ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรีอังกฤษถวายฎีกาให้ควีนอังกฤษรับรองการปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งจะทำให้ ส.ส.มีเวลาในการอภิปรายเกี่ยวกับเบร็กซิตได้น้อยลง และอาจทำให้อังกฤษต้องออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ กับอียูเลย

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษถวายฎีกาเพื่อให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประมุขของอังกฤษลงพระนามรับรองการพักประชุมรัฐสภาเป็นกรณีพิเศษ โดยควีนเอลิซาเบธทรงรับรองการพักประชุมสภาเพียงไม่นานหลังจากนั้น

การพักประชุมสภาเป็นเวลา 5 สัปดาห์ จะครอบคลุมถึงวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งเป็นกำหนดการที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิต อย่างเป็นทางการ แล้วจะไปเปิดรัฐสภารอบใหม่ในวันที่ 14 ต.ค. จากเดิมที่วาระการเปิดประชุมช่วงฤดูไบไม้ร่วงจะสิ้นสุดประมาณวันที่ 10 ก.ย.


ทำไมต้องพักประชุมสภา?

เดิมอังกฤษมีกำหนดการออกจากอียูในวันที่ 29 มี.ค. แต่ก็เลื่อนออกมาเป็นวันที่ 31 ต.ค. หลังจากที่รัฐสภาลงมติไม่รับรองข้อตกลงที่เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีคนก่อนไปเจรจาไว้กับอียูถึง 3 ครั้ง และไม่มีทีท่าว่ารัฐสภาจะยอมรับข้อตกลงเบร็กซิตเลย จนเมย์ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

ต่อมา จอห์นสัน ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญในการรณรงค์สนับสนุนเบร็กซิตในการลงประชามติ ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ โดยเขาสัญญาว่า อังกฤษจะต้องออกจากอียูให้ได้ ไม่ว่าจะได้ดีลเบร็กซิตหรือไม่ก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านและสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมของจอห์นสันเองหลายคนก็ไม่ต้องการให้เบร็กซิตโดยไม่ได้ข้อตกลงใดๆ กับอียูเลย เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอังกฤษ ราคาสินค้าแพงขึ้น และทำให้อังกฤษเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษได้ยากขึ้น พวกเขาจึงขู่ว่าอาจผ่านกฎหมายห้ามไม่ให้เบร็กซิตโดยไม่มีดีล หรือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ดังนั้น การพักประชุมสภาก็จะปิดโอกาสในการขัดขวางการเบร็กซิตในวันที่ 31 ต.ค.นี้

 

ปฏิกิริยาหลังควีนรับรองการพักประชุมสภา

การปิดประชุมสภาคราวนี้จะทำให้สมาชิกรัฐสภาอังกฤษมีเวลาในการอภิปรายเกี่ยวกับเบร็กซิตได้น้อยลง เวลาในการหยุดยั้งไม่ให้อังกฤษออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ ก็น้อยลงไปด้วย ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเบร็กซิตระบุว่า การปิดประชุมสภาเปรียบเหมือนการรัฐประหาร

เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงาน พรรคฝ่ายค้านหลักของอังกฤษกล่าวว่า การพักการประชุมสภาเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ เป็นการทำลายประชาธิปไตยเพื่อให้ได้ตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการ พร้อมตั้งคำถามว่าจอห์นสันกลัวอะไรจึงไม่ต้องการให้สมาชิกรัฐศภาอภิปรายเรื่องเบร็กซิต

ด้านโจ สวินสัน หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีปฏิเสธเสียงของประชาชนผ่านผู้แทนราษฎร เพื่อบีบให้เกิดเบร็กซิตโดยไม่มีข้อตกลง ส่วนนิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์กล่าวว่า ส.ส.จะต้องร่วมกันหยุดยั้งแผนนี้ในช่วงเปิดสภาสัปดาห์หน้า ไม่เช่นนั้น “วันนี้จะถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ว่าเป็นวันที่มืดมิดสำหรับประชาธิปไตยของสหราชอาณาจักร”

ขณะเดียวกัน ประชาชนชาวอังกฤษที่ไม่เห็นด้วยกับเบร็กซิตได้ออกมารวมตัวประท้วงกันที่เขตเวสต์มินสเตอร์ ตั้งแต่หน้ารัฐสภาไปจนถึงหน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรี พร้อมถือธงอียู และป้ายประท้วงที่มีข้อความว่า “หยุดยั้งการรัฐประหาร”

นอกจากนี้ ยังมีล่ารายชื่อบนหน้าเว็บไซต์ของรัฐสภาไม่ให้มีการพักหรือปิดการประชุมจนกว่าจะมีการเลื่อนกำหนดการบังคับใช้มาตรา 50 ออกจากอียู หรือยกเลิกแผนเบร็กซิต โดยขณะนี้มีผู้เข้าร่วมลงชื่อมากกว่า 1.4 ล้านคนแล้ว 

 

แล้วทำยังไงต่อ?

การพักการประชุมสภาเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามปกติ การฟ้องร้องทางกฎหมายจึงเป็นเรื่องยาก แม้สถานการณ์ในการพักการประชุมคราวนี้จะแตกต่างไปจากครั้งที่ผ่านๆ มา ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาจึงมีทางเลือกเพียงยอมให้มีการพักการประชุมสภาตามเวลาดังกล่าว และเสี่ยงกับเบร็กซิตโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ หรือจะเปิดอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่

สมาชิกรัฐสภาจะกลับมาประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ย.นี้ หากแผนการของจอห์นสันเป็นไปตามแผน รัฐสภาพักการประชุมอีกทีในวันที่ 14 ต.ค. แต่หากสมาชิกรัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ก่อนวันที่ 10 ก.ย. ก็อาจจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ต.ค.นี้

หากมีการเลือกตั้งใหม่ก็จะต้องมาลุ้นกันอีกทีว่าฝ่ายไหนชนะการเลือกตั้ง เพราะผลการสำรวจความนิยมจะระบุว่า พรรคอนุรักษ์นิยมจะยังนำอยู่ที่ร้อยละ 31 แต่ก็ยังไม่ทิ้งห่างมากนัก หากพรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้งเหมือนเดิมก็ยังจะมีเบร็กซิตต่อไป แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็อาจยากขึ้น เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน เช่น พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคกลางซ้าย และพรรคชาตินิยมสกอตติช ไม่เห็นด้วยกับเบร็กซิต 

หากพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งก็อาจเกิดความไม่แน่นอนเรื่องเบร็กซิต เพราะฐานเสียงของพรรคแรงงานก็แบ่งออกเป็นคนชนชั้นแรงงานที่สนับสนุนเบร็กซิต และคนในเมืองใหญ่อย่างกรุงลอนดอนที่ต่อต้านเบร็กซิต 

 

ควีนยุ่งเกี่ยวการเมือง?

ควีนอังกฤษทรงเกี่ยวข้องกับการเมืองได้บ้าง แต่ก็มีพระราชอำนาจทางการเมืองจำกัดมาก ทางเทคนิคแล้ว รัฐบาลอังกฤษจำเป็นต้องขออนุญาตควีนเพื่อพักการประชุมสภา แต่ก็เป็นเพียงพิธีการเท่านั้น เพราะราชวงศ์อังกฤษจะหลีกเลี่ยงที่จะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ควีนจึงไม่เคยปฏิเสธฎีกาของรัฐบาลมาก่อน

ที่มา : BBC, The Guardian