ไม่พบผลการค้นหา
วิวัฒนาการของคำว่า “ดอกทอง”

“อีด๊อกกก...” แค่ยินเสียงแว่วดังมาแต่ไกล ฉันก็หันขวับโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องขานชื่อ เพราะรู้สำนึกทันทีว่าเสียงนั่นเรียกฉันแน่ๆ

“ดอก ปล่อยฉันให้รอตั้งนาน” ฉันทักกลับทันทีที่เพื่อนสนิทวิ่งกระหืดกระหอบเข้ามา

“รถติดมากกกกกค่ะ อีดอก ประเทศกรุงเทพ ดุจเทพสร้าง”

ฟังไปฟังมา เหมือนคำว่า “ดอก” จะกลายเป็นคำสร้อยไปสะแล้วในวงสนทนา girl talk, gay talk เพื่อนฝูงเก้งกวางบ่างชะนีที่สนิทสนมรอบกายฉัน แถมบางครั้งก็ถูกนำมาใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 เรียกคู่สนทนาด้วย ขณะที่วงสนทนาแบบ Guy Talk ของพวกผู้ชายไม่นิยมกัน

บางทีอาจเป็นเพราะเพื่อนๆติดนิสัยฉันที่เป็นมือวางอันดับหนึ่งเรื่องผรุสวาท ชอบพูดจาหยาบคายเป็นนิจศีล ทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอกว่า “ดอกทอง” เป็นคำที่สังคมตีตราว่าหยาบ กักขฬะ เที่ยวไปพูดในที่สาธารณะ พ่อแม่ใครได้ยินคงอุ้มลูกหนี ไม่ก็ถูกใครสักคนหันมาค้อนขวับ มองตาเขียวปั๊ดตั้งแต่หัวจรดตีน

“ดอก” กร่อนมาจาก “ดอกทอง” ซึ่งมันก็เป็นคำหยาบมาตั้งแต่ฉันยังไม่เกิด และความหมายมันก็คงเดิมไม่เคยเปลี่ยนมาเป็นศตวรรษแล้วในสังคมปิตาธิปไตย (Patriarchy) ซึ่งพจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ. 2547อธิบายว่า เอาไว้ใช้ด่าผู้หญิงที่สังคมตีตราว่าใจง่ายในทางประเวณี เช่นเดียวกับ อักขราภิธานศรับท์  โดย Dr. D Bradley พ.ศ. 2416 ที่กล่าวว่าเป็นคำหยาบด่าหญิง และสะพะจะนะพาสาไท  โดย Mgr.Jean-Baptiste Pallegoix  พ.ศ. 2397 ที่อธิบายว่า (อี่)ดอกทอง เท่ากับ Courtesan

แม้ไม่รู้ที่ไปที่มาว่าทำไม “ดอกทอง” ถูกใช้เป็นคำด่า เพราะรูปศัพท์ไม่ได้ชวนให้น่าด่าเลย ออกจะดู สวยงามน่าเก็บสะสม แลกเปลี่ยนซื้อขาย เป็นเกียรติยศประดับบารมีหรือนำมาถวายเป็นเครื่องบรรณาการมากกว่า นักนิรุกติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์เองก็เสนอหลายทฤษฎีที่มา ตั้งสมมุติฐานมากมาย บ้างก็ว่า sex worker ในอดีตชอบนุ่งผ้าถุงลายดอกไม้สีทอง จนราวกับเป็นuniform หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 สถานเริงรมย์ซ่องนางโลมที่โด่งดังย่านสำเพ็ง มีต้นทองกวาวออกดอกไสวด้านหน้าร้าน จนเรียกกันว่า “ดอกทอง” บ้างก็ว่าเป็นคำยืมจากภาษาจีนแต้จิ๋ว "หลกท่ง" ที่แปลตามตัวอักษรว่า "แดงเหมือนเหล็กเผาไฟ" อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้โต้แย้งว่า แท้ที่จริงคนจีนในไทยต่างหากที่ยืมคนไทยไปใช้ด่าลูกหลานสาว ไปจนถึงสมมุติฐานว่า มาจากลายดอกสีเหลืองสกาวบนผิวเหี้ย ซึ่งก็ดูไม่เชื่อมโยงกับเรื่องเพศอะไร (อ่านเพิ่มเติม: ปรามินทร์ เครือทอง, อ่านมโนห์รา : สงสัย ประมาณไหนคือ “ดอกทอง” ?. อ่าน (ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2555), น. 69-78.)

มากไปกว่านั้นคำว่า “ดอกทอง” ก็เป็นคำด่าเก่าแก่และมีมานานอย่างน้อยที่สุดสมัยอยุธยา ในบทละครนอกเรื่อง “มโนห์รา” ใน “บทละครครั้งกรุงเก่า เรื่องนางมโนห์รา” ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ก็ด่ากันดอกทองอย่างเมามันทั้งแม่ทั้งลูก และกฎหมาย (ซึ่งต่อมาในพ.ศ. 2473 ถูกเรียบเรียงรวบรวมและเรียกโดย อ. ปรีดี พนมยงค์ ว่า) “ตราสามดวง” ในพระไอยการลักษณวิวาทตีด่ากัน พ.ศ. 1992 ซึ่งเป็นสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ในมาตรา 36 ที่บรรจุ “อี่ดอกทอง” ในฐานะคำหมิ่นประมาท สามารถฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมได้

แม้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ (ซึ่งอันที่จริงก็ไม่จำเป็นต้องหาข้อสรุป) แต่ “ดอกทอง” ก็ช่วยบันทึกประวัติศาสตร์เสี้ยวหนึ่งของสังคมไทย ขณะเดียวกันก็มีวิวัฒนาการในตัวของมันล้อไปตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันไม่เพียงถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อเพิ่มอรรถรสในบทสนทนา แต่ยังใช้ในกลุ่มเพื่อนสนิทสนม พอๆกับคำว่า “กู” “มึง” จนกลายเป็นคำกระชับมิตร สมานฉันท์ แสดงถึงเครือข่ายของผู้มีอัตลักษณ์ร่วมกันเช่นเพศสภาพ เหมือนที่ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการด้านความหลากหลายทางเพศเคยวิเคราะห์ไว้ แล้วฉันก็ครูพักลักจำมาอีกที ซึ่ง “ดอก” หรือ “ดอกทอง” ก็เป็นศัพท์ที่กลุ่มเก้งกวางใช้ในวงกว้าง

แต่เนื่องจากทั้ง “ดอกทอง” และ “ดอก” ยังคงอยู่ในร่มของคำที่ถูกตีตราว่าหยาบคาย มันจึงต้องดิ้นรนในการใช้ ทั้งมีการนำคำประสมอื่นมาใช้แทน เช่น “อีดอกจิก” “สุวรรณมาลี” และถูกตั้งใจแปรรูปออกเสียงหรือพิมพ์ให้เพี้ยนเป็น “ดกทง”, “ดวก” หรือ “ฏอก” แทน เช่นเดียวกับ “คำหยาบ” อื่นๆ อย่าง “สัตว์” ที่เราเริ่มนิยมพิมพ์คำว่า “สัส”  แทน เพียงแต่ “อีดอก” มีวิวัฒนาการไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการสลับพยัญชนะเป็น “ดีออก” (แต่นั่นก็ทำให้คำว่า “ดีออก” ที่มีอยู่ก่อนแล้วกลายเป็นคำด่า ในเวลาเดียวกัน) กลายเป็นวัฒนธรรมการพูดที่เข้ามากำหนดวัฒนธรรมการเขียน

มันจึงกลายเป็นพัฒนาการทางภาษาเพื่อ pasteurize คำหยาบ ให้ใช้สนุกและง่ายขึ้นตามโอกาสต่างๆ เหมือนจาก “ชู้” มาสู่ “กิ๊ก” ด้วยการแปรตัวสะกดและการออกเสียงให้สามารถพิมพ์หรือพูดสื่อสารกันได้ไม่เคอะเขิน แพร่หลาย จนเริ่มคุ้นชินกับมัน และรู้สึกเหมือนกำลังพูดคำสุภาพอยู่

แต่ใช่ว่าใช้จำนวนประชากรใช้คำเหยียดเพศ (ไปจนถึงเหยียดสีผิว, ชาติพันธุ์, dehumanize)กันเยอะแล้ว มันจะชอบธรรมในการใช้ ทว่าดอกทองก็เปรียบไม่ได้กับคำเหยียดอื่นๆ เนื่องจากมันถูกใช้ในหน้าที่และความหมายที่เกินไปจาก origin ที่ใช้จัดระเบียบเพศวิถีเฉพาะผู้หญิง ไม่ให้ผู้หญิงมีเสรีภาพต่อการตอบสนองความต้องการทางเพศ เพราะมันถูกใช้ในบริบทในยุคที่ผู้หญิงหลายคนก้าวข้ามบรรทัดฐานทางเพศที่เป็นปิตาธิปไตย สามารถมีอำนาจตัดสินใจได้ด้วยตนเองว่าจะนอนกับใคร จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะเอามาตัดสินคุณค่าความเป็นมนุษย์อีกต่อไป

“ดอกทอง” จึงไม่ใช่คำเหยียดเพศอีกต่อไปในพจนานุกรมส่วนบุคคลของใครหลายคน เผลอๆอาจจะกลายเป็นคำที่ empower ตัวเองด้วยซ้ำที่ประกาศว่าอิสรภาพจากกรอบวาทกรรมทางเพศแบบเก่าอันเต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติและสองมาตรฐาน ที่ผู้หญิงจะต้องรักนวลสงวนตัว ตรงข้ามกับผู้ชายที่มีเสรีภาพทางเพศมากกว่า ถูกควบคุมกำกับทางศีลธรรมทางเพศน้อยกว่า

นอกเสียจากว่าปากไว เผลอไผลด่าชาวบ้านชาวช่อง เพราะพอตอนเลือดขึ้นหน้าก็สรรหาขุดมาสาดได้หมดแหละ หมูเห็ดเป็ดไก่ ช้างมาวัวควาย สลิ่มฝอยทองลอดช่อง ดอกทองกวาว ดอกซ่อนกลิ่น หวังว่าจะให้เจ็บใจเท่านั้น แต่ถ้าโดนด่าขึ้นมาเองจะเจ็บใจจี๊ดหรือไม่นั่นก็อีกเรื่องนึง ขึ้นอยู่กับว่าก้าวข้ามบรรทัดทางเพศสังคมกระแสหลักได้แค่ไหน

ด้วยประการฉะนี้ ผู้ที่ใส่ใจกับความเท่าเทียมทางเพศหรือเรียกตัวเองเป็น feminist บ้าง หรือผู้หญิงด่าเพื่อนว่าอีดอกทอง แรด ร่าน, เก้งกวางด่าเพื่อนว่า “อีตุ๊ด” หรือเรียกเพื่อนสาวว่า “ชะนี” จึงถูกตั้งคำถามว่าพวกนาง internalized homophobia หรือ internalized sexist หรือไม่ ?

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของคำด่า มันไม่ได้อยู่ที่คนด่า หรือความรู้สึกคนถูกด่าแล้วรู้สึกเจ็บแค้น ว่ามีความคิดความอ่านเช่นไร หากแต่มันน่าสนใจตรงที่คำด่ามันสะท้อนว่าเราอยู่ในสังคมประเภทไหนมีการเลือกปฏิบัติ ความเหลื่อมล้ำอย่างไรผ่านไวยากรณ์ภาษา  เช่นเป็นสังคมที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์เหนือกว่าอมนุษย์ (อีผี เปรต ควาย อีหมา), มีการจัดระเบียบเรื่องเพศที่ควบคุมกำกับเฉพาะเพศใดเพศหนึ่งหรือไม่ (แรด ร่าน ดอกทอง หยำฉ่า ที่มักใช้ด่าผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชายแต่ไม่ค่อยมีคำด่าเรื่องเพศเฉพาะเพศชาย), รังเกียจความหลากหลายทางเพศ (ตุ๊ด กะเทย วิปริตผิดเพศ ลักเพศ), เชื่อว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งสกปรก, เหยียดสีผิว (ดำตับเป็ด ไอ้มืด), รังเกียจความอ้วน (อีอ้วน อีตูดใหญ่ ฮิปโปชช้างน้ำ ผีเสื้อสมุทร หมีควาย), เหยียดช่วงวัย (อีแก่ ไอ้หงอก อีเหี่ยว), จัดระดับชนชั้นผ่านอาชีพ (กะหรี่,ขี้ข้า)

 …ด้วยเหตุนี้ จากคำธรรมด๊าธรรมดา ก็กลายเป็นคำหยาบคายไป เพราะสำนึกที่หยาบคาย

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
189Article
76559Video
0Blog