พบไดโนเสาร์บินได้รูปร่างประหลาดในจีน ขนาดตัวเท่าพิราบ มีปีกคล้ายค้างคาว ถือกำเนิดขึ้นไม่นานก่อนนกตัวแรกของโลก
ไดโนเสาร์ตัวเท่านกพิราบ มีชื่อว่า อี่ชี แปลว่า “ปีกประหลาด” เคยมีชีวิตในยุคจูราสสิกเมื่อ 160 ล้านปีก่อน หรือราว 10 ล้านปีก่อนที่จะมีนกตัวแรก ที่เรียกว่า อาร์คีออพเทอริกซ์
เจ้าตัวนี้ถือเป็นญาติกับนก แต่ที่ปีกมีเยื่อผิวหนังคล้ายปีกของสัตว์เลื้อยคลานบินได้จำพวกเทอโรซอร์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน และคล้ายกับปีกของค้างคาว ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในอีก 100 ล้านปีต่อมา ปีกของอี่ชีไม่ได้มีขนอย่างนก
ปีกแต่ละข้างถูกขึงไว้ด้วยมือที่มีกรงเล็บสามนิ้ว และก้านกระดูกที่ยื่นออกจากข้อมือ มีนิ้วหนึ่งยาวกว่านิ้วอื่นๆ ขนที่หัว ลำคอ และแขนขา มีลักษณะเป็นเส้น ผิดแผกกับขนนก
คอร์วิน ซัลลิแวน สถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและดึกดำบรรพมานุษยวิทยา ในกรุงปักกิ่ง บอกว่า ดูจากลักษณะโครงปีกแล้ว อี่ชีไม่น่ากระพือปีกบินได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่อาจร่อนได้ หรือร่อนพลางกระพือปีกพลาง
เขาบอกว่า อี่ชีเป็นผลของการทดลองโดยธรมชาติในวิวัฒนาการจากไดโนเสาร์สู่นก การค้นพบครั้งนี้นับว่าน่าตื่นเต้นและเหนือความคาดหมาย
ชาวนาในมณฑลเหอเป่ยได้ค้นพบฟอสซิลของมัน ซึ่งปรากฏเนื้อเยื่อของปีกให้เห็น แต่ซากดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นรูปร่างของปีกทั้งหมด สันนิษฐานว่าไดโนเสาร์ชนิดนี้อาศัยตามต้นไม้ กินกิ้งก่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แมลง และอาจรวมถึงผลไม้ เป็นอาหาร
รายงานการค้นพบนี้ ตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature.
Source: Reuters
Image: Dinostar Co. Ltd
Video: nature