วันที่ 9 มี.ค. 2564 สถาบันทิศทางไทย จัดเสวนาเรื่อง รัฐธรรมนูญ 2560 ปราบโจร โดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารํฐ สมชาย แสวงการ ส.ว. และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี ร่วมเสวนา
ทั้งนี้ ไพบูลย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมวินิจฉัยคำร้องที่ตนเองได้ขอให้พิจารณาว่า รัฐสภามีอำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ โดยระบุว่า หากแก้ไขไม่ได้ ยังมีแนวทางที่แก้ไขเป็นรายมาตราได้ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบว่าจะแก้ไขอะไร ซึ่งดีกว่าการเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยตนมองว่าผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในทางที่ตกไปทั้งฉบับ และการลงมติในวาระที่สามต้องยุติ เพราะรัฐสภาไม่มีอำนาจพิจารณาวาระสาม ที่กำหนดให้พิจารณาทั้งฉบับ
แต่หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าทำได้ ต้องนำไปสู่การลงมติวาระสาม โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา โดยต้องมีเสียงของฝ่ายค้านและส.ว. ร่วมลงมติเห็นชอบด้วย และเมื่อรัฐสภาเห็นชอบต้องนำไปลงประชามติ
"หากไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจ รัฐสภาไม่มีอำนาจที่จะทำ อย่างไรก็ดีมีคนปลุกกระแสว่าญัตติที่ผมเสนอเพราะต้องการล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อเท็จจริงแล้วคือการล้มการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เพราะผมมองว่าผิดกฎหมาย ให้มี ส.ส.ร.จะสร้างความขัดแย้งของสังคมไทย หากจะแก้รัฐธรรมนูญควรให้เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภา” ไพบูลย์ ระบุ
ขณะที่ สมชาย ระบุว่าการแก้ไขรายมาตราสามารถทำได้ โดยต้องบอกว่ายกเลิกมาตราใด และต้องเขียนรายละเอียดใหม่อย่างไร แต่สิ่งที่ต้องการแก้ไขทั้งฉบับ เพราะไม่ต้องการบอกประชาชนให้รู้ว่าจะแก้ไขประเด็นใดบ้าง ตนเชื่อว่าความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีนักการเมืองที่หนีคดีต้องการล้มกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีการพบกันครึ่งราคาแน่นอน หากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าทำไม่ได้ เชื่อว่าจะไม่มีโหวตวาระสาม ส่วนหากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าทำได้ ต้องโหวตวาระสามที่บอกว่า ส.ว.เสียงข้างน้อย 84 เสียง คว่ำอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ ซึ่งตนไม่เคยบอกว่าจะคว่ำ แต่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และส่วนตัวยังไม่เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2560
ด้าน นพ.วรงค์ กล่าวโดยเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้แก้ไขเป็นรายมาตราเท่านั้น และไม่ให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ อีกทั้งการกำหนดให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองต้องการได้คนของตัวเองมายกร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกลุ่มของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
“การล้มรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ มีผลล้มกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ที่มีผลนำไปสู่การนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองและกลับเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง และหากวันที่ 11 มี.ค.เกิดวิกฤตประชาชนต้องออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญ" นพ.วรงค์ ระบุ