ไม่พบผลการค้นหา
“เว็บไซต์วอยซ์ทีวี” ชวนทำความเข้าใจการทำงานขององค์ความรู้ด้านโหราศาสตร์ เรามาพูดคุยกับ “รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์” ผู้เขียน “โหราศาสตร์กับการตัดสินใจในทางการเมืองของไทย” ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Claremont Graduate School เมื่อปี 2534

การเผชิญกับความไม่แน่นอน กลับกลายเป็นสิ่งที่ต้องพบเจออย่างแน่นอนในชีวิตทุกคน ทั้งคนที่มีอำนาจและคนที่ไม่มีอำนาจ ในความไม่แน่นอนนี้เององค์ความรู้ด้านโหราศาสตร์ได้เยียวยาจิตใจของคนในชั่วขณะ เพื่อให้เดินหน้าต่อได้ในแต่ละจังหวะเวลา 

“เว็บไซต์วอยซ์ทีวี” ชวนทำความเข้าใจการทำงานขององค์ความรู้ด้านโหราศาสตร์ เรามาพูดคุยกับ “รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์” ผู้เขียน “โหราศาสตร์กับการตัดสินใจในทางการเมืองของไทย” ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Claremont Graduate School เมื่อปี 2534

อาจารย์ชลิดาภรณ์ เล่าถึงที่มาในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับโหราศาสตร์ว่า สมัยที่ยังเรียน ถ้าเรียนแบบฝรั่งจะคิดว่าความรู้ด้านโหราศาสตร์น่าจะ Die down มากกว่า แต่ปรากฏว่าช่วงที่เรียนปริญญาเอก อาชีพหมอดูขยายตัวมากขึ้น ทำให้อยากรู้ว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ในที่สุดพบว่าถึงอย่างไรมนุษย์ก็มีความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่มั่นคง อยากได้สิ่งที่มั่นใจมั่นคงเพื่อประครองใจตัวเอง การตอบโจทย์ความไม่มั่นคงนี้ บางคนใช้นักวิชาการ บางคนใช้หมอดู เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่างมงาย ก็สรุปได้ไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะฟังก์ชั่นเป็นคนละชุด 

สำหรับการจะทำความเข้าใจฟังก์ชั่นหรือการทำหน้าที่ของโหราศาสตร์ได้อย่างไรนั้น นักวิชาการผู้นี้บอกว่า โหราศาสตร์อยู่คู่กับสังคมมาตั้งแต่สมัยโบราณเป็นเรื่องของขวัญกำลังใจ แต่ไม่ใช่คำตอบของการตัดสินใจอย่าง 100% 

“โหราศาสตร์เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งในการสร้างขวัญกำลังใจ การสร้างบ้าน สร้างเมือง ก็ต้องใช้ฤกษ์ มีฟังก์ชั่นอย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้บางคนไปวิจารณ์คนอื่นว่า ทำไมไม่ใช้เครื่องมืออย่างอื่น เช่น นักวิชาการ นักวิเคราะห์? แต่อย่าลืมว่าถ้าไปหานักวิเคราะห์ ก็จะได้ฟังการวิเคราะห์แนวโน้มแบบให้ความรู้สึกแห้งๆ บอกได้เพียง “ความน่าจะเป็น” ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากหมอดู ขณะที่หมอดูจำนวนหนึ่งสามารถอธิบายให้คนผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤต ไปได้ ไม่ว่าจะอธิบายเป็นกรรมเก่าหรือดวงดาว รวมถึงมีการให้แก้เคล็ดเพื่อความสบายใจ ประเด็นที่สำคัญคือหากการแก้เคล็ดหรือการตัดสินใจตามหมอดูเกิดขึ้นกับบุคคลในระดับปัจเจกที่ไม่มีอำนาจทางการเมือง ก็จะไม่มีปัญหาส่งผลกระทบต่อคนอื่นมาก 

ปัญหาคือหากผู้มีอำนาจทางการเมืองตัดสินใจตามโหรทั้งหมด ผลก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะการตัดสินใจของคนที่มีอำนาจทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากมาย แม้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากพวกเขาจะใช้โหรเนื่องจากการตัดสินใจทุกอย่างมีความเสี่ยงสูง ผู้ครองอำนาจบางคนใช้นักวิชาการหรือนักวิเคราะห์ในการจัดการความเสี่ยง แต่ต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าจะใช้นักวิชาการ นักวิเคราะห์ หรือโหร การตัดสินใจต้องเป็นของคุณเองซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง หมอดูบอกได้เพียงแนวโน้มจะเป็นอย่างไรความเสี่ยงอาจจะเป็นอย่างไร แต่โลกนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของมนุษย์ ความเป็นไปจำนวนมากจึงไม่ได้ถูกกำหนดโดยกรรมเก่าหรือดวงดาวทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์” 

อาจารย์ชลิดาภรณ์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในขณะที่หลายคนมองว่าความเชื่อหางโหราศาสตร์ไม่เข้ากับยุคสมัย แต่หากพิจารณาในแง่ความรับรู้ของสังคมแล้ว คำทำนายบางประการก็นำไปสู่การกำหนดทิศทางความคิดของสังคมได้ด้วย จึงเป็นเครื่องมือกำหนดกระแสสังคมในบางวาระ

“ถ้าเชื่อในวิทยาศาสตร์ ก็จะรู้สึกว่าความรู้เรื่องโหราศาสตร์ล้าหลัง แต่เมื่อมาดูฟังก์ชั่นหรือการทำหน้าที่ของโหราศาสตร์ ก็จะพบว่าแทบจะไม่แตกต่างจากวิธีอื่นในการจัดการความเสี่ยงอื่นๆ เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์ คือเพิ่มโอกาสความสำเร็จและลดโอกาสความล้มเหลว วิธีการตัดสินใจโดยใช้คำทำนายเป็นฐานก็มีในต่างประเทศ หมอดูฝรั่งไปไกลถึงขั้นทำเป็นสถิติ  แต่หมอดูไทยบางคนไม่อิงกับสถิติ ทำนายตามใจคนฟังว่าอยากฟังแบบไหน หรือไม่ก็ทำนายตามกระแสสังคม

อิทธิพลของหมอดู บางครั้งอาจจะโยนหินถามทาง หรือชี้นำวิธีคิดของคน สร้างความตึงเครียด เพราะเป็น super natural เหนือกว่าหลักฟิสิกส์ที่คุ้นเคย ยิ่งไปกว่านั้นสำนักโหรบางสำนัก กลายเป็นที่รับข้อมูลและเก็บข้อมูล เพราะแต่ละคนที่เข้าไปหาก็ต้องบอกเรื่องราวของตัวเอง เวลาคนไปดูหมอก็เพราะมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ถ้าเป็นคนมีชื่อเสียงไปดู หมอดูก็สามารถประเมินจากคำถามกลายเป็นการเก็บข้อมูล มีข้อมูลจากทุกฝ่าย ฉะนั้นเราจึงต้องดูว่าแต่ละสำนักกำลังทำอะไร อย่าไปมองว่าไร้สาระ” 

สำหรับความรู้ด้านโหราศาสตร์กับชนชั้นนำไทย อาจารย์ชลิดาภรณ์บอกว่า ไม่ใช่เพียงสำนักหมอดูเท่านั้นที่มีความรู้ด้านการทำนาย เพราะแท้จริงแล้วชนชั้นนำจำนวนไม่น้อยก็ศึกษาโหราศาสตร์เพื่อทำนายเอง เพราะรู้สึกไม่ไว้ใจ “คนนอกกลุ่ม” และแม้ว่าจะมีการกำหนดฤกษ์จากความรู้ทางโหราศาสตร์แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าการปฏิบัติการทางการเมืองจะสามารถเป็นไปตามฤกษ์ที่วางไว้เสมอไป โดยเฉพาะการยึดอำนาจรัฐประหารซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายส่วนและคนหลายฝ่าย

“ในงานวิจัยพบว่าชนชั้นนำของไทยไม่ได้มีเพียงผู้ที่ใช้หมอดู แต่บางคนดูดวงได้เอง ผู้นำจำนวนหนึ่งทำนายเก่ง สาเหตุที่ต้องดูดวงเองเพราะไม่ไว้ใจคนอื่น ทหารหลายคนไม่ไว้ใจหมอดูเพราะเกรงว่าจะถูกฝ่ายตรงข้ามวางสายลับไว้ตามสำนักหมอดู นอกจากนั้น ชนชั้นนำที่ดูดวงเองจะมีลักษณะเป็นกลุ่มก๊วน มีหมอดูอยู่ในกลุ่มตัวเอง ไม่ใช้หมอดูนอกกลุ่ม แล้วคนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจอาจจะเป็นคนที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร

เวลาจะมีการยึดอำนาจรัฐประหาร ก็จะมีการขอฤกษ์หมอดู เมื่อหมอดูให้ฤกษ์มา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ตามฤกษ์เสมอไป เพราะจะมีองค์ประกอบอื่นๆ หรือคนจากหลายส่วนเข้ามาเป็นปัจจัยให้ต้องยึดอำนาจก่อนฤกษ์ที่วางไว้ ดังนั้น คนไทยจึงมีคำว่าฤกษ์ดีคือฤกษ์สะดวก แต่กรณีที่ทำการยึดอำนาจก่อนฤกษ์แล้วผลออกมาล้มเหลวก็มี เช่น เกิดเหตุร้ายมีความสูญเสียหลังจากนั้น 

เมื่อชนชั้นนำตัดสินใจจากคำทำนายของโหรผู้ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงเป็นไปได้ว่าบางพิธีกรรม หรือบางคำทำนายจากโหรบางคนที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ อาจเป็นความจงใจที่จะสื่อสารไปถึงคนบางกลุ่ม แม้ว่าในสายตาคนที่เชื่อแบบสมัยใหม่ อาจจะบอกว่างมงาย”

ส่วนการเติบโตของความเชื่อด้านโหราศาสตร์กับความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกลับกลายเป็นเป็นสิ่งที่สามารถเดินไปด้วยกันได้ โดยไม่ได้มีเพียงมุมที่เดินสวนทางกันเสมอไป อาจารย์ชลิดาภรณ์ บอกว่า “หมอดูก็ใช้เครื่องมือใหม่ๆ เหมือนนักวิเคราะห์หุ้นใช้เครื่องมือเหล่านี้ บางคนอยากดูดวงนายกรัฐมนตรี แต่ไม่รู้ฤกษ์ตกฟาก ก็ใช้คอมพิวเตอร์หมุนว่านายกรัฐมนตรีแต่ละคน ลักขณาอยู่ไหน ถ้าไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ ก็คงเสียเวลาคำนวณเอง” 

ที่น่าสนใจคือข้อแตกต่างในการทำนายของโหรแต่ละคนคือการตีความตามความเข้าใจของตนเองและการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ตามประสบการณ์ของผู้ทำนาย ดังนั้น การใช้วิจารณญาณของผู้รับฟังจึงเป็นสิ่งจำเป็น 

“เวลาดูดวงเมือง ถ้าดูจากดวงดาว ก็มีปัญหาว่า ดาวแต่ละดวงนั้นหมายถึงใคร หรือเหตุการณ์ต่างๆ หมายถึงอะไร ถ้าหมอดูแต่ละคนจะฟันธงอย่างเป็นรูปธรรมก็ควรจะบอกว่าเป็นการตีความของเขาเอง เพราะตำราการดูดวงเมืองจริงๆ จะบอกได้กว้างๆ เช่น  เดือน มี.ค.- เม.ย. จะมีการบาดเจ็บล้มตาย ก็อาจจะมีความเป็นไปได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุใหญ่ หรืออย่างอื่น การตีความจึงเป็นการใช้ความเห็นอย่างมาก ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของหมอดูและการโยงเรื่องราวในความรับรู้ของหมอดู
 
ส่วนการตีความว่าบุคคลสำคัญคนไหนเป็นดาวดวงไหน ก็เป็นเรื่องลำบาก เช่น การจะบอกว่า พฤหัส หมายถึงใคร หรือ อาทิตย์ หมายถึงใคร ในอดีตกับปัจจุบันอาจจะมีความหมายแตกต่างกัน  ส่วนใหญ่บอกว่า พฤหัส เป็นรัฐบาลหมายถึงผู้ครองอำนาจรัฐ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตีความของหมอดู”

อาจารย์ชลิดาภรณ์ กล่าวด้วยว่า เวลาผู้มีอำนาจทางการเมืองต้องการหาคำตอบจากคำทำนาย เราต้องทำความเข้าใจด้วยว่าการหาคำตอบเพื่อความอยู่รอดนั้น หมายถึงความอยู่รอดของตนเองหรือความอยู่รอดของสาธารณะ
 
“อีกประเด็นสำคัญที่ควรตั้งข้อสังเกตคือ คนที่มีอำนาจเวลาไปหาหมอดูจะนึกถึงตัวเองหรือคิดถึงสาธารณะ คือ เขาจะเอาตัวเองรอดหรือสังคมรอดกันแน่ เช่น การทำพิธี เป็นการทำเพื่อประเทศพ้นวิกฤตหรือเพื่อตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป

จากประสบการณ์ส่วนตัวเท่าที่เคยเห็นคือ คนครองอำนาจจะนึกถึงตัวเองก่อน ดังนั้น สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ การประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลว วัดจากอะไรกันแน่ เป็นความสำเร็จสำหรับตัวเขาเองหรือสำหรับสาธารณะ?”

อาจารย์ชลิดาภรณ์ ย้ำอีกครั้งว่า ถ้าปัจเจกชนคนธรรมดาอยากจะเชื่อหมอดู คนคนนั้นก็รับผลที่จะตามมาไปเอง แตกต่างจากกรณีคนที่มีอำนาจเพราะการตัดสินใจของผู้มีอำนาจจะกระทบต่อสุขภาวะของคนจำนวนมากซึ่งหนีผลกระทบนั้นไม่ได้ แม้การฟังคำทำนายจะเป็นเรื่องเข้าใจได้และมีฟังก์ชั่นอย่างที่กล่าวมาแล้ว แต่ในที่สุดการทำนายก็เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่สิ่งที่จะมาตัดสินใจทั้งหมดให้ผู้มีอำนาจ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาหลายด้าน

ส่วนการทำนายว่า การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปนั้น อาจารย์ชลิดาภรณ์ บอกว่า ส่วนตัวเห็นว่า การทำนายของโหรบางคนที่บอกว่าในแต่ละปีจะมีเกณฑ์เลือกตั้งช่วงไหนบ้าง ดูรับฟังได้มากกว่า 

สำหรับภาพลักษณ์ของผู้นำแต่ละยุคกับการทำพิธีกรรมทางโหราศาสตร์ จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของสาธารณะอย่างไร อาจารย์ชลิดาภรณ์ มองว่า หากเป็นผู้นำที่มีภาพลักษณ์ความเป็นสมัยใหม่อยู่แล้ว หมายความว่ามีมิติอื่นที่ประชาชนให้ความมั่นใจได้ ความรู้สึกของประชาชนจะไม่ได้วิตกกังวลมากเท่ากับผู้นำที่ดูย้อนยุคซึ่งประชาชนไม่ได้มีความมั่นใจในตัวผู้นำอยู่แล้ว
  
“เคยมีกรณีแกนนำผู้ชุมนุมบางคนทำพิธีกรรมสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ชุมนุมฝ่ายตัวเอง แม้จะโดนฝ่ายตรงข้ามโจมตี แต่ฝ่ายเดียวกันอาจจะยังไม่หมดความนิยมในตัวเขา หากยังมีความมั่นใจด้านอื่นอยู่ด้วย... ส่วนผู้นำทางการเมืองบางคนมีภาพลักษณ์ดูเป็นคนสมัยใหม่อยู่แล้วพอไปทำพิธีกรรมตามโหราศาสตร์ ประชาชนอาจจะแค่รู้สึกแปลกๆ แต่ก็ยังมีความมั่นใจในตัวผู้นำจากภาพลักษณ์ด้านอื่นอยู่ ขณะที่ผู้นำซึ่งมีบุคคลิกดูย้อนยุค เมื่อมีภาพพิธีกรรมทางโหราศาสตร์ก็อาจจะทำให้คนรู้สึกไม่มั่นใจมากๆ ไม่เพียงรู้สึกแปลกๆ เพราะเดิมทีก็รู้สึกไม่มั่นใจในตัวผู้นำอยู่แล้ว ยิ่งไปพึ่งหมอดู พึ่งไสยศาสตร์ ประชาชนยิ่งรู้สึกไม่มั่นใจมาก สะท้อนความนิยม (Popularity) ในตัวผู้นำ เพราะประชาชนจะตั้งคำถามว่ากำลังเอาชีวิตตัวเองไปไว้ในมือใคร ดังนั้น ผู้นำที่ใช้ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ จะถูกตีความอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนคิดอย่างไรกับผู้นำคนนั้น สะท้อนภาพของตัวประชาชนเองด้วย” อาจารย์ชลิดาภรณ์กล่าว   

ภาพ/เรื่อง ฟ้ารุ่ง ศรีขาว 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog