สื่อหลายสำนักคาดว่าไทยอาจจะเผชิญกับความเสี่ยงที่จะพบ 'ผู้ติดเชื้อนำเข้า' เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลพยายามผลักดันแนวคิดเรื่อง Travel Bubble เปิดรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับบริษัททัวร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา แต่มีกรณีที่ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ แม้จะมีการตรวจโรคก่อนเดินทางเข้าประเทศก็ไม่อาจป้องกันโรคได้อย่างมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์

ด้านนิกเคอิเอเชี่ยนรีวิว รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายสมชัย สูงสว่าง ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้ดำเนินโครงการอีลิทคาร์ดของไทย ระบุว่า เดือน เม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมา มีชาวฮ่องกงสมัครเข้าร่วมโครงการอีลิทคาร์ดเพิ่มขึ้นถึง 380 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับจำนวนผู้สมัครช่วงก่อนหน้า เช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่นและชาวอังกฤษที่ยื่นเรื่องสมัครอีลิทคาร์ดเพิ่มขึ้น โดยมีเหตุผลเกี่ยวข้องกับการหาที่พำนักที่ปลอดภัยจากโรคโควิด-19

นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองในฮ่องกงที่ตึงเครียดขึ้นหลังรัฐบาลประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่ชาวฮ่องกงฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยมองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาแทรกแซงอธิปไตยฮ่องกง ยิ่งส่งผลให้ชาวฮ่องกงมองหาที่พำนักอาศัยแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ชาวฮ่องกงระบุว่าสนใจจะย้ายมาอยู่

หากในอนาคตมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังไทยเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ได้ แต่นายสมชัยเชื่อมั่นว่าความสามารถของไทยในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดจะยังดำเนินต่อไปได้อย่างดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: