ไม่พบผลการค้นหา
เปิดตัว 11 สถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น1 ประกาศความพร้อมปีการศึกษา 2563 ผลิตครูปฐมวัยและประถมศึกษา 328 อัตรา ครอบคลุมรร.พื้นที่ห่างไกล ที่อาจยุบรวมไม่ได้ 282 แห่ง ขณะที่ศธ.ย้ำ สพฐ.- เขตพื้นที่ – กศจ. จะร่วมคัดเลือกนร.ม.6 ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ พร้อมวางแผนอัตรากำลังครูรองรับเมื่อจบการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาครูโยกย้าย ขาดแคลนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้จริง

ที่อาคารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ 11 สถาบันอุดมศึกษา ลงนามร่วมเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น พร้อมประชุมเชิงปฏิบัติการ “ร่วมมือ ร่วมใจ สร้างครูรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่น”

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กสศ. และ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้ดำเนินการคัดเลือกและประกาศรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาและหลักสูตรที่ผ่านการพิจารณาให้เป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 จำนวน 11 แห่ง เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา ประกอบไปด้วยหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี หลักสูตรการประถมศึกษา 4 แห่ง ได้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร , มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2563 สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 11 แห่ง มีความพร้อมรับนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นได้ทั้งสิ้น 328 อัตรา และจะมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล จำนวน 282 แห่ง ที่อยู่ในรัศมีพื้นที่การบรรจุอัตราครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 ของทั้ง 11 สถาบัน

“ดิฉันขอยืนยันว่า กระบวนการคัดเลือกมีความเป็นวิชาการโดยแท้จริง โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจาก 6 องค์กรความร่วมมือได้ลงพื้นที่เพื่อพิจารณาจากสภาพจริง พร้อมทั้งรับฟังแนวทางการดำเนินโครงการของสถาบันอุดมศึกษาที่สมัครร่วมโครงการทุกแห่งจำนวน 22 สถาบัน รวม 28 หลักสูตร โดยพิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์คุณภาพอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้สถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมในการเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่นที่มีคุณภาพ สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลจำนวน 282 แห่งในรัศมีของทั้ง 11 สถาบัน ถือเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ยุบรวมไม่ได้ เป็นจิตวิญญาณของชุมชน กสศ.ได้จัดให้มีทีมวิชาการช่วยพัฒนาทั้งด้านคุณภาพการเรียนการสอน การเตรียมความพร้อมของโรงเรียนทั้งระบบควบคู่กันไปด้วยตั้งแต่ในปีแรกนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการและรองรับการทำงานของครูรุ่นใหม่ได้ตามเป้าประสงค์ของโครงการนี้ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจเพื่อปฏิรูปการศึกษา โดยโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นในรุ่นต่อไป กสศ. จะมีการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ให้แก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.ปลาย” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าว

รศ.ดร.ดารณี กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 11 แห่ง ยังได้ลงนามร่วมกับกสศ. ในการเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่1 ถือเป็นก้าวสำคัญของการผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ที่มีจิตวิญญาณของครูนักพัฒนา และมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนและโยกย้ายครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลด้วย ในอนาคตประสบการณ์จากการทำงานเรื่องนี้จะนำไปสู่การจัดตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู และผู้ดูแลเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นภารกิจตามมาตรา 5 ของกสศ. ทั้งนี้ กสศ.และ11 สถาบัน จะร่วมกันยกระดับหลักสูตรการผลิตครูใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การพัฒนารูปแบบและวิธีการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับโรงเรียนขนาดเล็กในถิ่นทุรกันดารในประเทศไทย 2.การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาจิตสำนึกความเป็นครูและทักษะการทำงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐานสำหรับนักศึกษาครูผู้รับทุน 3.รูปแบบการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือดูแล ระบบหอพัก และกิจกรรมเสริมสร้างความเป็นครูสำหรับนักศึกษาครูผู้รับทุนตลอด 4 ปี 4.กระบวนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และระบบนิเทศทางการศึกษาทางไกลสำหรับนักศึกษาครูผู้รับทุน

“ตลอดช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ อาจารย์จาก 11 สถาบัน ร่วมกับโรงเรียนและชุมชนจะคัดเลือกและคัดกรองนักเรียนในพื้นที่มีฐานะครอบครัวอยู่ในเกณฑ์ยากจนตามที่กสศ.กำหนด ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าที่มีศักยภาพในการเรียนรู้และอยากเป็นครู มีภูมิลำเนา อยู่เขตตำบลที่ตั้งของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล 282 แห่งในรัศมีที่ใกล้กับ 11 สถาบันที่มีการเรียนการสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และมีเกรดเฉลี่ยสะสม 5 ภาคเรียนไม่ต่ำกว่า 2.5 เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมสอบคัดเลือกทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมได้ที่ www.eef.or.th หรือโทร 02 079 5475”     รศ.ดร.ดารณี กล่าว

9F6E220F-584D-42A3-AD59-8199A91C1341.jpeg

ด้านนายสุทิน แก้วพนา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระบวนการค้นหาคัดกรองนักเรียนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการผลิตครู ถ้าเราไม่ได้เด็กในพื้นที่เป้าหมายจริงๆ ถึงแม้การผลิตครูจะมีคุณภาพแต่ในระยะยาว ครูเหล่านี้ก็จะไม่ได้อยู่กับโรงเรียน ทั้งนี้พื้นที่กลุ่มเป้าหมายของ 11 สถาบัน ครอบคลุมนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ที่ผ่านมาโรงเรียนเหล่านี้ จะมีปัญหาเรื่องการบรรจุครู พอครบ 4 ปี ครูที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ก็ขอย้ายกลับภูมิลำเนา เป็นปัญหาการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ขาดความต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนห่างไกลด้อยโอกาสกลายเป็นโรงเรียนฝึกหักครู เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลได้ครูที่ไม่พร้อมเต็มที่มาสอนตลอด 

“ดังนั้นต้องคัดเลือกเด็กในพื้นที่จริงๆ และเป็นเด็กยากจนด้อยโอกาส ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นครู ไม่เช่นนั้น เราจะได้เด็กพื้นที่อื่น ที่ถึงแม้จะมีคุณสมบัติเหมาะสม แต่เมื่อเรียนจบคนเหล่านี้เป็นครูครบ 4 ปี ก็จะย้ายกลับภูมิลำเนาตัวเองซึ่งจะทำให้การผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่น ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างแท้จริง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ต้องร่วมกันวางแผน ตั้งแต่ กระบวนการคัดเลือกคนที่จะเข้ามารับทุน การวางแผนอัตรากำลังครูในโรงเรียนพื้นที่เป้าหมายเพื่อรองรับการบรรจุแต่งตั้งครูรัก(ษ์)ถิ่นทั้ง 328 อัตราในรุ่นที่ 1 เรื่องนี้ต้องวางแผนล่วงหน้ากัน 4 ปี ทำงานไปพร้อมกันตั้งแต่ต้น ทำให้เราคัดกรองเด็กที่เป็นคนในพื้นที่จริง มีศักยภาพ คุณสมบัติเหมาะสม ในการเป็นครูและกลับไปพัฒนาถิ่นเกิดของตัวเองได้อย่างแท้จริง” นายสุทิน กล่าว

ผศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 1ใน11 สถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กล่าวว่า การออกแบบการเรียนสอนเพื่อรองรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จะผสมผสานให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรง ผ่านการเรียนหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้งานวิจัย การใช้โครงงาน การใช้สถานประกอบการเป็นฐานการเรียนรู้ โดยการเรียนการสอนตามแนวทางนี้จะทำให้นักศึกษามีโอกาสได้เรียนทั้งทฤษฏี งานวิจัยที่มีการปรับปรุงให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบันและการปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

"เราจะสอนครูให้มีสามเรื่องหลักๆ คือ หนึ่งสอนด้านวิชาการความรู้ที่จะต้องนำไปประกอบอาชีพครู สองสอนด้านความเป็นคน ให้อยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างรักวัฒนธรรรม สิ่งแวดล้อม เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มีความรู้ด้านการเกษตรผสมผสานเพื่อถ่ายทอดไปสู่ท้องถิ่น เรียนรู้ด้านวัฒนธรรมการแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงท้องถิ่นของตัวผู้เรียนเอง และสามต้องสอนให้ทุกคนมีคุณลักษณะความเป็นครู ให้ออกไปเป็นครูที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเด็กนักเรียน" ผศ.ดร.ชาตรี กล่าว

ดร.มูหัมมัดตอลาล แกมะ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า สถาบันได้ออกแบบการจัดกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เน้นเรื่องการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู เพิ่มทักษะในการเป็นครูนักพัฒนา และการดูแลหอพักนักศึกษาด้วยกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสายครุศาสตรบัณฑิตนอกเวลาเรียนหรือเอ็กซตราไทม์

"หอพักเอ็กซตราไทม์ ของเราจะกำหนดให้ใช้ช่วงเวลาระหว่าง 19.00 น.ถึง 21.00 น. จัดเป็นช่วงกิจกรรมเสริมทักษะ โดยมีอาจารย์จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หมุนเวียนกันจัดเตรียมเนื้อหาและกิจกรรมมาปลูกฝังนักศึกษาให้เกิดคุณลักษณะที่ดีในความเป็นครูที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น" ดร.มูหัมมัดตอลาล กล่าว