Korea Herald รายงานว่า คณะกรรมาธิการค่าแรงขั้นต่ำภายใต้กระทรวงแรงงานของเกาหลีใต้ เริ่มต้นจัดการประชุมเพื่อพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับปี 2564 เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยในการจัดการประชุมเบื้องต้นนี้ทุกฝ่ายต่างคาดว่าน่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างราบรื่น โดยการจัดประชุมในปีนี้เกิดการล่าช้าขึ้นเพราะโรคระบาด เนื่องจากการพิจารณาทุกปีนั้นจะมีขึ้นช่วงปลายเดือน พ.ค. ในการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดไข้ และนั่งประจำที่นั่งในฉากกั้นใสเพื่อกันฝอยละออง
อัตราค่าแรงขั้นต่ำในเกาหลีใต้จะได้รับการพิจารณาปรับใหม่เป็นประจำทุกปี โดยค่าแรงขั้นต่ำของปีนี้อยู่ที่ 8,590 วอนต่อชม. หรือราว ชั่วโมงละ 221 บาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจะพบว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นกว่า 2.9 เปอร์เซ็นต์
หลังจากการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในปี 2560 นายมุนแจอิน ให้คำสัญญากับประชาชนไว้ว่าจะผลักดันให้ค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลีใต้ปรับขึ้นเป็น 10,000 วอน หรือ 257 บาทต่อชั่วโมงให้ได้ ซึ่งในปี 2561 เขาสามารถเจรจาให้ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นมาได้แบบก้าวกระโดดถึง 16.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในปี 2562 เพิ่มขึ้นมาอีก 10.9 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มขึ้น 2.9 เปอร์เซ็นต์ในปีล่าสุด
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันคือสิ่งที่เหนือความคาดหมาย เมื่อภาคธุรกิจต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจแล้วกิจการต่างๆ เริ่มออกมาเรียกร้องให้ทางการยุติการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำชั่วคราว 1 ปี หรือแม้กระทั่งการขอให้ 'ปรับลด' ค่าแรงขั้นต่ำของปี 2564 ด้วยซ้ำ
สมาพันธ์วิสาหกิจเกาหลี (Korea Enterprises Federation) และสมาพันธ์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเกาหลี (Korea Federation of SMEs) ได้ทำการสำรวจธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวน 600 แห่ง พบว่า 88.1 เปอร์เซ็นต์ของผู้รับการสำรวจเห็นด้วย ให้ค่าแรงขั้นต่ำของปี 2564 นั้นคงเดิมหรือปรับให้ต่ำลง
ขณะที่ 58.8 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจยอมรับว่าพวกเขาอาจเริ่มปรับลดจำนวนพนักงานและจะไม่มีทางเปิดรับพนักงานเพิ่มในอนาคตอันใกล้ ขณะที่แบบสำรวจในจังหวัดแทกู ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในเกาหลีใต้ชี้ว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจนั้นต้องการให้รัฐบาลหยุดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำชั่วคราวหรือปรับลดค่าแรงขั้นต่ำไปเลย
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของกระทรวงแรงงานเกาหลีใต้กลับเห็นต่าง โดยขณะนี้มีความพยายามในการยืนยันว่าบรรดาพนักงานที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว สมควรจะได้รับค่าจ้างเพิ่มเพื่อต่อสู้และเอาตัวรอดในภาวะเศรษฐกิจถดถอยท่ามกลางวิกฤตการณ์โรคระบาดใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ
สมาพันธ์การค้าเกาหลี (Federation of Korean Trade Unions) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในภาคแรงงานของประเทศย้ำว่า "การยุติมาตรการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำชั่วคราวจะเป็นการผลักภาระที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจไปให้พนักงานรายได้น้อยของประเทศ ทำให้พวกเขาต้องยอมเสียสละให้คนกลุ่มอื่นมากขึ้นไปอีก"
พร้อมกับชี้ว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เพียงพอ จะส่งผลโดยตรงทำให้รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (Disposable Income) ของประชาชนเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศที่สูงขึ้นอีกด้วย นั่นคืออีกหนึ่งวิธีที่ทางรัฐบาลจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังการระบาดโควิด-19 ได้ ซึ่งคณะกรรมาธิการค่าแรงขั้นต่ำชุดปัจจุบันนั้นประกอบไปด้วยสมาชิก 27 คน โดยเป็นตัวแทนจากภาคแรงงาน ธุรกิจ และรัฐบาลอย่างละ 9 คน พวกเขามีเวลาเจรจาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปจนถึงวันที่ 5 ส.ค.เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นสำคัญนี้
ด้าน The Korean Times รายงานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของเกาหลีใต้ล่าสุดได้ปรับลดลงมาจากอันดับที่ 8 ของโลก กลายมาเป็นอันดับที่ 10 ของโลก หลังจากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ โดย Organization for Economic Cooperation หรือ OECD ชี้ว่าเป็นการปรับตัวลดลงมาครั้งแรกหลังวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ระบุว่า GDP ของประเทศหดตัว 1.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่หากเทียบเป็นรายปี GDP ไตรมาส 1 ของเกาหลีใต้นั้นขยายตัว 1.4 เปอร์เซ็นต์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :