ไม่พบผลการค้นหา
‘เอสวาตินี’ ประเทศสุดเหลื่อมล้ำ กษัตริย์ร่ำรวยติดอันดับโลก สวนทางประชาชนเกินครึ่งรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

‘เอสวาตินี’ หรือชื่อเดิมว่า ราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ (Swaziland) ประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ด้วยประชากรทั้งประเทศราว 1.4 ล้านคน บนพื้นที่ 17,364 ตารางกิโลเมตร (หรือเทียบเท่าจังหวัดกาญจนบุรี) มีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหลัก ดังนั้นประชากรกว่า 80% จึงมีอาชีพเป็นเกษตรกร จากข้อมูลของธนาคารโลก (The World Bank) พบว่าเอสวาตีนีมี ผลประเมินรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita) อยู่ที่ 3,850 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 125,215) ต่อปี  ถือว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ  

แม้เอสวาตินีจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่า ประชาชนมีรายได้ปานกลางระดับต่ำ  แต่ปัญหาความยากจนอย่างรุนแรงก็ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข รายงานของธนาคารโลก (The World Bank) ในปี 2544 มีเผยว่าประชากรของประเทศถึง 69% จากทั้งหมดมีรายได้อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และมีในปี 2552 สถิติดังกล่าวจะดีขึ้น โดยอัตราความยากจนลดลงมาอยู่ที่ 63% และจากข้อมูลล่าสุดในปี 2560 ยังคงมีชาวสวาซีกว่า 58.9% ที่มีรายได้อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line)  คือมีรายได้เพียงวันวันละ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 60 บาท) หรือน้อยกว่านั้น นั่นแปลว่าประชาชนชาวสวาซีกว่าครึ่งยังคงประสบกับปัญหาความยากจน และอยู่อย่างอัตคัดกับเงินได้ราว 60 บาทต่อวัน

เอสวาตินี

เอสวาตินี มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้มีระบบเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ประการแรกคือประเทศนี้มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) มากที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากองค์การด้านเอชไอวีและเอดส์ ระบุว่า ในปีพ.ศ.2563 ผู้ใหญ่ในเอสวาตินีติดเชื้อเอชไอวีกว่า 27.3% สาเหตุที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้นั้น เกิดจากอุปสรรคทางสังคม ประเพณีและวัฒนธรรม ทั้งการตีตราผู้ติดเชื้อจนทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะไปตรวจเชื้อ รวมถึงวัฒนธรรมการแต่งงานแบบ “ผัวเดียวหลายเมีย” ท่ามกลางสังคมปิตาธิปไตยที่เข้มข้นนี้ ยังมีการกำหนดกฎหมายว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องขออนุญาตจากคู่สมรสก่อนจึงจะเข้ารับบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ได้ กระทบต่อการเติบโตภาคแรงงาน และการขยายโอกาสทางสังคม

อีกหนึ่งอุปสรรคทางเศรษฐกิจประการสำคัญคือ คือการผูกขาดของบรรดาธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


ราชทรัพย์อู้ฟู่ สวนทางความเป็นอยู่ประชาชน

สมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตี ที่ 3 (King Mswati III ) ผู้ปกครองเอสวาตินีด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขึ้นครองราชย์เมื่อ 2529 ขณะมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา ปัจจุบันพระองค์มีพระมเหสีและสนมรวมกันทั้งสิ้น 15 พระองค์ มีพระราชโอรสพระราชธิดารวม 23 พระองค์  ทั้งราชวงศ์ล้วนใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟู่ฟ่า ตามรายงานของสำนักข่าว The Times เมื่อปี 2563 ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ชาวบ้านต่างเดือดร้อน แต่พระองค์กลับทรงใช้เงินกว่า 700 ล้านบาทในการซื้อรถยนต์หรูโรลส์-รอยซ์ 19 คัน และ BMW อีกกว่า 120 คันให้กับมเหสีและสนมรวมถึงบรรดาเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ แหล่งข่าวท้องถิ่นระบุว่ารถยนต์ส่วนใหญ่ที่ซื้อมาจะเป็นรุ่น BMW X3 และ 5 Series สนนราคาคันละราว 3.3 ล้านบาท

‘ราชวงศ์ดลามีนี’ ภายใต้การนำของ กษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ครอบครองเครื่องบินส่วนตัวถึง 2 ลำ พระราชวังอย่างน้อย 13 แห่งทั้งในและต่างประเทศ และรถยนต์หรูหราอีกหลายสิบคัน ในวาระวันคล้ายวันเกิดครบ 50 ปีของพระองค์เมื่อ 2561  พระองค์สวมนาฬิกามูลค่ากว่า 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 52,048,000 บาท) และทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดสูทประดับเพชรน้ำหนัก 6 กิโลกรัม รวมถึงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น พระองค์ทรงได้รับ ‘ของขวัญ’ จากรัฐบาล ซึ่งถูกเลือกมาโดยราชสำนัก เป็นเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวลำที่สอง รุ่นแอร์บัส A340 ราคา 13.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 429,528,000 บาท) พร้อมการตกแต่งภายในแบบวีไอพี ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นเป็น 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 975,810,000 บาท)

เอสวาตินี

นิตยสารฟอร์บ (Forbes) ประมาณการว่า พระองค์อาจมีราชทรัพย์กว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท) ด้วยมูลค่าของทรัพย์สมบัตินี้ จึงทำให้พระองค์ติดอันดับที่ 19 ของสถาบันกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

จากความเหลื่อมล้ำที่ชนชั้นปกครองใช้ชีวิตอย่างอู้ฟู่หรูหรา ตรงข้ามกับชีวิตของประชาชน ส่งผลให้เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ชาวเอสวาตินีได้ลุกฮือประท้วงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้ประเทศเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองรูปแบบประชาธิปไตยที่พวกเขาสามารถเลือกผู้ปกครองได้โดยตรง รวมถึงให้มีการปฏิรูปรัฐบาล และมีผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ทว่า กษัตริย์อึมสวาตีที่ 3  ดูเหมือนจะไม่ใส่พระทัยต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน ส่งผลให้เสียงเรียกร้องเหล่านั้นกลับกลายเป็น ความโกรธแค้นและความต้องการเปลี่ยงแปลงประเทศสู่ระบอบ “สาธารณรัฐ”

ท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าประเทศในก่อนหน้านั้น ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ที่ซ้ำเติม ประชาชนขาดความมั่นคงในการใช้ชีวิตในทุกทาง อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ปัญหาด้านสภาพอากาศหรือภัยแล้งที่ส่งผลร้ายต่อผลผลิตทางการเกษตรอันเป็นรายได้หลักของประชากรส่วนใหญ่ ที่ทำให้การส่งออกลดน้อยลง จนรัฐบาลต้องต้องหันไปผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยผิดกฎหมายอย่าง การพนันทางอินเตอร์เน็ต ให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย แถมยังตลกร้ายที่รัฐมนตรีบางคนยังออกมาเรียกร้องชาวสวาซีให้เข้าร่วมการพนันทางอินเตอร์เน็ตกันมากๆเพื่อสร้างรายได้ให้กับรัฐ ต้องอธิบายด้วยว่ารัฐบาลที่บริหารเอสวาตินีตลอดที่ผ่านมานั้น แม้จะมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐสภา แต่ทั้งหมดทั้งมวลส่วนใหญ่มากจากการคัดเลือกและแต่งตั้งโดยราชสำนัก

อึมสวาตีที่ 3 สามารถใช้พระราชอำนาจได้อย่างไม่จำกัดขอบเขต พระองค์สามารถแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตุลาการ นอกจากนั้นยังทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาอีกเช่นกัน แม้จะมีรัฐสภา แต่การขับเคลื่อนประเทศก็เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนและโจ่งแจ้ง


กองทุนความมั่งคั่งที่ผลประโยชน์ไม่ตกสู่ ‘ชาติ’

หากถามว่าเหตุใด กษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 และบรรดาสมาชิกราชวงศ์ถึงร่ำรวยติดอันดับโลก คำตอบแหล่งกระเป๋าเงินหลักของราชวงศ์ดลามีนี คือ “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” กองทุนแรกคือ ‘ทิบิโย ทากา เองกวาน’ (Tibiyo Taka Ngwane) คือกองทุนความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นตามพระประสงค์ของสมเด็จพระราชาธิบดีซอบูซาที่ 2 เมื่อปี 2511 (พระราชบิดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน) นอกจากนั้น และอีกหนึ่งกองทุนที่เรียกว่า ‘ทิสุกา ทาก้า เองกวาน’ Tisuka Taka Ngwane (แปลว่าเสาหลักของสวาซิแลนด์) ซึ่งครอบครองธุรกิจจำนวนมากรวมถึงห้างซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง แต่กลับมีการเปิดเผยถึงรายละเอียดต่อสาธารณะน้อยมาก

กองทุนทิบิโย ไม่ใช่ทั้งบริษัทเอกชน สถาบันการเงิน หรือองค์กรใดของรัฐบาล แต่กองทรัสต์(Trust) ที่มุ่งลงทุนตามพระราชประสงค์เท่านั้น แรกเริ่มเดิมทีกองทุนนี้มีจุดประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสันติภาพและความมั่นคง เพื่อรักษาวัฒนธรรมและประเพณี และเพื่อส่งเสริมมาตรฐานการครองชีพให้กับชาวสวาซี แต่ในปัจจุบันกองทุนนี้ถือเป็นเรื่องต้องห้ามในเอสวาตีนีไม่มีใครกล้าแม้แต่จะพูดถึง

เอสวาตินี

ปัจจุบันกองทุนทิบิโย ถือหุ้นกว่า 50 % อยู่ในทุกอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมภาคการผลิต อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว การผลิตและส่งออกน้ำตาลอย่างบริษัท Illovo Sugar, Royal Swaziland Sugar Corporation รวมถึงหุ้นในสถาบันการเงินและอสังหาริมทรัพย์ Nedbank Swaziland, Swaziland Development and Finance Corporation, นอกจากนี้ยังมีบริษัทด้านการท่องเที่ยว Royal Swazi Spa Resort ประกอบด้วยโรงแรม Lugogo Sun และ Royal Swazi Spa ศูนย์การประชุม บาร์ร้านอาหาร และคันทรีคลับ และห้างสรรพสินค้าอย่าง Bhunu Mall

นอกจากนี้ กองทุนทิบิโย ยังเป็นเจ้าของบริษัท Swazi Observer เจ้าของสื่อหนังสือพิมพ์รายวันหลักสองฉบับของประเทศ ได้แก่ Jubilee Printing and Publishing Company ส่วนภาคการเกษตรก็มี Dalcrue Agricultural Holdings ซึ่งบริหารจัดการกลุ่มธุรกิจที่ผลิตนม ปศุสัตว์ ไม้ซุง อ้อย และข้าวโพด

ทั้งสองกองทุนไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลหรือรัฐสภา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินเพียงผู้เดียว ทั้งรายได้จากกองทุนไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษี และบัญชีของกองทุนถูกแยกออกจากบัญชีของรัฐบาลโดยสิ้นเชิง ไม่ปรากฏในงบประมาณของประเทศหรือรายงานทางเศรษฐกิจใดๆ จากข้อมูลทางบัญชีล่าสุดประจำปี 2561  กองทุนสินทรัพย์รวมมีมูลค่ากว่า 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สัดส่วนการถือหุ้นของกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 เป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคม เพราะถึงแม้พระองค์ทรงถือทรัพย์สมบัติในนามของชาวสวาซิแลนด์แต่ในทางปฏิบัติ พระองค์ทรงใช้เงินจากกองทุนจนคล้ายว่านี่เป็น "ทรัพย์สินส่วนพระองค์ไปแล้ว" รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในปี 2559 ระบุว่า กองทุนทิบิโย คือการดำเนินการในฐานะการลงทุนภาคเอกชนเพื่อประโยชน์ของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์

แมนด์ลา เอชลัทสวาโย Mandla Hlatshwayo นักธุรกิจชาวสวาซีและนักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยกล่าวว่า “กองทุนเหล่านี้มีอำนาจเหนือเศรษฐกิจสวาซิมากกว่า 50% แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย กองทุนนี้สเสมือนกล่องแพนโดราที่ห้ามเปิด ไม่มีบันทึกหรือข้อมูลทางบัญชีใดๆที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” รายได้บางส่วนที่เกิดจากการลงทุนนี้ใช้เพื่อจ่ายสำหรับกิจกรรมทางวัฒนธรรมบางอย่าง รวมถึงจัดพระราชพิธีประจำปีที่มีชื่อเสียงอย่าง Umhlanga (Reed Dance) เพื่อคัดเลือกพระสนมของพระมหากษัตริย์

“เรารู้สึกว่า Tibiyio ควรเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาทางการเงิน ในขณะที่ประเทศชาติอยู่ในภาวะวิกฤติ และเราต้องการเงินนั้นมากกว่าพระมหากษัตริย์ซะอีก”

วินเซนต์ เน็งคองวาน (Vincent Ncongwane) เลขาธิการสหพันธ์แรงงานเอสวาตินีและสมาชิกของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยกล่าวว่า “หากกองทุนนี้เป็นทรัสต์ระดับชาติสำหรับชาวสวาซี ประชาชนควรมีสิทธิที่จะใช้ในยามจำเป็น และนี่คือช่วงเวลาที่ประชาชนกำลังต้องการความช่วยเหลือมากกว่าครั้งไหนๆ"

เขายังระบุอีกว่า กองทุนควรที่จะการบังคับเก็บภาษีเหมือนสถาบันการเงินทั่วไป ซึ่งจะไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังทำให้สามารถตรวจสอบได้ และมีความโปร่งใสมากขึ้นเช่นกัน

เอสวาตินี
  • พิธี Umhlanga

ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ และความสิ้นหวัง ไม่แปลกที่ชาวเอสวาตินีจะมาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง แต่ครั้งล่าสุดนี้นับว่าเป็นการประท้วงทางการครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชจากเครือจักรภพอังกฤษ หลายพื้นที่ในเมืองใหญ่ ‘มาซินี’ และอัมบาเน เมืองหลวง  การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงด้วยการปิดถนนและจุดไฟเผาร้านค้าต่างๆ ของเมืองที่มีความเกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อสถาบันกษัตริย์ ความเข้มข้นของการประท้วงมีมากขึ้นเมื่อตำรวจเอสวาตินีได้ใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนจริง ในการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐบาลยอมรับว่า จากเหตุดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 คน แต่ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสองเท่า และคาดว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 150 คน  ในแถลงการณ์สมาพันธ์นักศึกษาเอสวาตินี หนึ่งในกลุ่มที่ร่วมเคลื่อนไหวขับไล่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ กล่าวว่าผู้เสียชีวิตเป็นเพียง “พลเมืองที่ไม่มีอาวุธ และเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแท้จริง”

เอสวาตินี
  • สนม 4 องค์ หนึ่งใน 15 ชายาของกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนรัฐบาลตัวแทนราชสำนักจะไม่โอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงง่ายๆ โดย แมนโคบา คูมาโล Manqoba Khumalo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และการค้า กล่าวกับเดอะการ์เดียนว่า “รัฐบาลจำเป็นต้องจัดการกับความคับข้องใจของประชาชนผ่านการเจรจา และผ่านกระบวนการทางรัฐสภา เพราะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่จะสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น รัฐบาลจะไม่ยอมให้กลุ่มผู้ปลุกระดมหรือผู้ที่ยุยงให้เกิดความรุนแรงนั้น มาบีบบังคับรัฐบาลเด็ดขาด”

เรื่องโดย: ชนิกานต์ มะโหรา

ตรวจโดย: ชยพล พลวัฒน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 ที่มา: DW , MG.ZA , MFA , SDNews , Briefly.za , Avert.org , DoingBussiness , Allafrica , TheAfricanReport , Aljazeera , TheGuardian