ไม่พบผลการค้นหา
กรมประมงเตือนเลิกกินเมนูปลาปักเป้าเพราะทำคนเสียชีวิตแล้วหลายราย แม้จะทำสุกแล้วแต่พิษร้ายสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 170 องศา

กรมประมงเตือนเลิกกินเมนูปลาปักเป้าเพราะทำคนเสียชีวิตแล้วหลายราย แม้จะทำสุกแล้วแต่พิษร้ายสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 170 องศา
         
 ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงกรณีที่มีคนกินปลาปักเป้าแล้วเสียชีวิตว่า จากการสำรวจพบว่าปลาปักเป้าที่พบในน่านน้ำไทยมีทั้งหมด 42 ชนิด แบ่งเป็นปลาปักเป้าน้ำจืด 9 ชนิด และอีก 33 ชนิดเป็นปลาปักเป้าน้ำเค็มและน้ำกร่อย ปลาปักเป้าที่มีไข่อ่อนจะผลิตพิษโดยพิษจะสะสมอยู่ในอวัยวะภายใน พิษของปลาจะเพิ่มมากขึ้นในฤดูวางไข่ อาการของพิษจะกำเริบขึ้นหลังได้รับพิษจากปลาอาการพิษที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 4 ขั้น
          
ขั้นแรก ชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ วิงเวียน อาเจียน กระสับกระส่าย ขั้นที่สอง ชามากขึ้น อาเจียนมาก อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง ยืนและเดินไม่ได้ ขั้นที่สาม เคลื่อนไหวแขนขาไม่ได้ พูดลำบากจนถึงพูดไม่ได้ เนื่องจากสายกล่องเสียงเป็นอัมพาต ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ขั้นที่สี่ กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ทั่วไป หายใจลำบาก เขียวคล้ำ หมดสติ รูม่านตาโตเต็มที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง
         
 ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ที่ทนพิษไม่ได้ อาการอาจแรงขึ้นจากขั้นแรกถึงขั้นที่สี่และอาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียง 10-15 นาที
          
ดังนั้นผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการบริโภคปลาปักเป้า เพราะถึงแม้จะนำปลามาต้มแล้วแต่พิษของปลาที่ละลายในน้ำก็จะทนความร้อนได้สูงถึง170 องศาเซลเซียส แม้หุงต้มแล้วก็ยังคงความเป็นพิษอยู่ อีกทั้ง ควรระมัดระวังในการเลือกซื้อเนื้อปลาแล่เนื่องจากไม่มียาแก้พิษ ปลาปักเป้าชนิดที่มีพิษนั้นแม้บริโภคเพียงเล็กน้อยก็สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
         
 อธิบดีกรมประมงกล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ปัจจุบันการรักษาพิษจากปลาปักเป้านั้นยังไม่มีตัวยาใดที่สามารถแก้พิษได้ จึงอยากฝากเตือนถึงประชาชนไม่ให้นำปลาปักเป้าทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นน้ำจืดหรือน้ำเค็มมาบริโภคโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 264 ) พ.ศ.2545 เรื่องการกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าและจำหน่ายปลาปักเป้าทุกชนิด และอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสมอาหาร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2545 ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึง สองปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท


ที่มา: News  Center /  Komchadluek

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog