ความสะอาดอุดมการณ์สูงสุดสำหรับคุณแม่บ้านในโลกปัจจุบัน ขนาดที่หลายคนเข้าขั้นหมกมุ่น ว่าแต่ว่า สะอาดคือสะอาดจากอะไร และสะอาดแบบไหน
คุณแม่บ้านทั้งหลายที่อยากให้บ้าน “สะอาด” ชนิดที่เป็น “สะอาดสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด”จะถูพื้น ก็ต้องไม่เหลือฝุ่น จะเช็ดกระจก ก็ต้องให้ใสแจ๋ว จะล้างส้วม ก็ต้องเงาวิ๊งๆ จะรีดผ้า ก็ต้องเรียบกริบ อาจเป็นเพราะว่า ถ้าทำได้ดังนั้นแล้ว จะเกิดความสุขส่วนตนและ (น่าจะ) ได้รับคำชมจากผู้อยู่อาศัยในบ้าน
คำว่า “สะอาด” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า หมดจด ผ่องใส ไม่สกปรก ไม่มีตำหนิ และบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นคำที่ต่างคนต่างให้คุณค่า และความหมายที่พจนานุกรมให้ไว้ ก็ถูกตีความจนหลากหลายได้อีกร้อยแปดพันเก้า
ว่าแต่ว่า ความสะอาดที่แท้จริง คือสะอาดจากอะไร และสะอาดแบบไหน สะอาดจากขี้ดินขี้โคลน จากคราบน้ำมัน จากฝุ่นละออง จากเชื้อโรค ฯลฯ แต่ในโลกนี้มีทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น และเอาเข้าจริง ความสะอาดก็ไม่ได้หมายถึงความปลอดภัยเสมอไป เราจะแน่ใจได้ยังไงว่า เมื่อเรากระหน่ำใช้สารเคมีเพื่อทำความสะอาดแล้ว เราจะสะอาด-ปลอดภัย-ปลอดโรค
ในเมื่อโฆษณาทีวีบอกว่าเชื้อโรคน่ากลัวโหดร้าย ต้องฆ่าให้ตายให้หมดด้วยผลิตภัณฑ์โน่นนี่นั่น เป็นใครก็ต้องหวั่นไหว สมัยนี้แทบทุกอย่างต้อง “แอนตี้แบคทีเรีย” ตั้งแต่เครื่องปรับอากาศ น้ำยาถูพื้น สบู่ ผงซักฟอก คำถามคือยาฆ่าแบคทีเรียมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด หรือทำให้เราปลอดโรคได้จริงมากแค่ไหน เมื่อเทียบกับว่ามันอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวและทำให้เด็กๆ เสี่ยงเป็นหอบหืดมากขึ้นไปอีก
ในอเมริกา มีคนเคยประมาณไว้ว่า มนุษย์สัมผัสกับสารเคมี 17,000 ชนิดที่ใช้ภายในบ้าน ตั้งแต่ยาสีฟัน สบู่ โลชั่น สีทาบ้าน ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้าเรียบ สารเคมีขัดส้วม เช็ดกระจก น้ำยาเช็ดหน้าจอคอมฯ สเปรย์ดับกลิ่น สเปรย์กลิ่นหอม และอื่นๆ แทบทุกอย่างอยู่ทุกห้องทุกหนแห่งในบ้านที่เราพยายามจะให้มันสะอาดจากฝุ่นและสิ่งสกปรกทั้งหลาย ซึ่งทั้งหมดนี้ มีแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีการทดสอบว่าไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
เดือนเมษายนที่ผ่านมา (2011) หนังสือพิมพ์เดลีเมล์ของสหราชอาณาจักรรายงานว่า นิสัยหมกมุ่นกับการทำความสะอาดของมนุษย์สมัยใหม่ มีความสัมพันธ์กับอาการซึมเศร้า เพราะการกำจัดแบคทีเรียกับไวรัสออกไปมีแต่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ เราอ่อนแอลง แถมยังส่งผลถึงการทำงานของสมองเราด้วย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คิดว่าเป็นอย่างนั้น
คนรุ่นใหม่กลัวความสกปรก จึงถนัดใช้ของใช้แล้วทิ้ง ชอบความทันใจ จึงเลือกสินค้าที่ให้ผลทันใจ และไม่ต้องลงแรง ซื้อเอาสะดวกกว่า และการจะ ลด ละ เลิก ความหมกมุ่นเรื่องความสะอาดได้ ก็ขึ้นอยู่กับความคาดหวังต่อความสะอาด ซึ่งคนเราจะต้องทำให้ทุกอย่างสะอาดมากแค่ไหนถึงจะพอ ถึงจะ ลด ละ เลิก ได้
ในเมื่อความสะอาด อาจเป็นคนละเรื่องกับความปลอดภัยแล้ว คุณแม่บ้านอาจเริ่มต้นด้วยการลดใช้สารเคมีและสารพิษในการทำความ สะอาด และหาเคล็ดลับการทำความสะอาดด้วยของในตู้กับข้าวอย่างน้ำส้มสายชู น้ำอุ่น มะนาว และโซดาไฟ ซึ่งเดี๋ยวนี้ในท้องตลาดบ้านเราก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่เป็น อันตรายต่อสุขภาพและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยจำหน่ายแล้ว ดูได้จาก “ฉลากเขียว”
และเมื่อจะทิ้งขวดหรือกระป๋องบรรจุสารเคมี ก็อย่าแค่โยนลงในถังขยะ เพราะถ้าหากมันเป็นพิษต่อบ้านเรา มันก็เป็นพิษต่อท่อระบายน้ำ กองขยะ กระทั่งหลุมฝังกลบด้วย การทิ้งขยะพิษสุ่มสี่สุ่มห้าอาจทำให้สารพวกนั้นตกค้างในดินและแหล่งน้ำที่ เราใช้อีกอยู่ดี ทางที่ดีให้รวบรวมขยะพิษทิ้งในถุงดำและเขียนป้าย “ขยะพิษ” บอกให้คนเก็บขยะรู้ว่าจะจัดการอย่างไรต่อไป
ในเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณแม่บ้านทั้งหลาย ก็คง ลด ละ เลิก กันได้สักที จากสารเคมีก็หันมาใช้สิ่งที่อยู่รอบตัว หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน
ขอขอบคุณข้อมูลจากมูลนิธิโลกสีเขียว