ไม่พบผลการค้นหา
'ภูมิธรรม​' หนุนแนวคิด​ 'เศรษฐา​' ดึง 'ทักษิณ' ช่วยแก้ปัญหาประเทศ​ หลังพ้นโทษ​ มองไม่น่ามีปัญหา-สามารถให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ได้

วันที่ 22 ก.ย. ภูมิธรรม​ เวชยชัย​ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณี เศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบริก์ทีวีว่า ถ้า ทักษิณ ชินวัตร พ้นโทษก็จะให้มีบทบาทในรัฐบาลนี้ อาจจะดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ในรัฐบาลชุดนี้​ ว่า​ เป็นความเห็นของนายกรัฐมนตรี ที่อยากได้ประสบการณ์ความรู้ความสามารถ ของ ทักษิณ ก็ต้องไปดูว่ามีข้อติดขัดอะไรทางด้านกฎหมาย ซึ่งยังไม่ทราบว่าท่านจะมีปัญหาตรงนี้อย่างไร แต่คิดว่าหากคนทุกอย่างแล้ว การให้ข้อคิดเห็นข้อแนะนำ เป็นบทบาทที่ ทักษิณ ทำได้ ท่านก็พูดอยู่เสมอกลับมาคราวนี้ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย ท่านก็จะอยู่กับครอบครัว ส่วนเรื่องของประเทศชาติไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ถ้าสามารถช่วยได้ก็ยินดี และตนคิดว่าเป็นไปได้ ถ้าเป้าหมายอยู่ที่ประเทศชาติดีขึ้น เพราะการบริหารราชการแผ่นดิน ทักษิณมีประสบการณ์ สามารถบริหารมา 6 ปีต่อเนื่อง ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ราคาดาวน์ร่วมมือ และระวังความคิดเห็นจากท่านไป

เมื่อถามว่า หากเป็นแค่เป็นที่ปรึกษา แต่ไม่รับตำแหน่งทางการเมืองจะไม่เกิดความขัดแย้งอะไรใช่หรือไม่ ภูมิธรรม​ กล่าวว่า​ ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะรัฐบาลฟังเสียงของประชาชนกลุ่มต่างๆอยู่แล้ว ทักษิณ ก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ห่วงใยบ้านเมือง และสามารถให้ข้อคิดเห็นอะไรที่เป็นประโยชน์ได้


รับ​อยากคุย 'วิษณุ​' ชวนร่วม คกก.ประชามติ​

ภูมิธรรม​ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ  ว่า​ จากการให้สัมภาษ​ณ์ครั้งก่อนได้เรียนไปแล้วว่า จะมีการพูดคุยกันภายใน 1 -​2 สัปดาห์ เพื่อให้การตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเรียบร้อย​ ส่วนไทม์ไลน์การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ขอให้มีการนัดประชุมในครั้งแรกก่อน โดยในการประชุมวันแรก จะเห็นไทม์ไลน์​ วัตถุประสงค์​ ขอบเขต เป้าหมาย​ การร่างกฎหมายลูกต่างๆ​ 

"ผมหวังว่า เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น สมมุติว่ารัฐบาลครบ 4 ปี ซึ่งผมอยากเห็นการเลือกตั้งครั้งหน้า มีกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ และมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ให้สำเร็จ​ เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง" 

ภูมิธรรม​ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ตนได้มีการทาบทาม ผู้ที่มาร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าวโดยได้มีการทาบทามและพูดคุยกับทั้ง เอกชัย ไชยนุวัฒน์​ รองคนบดี​ คณะนิติศาสตร์​ มหาวิทยาลัยสยาม ,สิริวรรณ นกสวน​ สวัสดี​ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านการพัฒนาพรรคเพื่อไทย ,นิกร​ จำนงค์​ ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคชาติไทยพัฒนา​ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ให้ความสนใจ แต่ก็ต้องพูดคุยในรายละเอียด เพราะอยากให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมเกิดความสบายใจ เพราะอยากให้มีการพูดคุยที่มีบทบาท และทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย​ ส่วน พงษ์เทพ​ เทพกาญจนา อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค​เพื่อไทย​ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทาบทาม

เมื่อถามว่า จะมีการทาบทาม วิษณุ​ เครืองาม​ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายหรือไม่ ภูมิธรรม​ ระบุว่า กับ วิษณุ​ ยังไม่มีโอกาสได้คุย แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากจะคุย เพราะท่านเป็นผู้รู้ เป็นคนที่เชี่ยวชาญในกฎหมายมากพอสมควร รวมถึงทั้งหลายท่านที่เคยมีบทบาทเราจะได้เอาความคิดเห็น หรือหากยังไม่มีโอกาสคุยเวลาที่มีประชุมก็สามารถปรึกษาหารือกันได้

เมื่อถามว่า จะมีการเชิญคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 60 มาร่วมด้วยหรือไม่ ภูมิธรรม ระบุว่า ตนยินดีต้อนรับทุกคน แต่ต้องคุยกันในรายละเอียดและกรอบแนวทางว่าเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า ได้มีการทาบทามตัวแทนพรรคก้าวไกลเข้าร่วมคณะกรรมการชุดดังกล่าวหรือไม่ ภูมิธรรม ระบุว่า พรรคการเมือง ตนพยายามเชิญมาร่วมให้มากที่สุด แต่เรามีข้อจำกัดเรื่องปริมาณจำนวนคน เมื่อลิสต์รายชื่อ ก็เกิน 30 คน ใหญ่มากเกินไปก็ทำงานลำบาก แต่ถ้าไม่ได้เป็นคณะกรรมการ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วม พบปะพูดคุยแสดงความคิดเห็น

เมื่อถามถึงงบประมาณในการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับประมาณเท่าใดนั้นได้ ภูมิธรรม​ กล่าวว่า ในส่วนของการทำประชามติ ความตีความตามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประมาณ 3-4 ครั้ง โดยจะใช้งบประมาณครั้งละ ประมาณ 3-4 พันล้านบาท แต่ตนคิดว่าอยู่ในแนวทางที่พูดคุยกันให้ชัดเจน ต้องอาศัยความคิดเห็นจากคณะกรรมการชุดดังกล่าว เราพยายามจะทำให้การทำประชามติน้อยครั้งที่สุด อันไหนสามารถควบรวมได้ก็จะทำ โดยยึดแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไว้ และหากเราสามารถประหยัดงบประมาณได้มากที่สุดก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะหากทำครบ 3-4 ครั้งตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะใช้งบประมาณสูงถึงหมื่นล้าน

เมื่อถามว่า มองเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ที่ลงโทษ พรรณิการ์​ วานิช​ ตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตอย่างไรนั้น และพรรคก้าวไกลก็ออกมาระบุว่า​ ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ภูมิธรรม​ กล่าวว่า​ อะไรที่เป็นประชาธิปไตยเราทำได้หมด เว้นการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 ในแต่ละเรื่องที่เกิดขึ้นเราต้องดูว่า เจตจำนงค์ที่จะควบคุมดูแลนักการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องไปดูว่าไปละเมิด และมีความเที่ยงตรง ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งก็ต้องไปดูในรายละเอียด

เมื่อถามว่า ที่มีการวิจารณ์ว่าประมวลกฎหมาย ที่ออกโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มาบังคับใช้กับสส. อาจจะไม่ถูกหลัก หรือกรณีที่ศาลตัดสินว่าไม่ผิดแต่กลับผิดหลักจริยธรรมไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น​ ภูมิธรรม​ กล่าวว่า ต้องดูเป็นรายกรณี แต่การอิงศาลรัฐธรรมนูญในเบื้องต้นก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่อะไรที่เป็นปัญหามากเกินไป คนในกลุ่มวิชาชีพที่เราเชิญมา หรือรับฟังมา ก็จะเป็นคนให้ความเห็นเองว่า เรื่องไหนโอเค หรือเรื่องไหนต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอะไร ตนคิดว่า หากระดมความคิดเห็นได้กว้างขึ้น​ รัฐธรรมนูญก็จะไม่มีปัญหา เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และทุกฝ่ายต้องยอมรับ และผ่านให้ได้ และตนคิดว่าถ้ารัฐธรรมนูญผ่านได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยในลำดับใด มันก็จะทำให้โอกาสและบรรยากาศของประเทศพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น