ไม่พบผลการค้นหา
'คำเรียกเพื่อระบุเพศ' ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในความจริงไม่ง่ายนักหากคำนึงถึงความอ่อนไหวในใจแต่ละกลุ่มคน 'เว็บไซต์วอยซ์ทีวี' ชวนคุยถึงคำเรียกเพศอย่างไรไม่ให้เหยียดเพศ

'คำเรียกเพื่อระบุเพศ' ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในความจริงไม่ง่ายนักหากคำนึงถึงความอ่อนไหวในใจแต่ละกลุ่มคน  'เว็บไซต์วอยซ์ทีวี' ชวนคุยถึงคำเรียกเพศอย่างไรไม่ให้เหยียดเพศ

มิติหนึ่งในการระบุตัวตนของปัจเจกบุคคลคือเรื่องเพศ ยังไม่นับรวมสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม ชาติกำเนิดหรือการสถาปนา การครองอำนาจที่มากจากการแต่งตั้งหรือการเลือกตั้ง ในความเสมอภาคบนความหลากหลายทางเพศ ความแตกต่างอันอยู่ในระนาบเดียวกันที่ไม่มีใครด้อยไปกว่าใครนี้ กลับมีภาษาหรือคำเรียกที่สะท้อน “คติ” และ “อคติ” อัน หลากหลาย
 
ผู้เขียนขอชวนคุยกับบุคคล 3 ท่านที่ให้แง่คิดมุมมองต่างๆ อย่างน่าสนใจในประเด็น “คำเรียกเพื่อระบุเพศ” ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในความจริงไม่ง่ายนักหากคำนึงถึงความอ่อนไหวในใจแต่ละกลุ่มคน
 
รายงานชิ้นนี้ประมวลความเห็นที่มีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง ประกอบด้วยบทสัมภาษณ์ “พี่จิว” หรือ “สมชาย จิว” ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง,  “ปกป้อง” หรือ “ชานันท์ ยอดหงษ์" นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ผู้เขียนหนังสือ "นายใน" และ “อาจารย์จิ๊บ” อาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สอนวิชาสตรีกับการพัฒนา สตรีกับความรุนแรง เพศสถานะในสังคมไทย
 
เริ่มต้นจาก พี่จิว ที่ขอขึ้นต้นอ้างอิงถึงบทละคร  “โรมิโอจูเลียต : เชคสเปียร์”
"What's in a name? That which we call a rose
By any other name would smell as sweet."
นามนั้นสำคัญไฉน ที่เราเรียกกุหลาบนี้
แม้เรียกว่าอย่างอื่นก็หอมระรื่นอยู่เหมือนกัน
(โรมิโอจูเลียต : เชคสเปียร์)


 
พี่จิวบอกว่า “ผมเรียกตัวเองว่าเป็น "กะเทย" ส่วนใครจะเรียกผมว่าอย่างไรก็สุดแท้แต่ เอาเข้าจริง มันอยู่ที่ "น้ำเสียง" มากกว่า ที่จะบ่งบอกว่าเขาเหยียดเราอยู่หรือเปล่า คำเรียกขาน มันก็แค่การพยามจัดหมวดหมู่ ความจริงทางเพศที่เป็นสากล มันมีจริงหรือ มันก็เลื่อนไหลไปตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคลแหละ เรารู้อยู่แก่ใจเราเองว่า เรามี "เพศสรีระ" ใด และ "บทบาท" ทางเพศแบบไหน ซึ่ง เรื่องบทบาทนี่ บางทีมันก็สลับสับเปลี่ยนได้อีกเสียด้วย”
 
สำหรับคำว่า “เพศทางเลือก” พี่จิวบอกว่า “ใช้กับผมไม่ได้แน่ๆ เพราะผมไม่ได้เลือก ไม่ใช่เลือกได้ วันนี้ ตอนเช้าจะเป็น ชาย ตกบ่ายจะเป็นหญิง ผมไม่ได้เลือก ผม "เป็น" แต่สิ่งที่ผมเลือกได้ คือเลือกจะเป็น "คน" แบบไหนมากกว่าเลือกจะเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพ หรือมนุษย์ที่จะศิโรราบ และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้าถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเสมอภาค หรือเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อให้แต่งหญิงแล้ว แปลงเพศแล้ว ผมก็ขอต่อสู้ในนามของ กะเทย ไม่ใช่ในนามของ เด็กหญิง นางสาว นาง มัดมัวแซล ฯลฯ ดีเสียด้วยซ้ำ เพราะสังคมวงกว้างจะได้รับรู้ว่ากะเทย ไม่ได้มีแค่ภาพ วี๊ดว๊ายกระตู้วู๊ หอแต๋วแตก กะเทยก็ต่อสู้เพื่อ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ อย่างสวยๆ เริ่ดๆ เชิดๆ แบบเราได้” พี่จิวกล่าวทิ้งท้าย
 
ลองมาคุยกับ “ปกป้อง” ผู้เขียน “นายใน” กันดูบ้างว่า กลุ่มคนรักเพศเดียวกันจะไม่ปลื้มอย่างแรง หากถูกเรียกว่าอะไร ซึ่ง “ปกป้อง” บอกว่า “ถ้าตัดสินจากตนเองนะ เรียกคำว่าอะไรก็ได้เพื่อดูถูกดูแคลน ด่าทอ ด้วยเหตุแห่งเพศ หรือเป็นคนที่ไม่ได้รู้จักคลุกคลีตีโมงกันมาแซว ต่อให้ตะโกนเรียกว่า “ผู้ช๊ายยย” ก็ไม่ปลื้มนะ ล้ำเส้น จะโดนเหวี่ยง เพราะอันที่จริง เพศคือการนิยามตัวตน อัตลักษณ์บุคคลอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับวัย ชาติพันธุ์ ลักษณะทางกายภาพ ไม่ใช่เครื่องมือในการเสียดสี ประณาม ไปจนถึงล้อเลียน
 


แต่เนื่องจากว่า เราอยู่ในโลกที่ให้คุณค่าเพศวิถีรักต่างเพศและเพศสภาพชายในอุดมคติมากกว่าเพศวิถีอื่นและเพศสภาพอื่นๆ ดังนั้นคำที่นิยามเพศสภาพ เพศวิถีอื่นมักถูกใช้ในสำนึกรังเกียจ ดูถูก เยาะเย้ย ในหลายครั้ง คำบางคำแฝงสำนึก homophobia ซึ่งผู้ใช้อาจจะใช้โดยไม่ตั้งใจ อาจจะด้วยความคุ้นชิน การได้ยินติดหู จนไม่รู้สึกว่ามันมีความหมายแฝงเชิงลบซ่อนอยู่ คำที่ใช้เรียก มันจึงขึ้นอยู่กับภาษาระหว่างบรรทัด น้ำเสียงและการนำมาใช้ด้วยว่า ใช้ในทางลักษณะใด อย่างคำว่า “ตุ๊ด” เราก็ใช้นะ หนังสือบางเล่มก็ใช้ เช่น “บันทึกของตุ๊ด” ที่ผู้เขียนใช้ในฐานะประกาศตัวตนในฐานะเพศสภาพหนึ่ง ขณะเดียวกันในTV กลับเซนเซอร์ ดูดเสียงคำนี้ราวกับคำหยาบ  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาไม่ต้องการให้ “ตุ๊ด” ปรากฏบนสื่อสาธารณะเพราะ ตุ๊ดเป็นคำหยาบคาย, การล้อเลียนคนอื่นว่าตุ๊ดเป็นการกระทำหยาบคาย, หรือมองว่าการเป็นตุ๊ดเป็นสิ่งหยาบคาย
 
นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ผู้นี้ ไขข้อข้องใจต่อคำถามที่ว่า คำว่า “รักร่วมเพศ” เป็นคำไม่เหมาะสมอย่างไร โดย “ปกป้อง” บอกว่า “รักร่วมเพศ” แปลมาจาก “Homosexual” ซึ่งเป็นคำใหม่ในศตวรรษที่ 19 ในโครงสร้างการแบ่งนิยามเพศวิถีแบบใหม่ แปลว่ามีความรักความใคร่กับคนที่มีเพศร่วมกัน มีเพศชายหรือเพศหญิงเหมือนกัน เพื่อให้ตรงกันข้ามกับ “Heterosexual” หรือ “รักต่างเพศ” แต่บังเอิญมันดันไปพ้องกับคำว่า “ร่วมเพศ” ที่หมายถึงการร่วมเพศ “รักร่วมเพศ” บางครั้งจึงไพล่แปลว่านิยมการร่วมเพศ ซึ่งไปสอดคล้องกับมายาคติสังคมว่าด้วยคนรักเพศเดียวกัน หมกมุ่นในกาม มีอารมณ์ความต้องการทางเพศสูง และยิ่งในสังคมดัดจริตที่มองว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งสกปรกต่ำตม ด้วยแล้ว การแสร้งไม่ข้องแวะกับเรื่องร่วมเพศถือว่าดีงาม
 
องค์กรต่างๆ เพื่อความหลากหลายทางเพศจึงพยายามไม่ให้ homosexual ถูกตีตรา กดทับมากไปกว่าเดิม จึงประดิษฐ์คำใหม่คือ “รักเพศเดียวกัน” ซึ่งนั่นคือความหวังดีของเขา
 
“รักร่วมเพศ” สู่ “รักเพศเดียวกัน” น่าจะเกี่ยวข้องกับประเด็นคำพ้อง พ้องรูป พ้องเสียง รวมไปถึงคำผวน บวกกับความวิตกกังวลรู้สึกไม่มั่นคง เหมือนกรณี ดอก “ลั่นทม” ฟังคล้าย คำว่า “ระทม” เลยแสวงหาชื่อใหม่ แก้เป็น “ลีลาวดี” เพื่อการตลาด แต่ไม่ได้แก้สำนึกวิตกจริตของผู้ใช้ภาษา เช่นเดียวกับกำเนิดคำสุภาพต่างๆ เช่น  ผักบุ้ง แปลงเป็น ผักทอดยอด, ปลาสลิด แปลงเป็น ปลาใบไม้
 
อย่างไรก็ตามคำสุภาพ คำเหมาะสมบางคำอาจมีสำนึกนัยยะกดทับเสียเอง เช่น “สามี” ที่ตามตัวอักษรและรากศัพท์หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ เจ้าของ มันจึงมีสำนึกชนชั้นและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในครอบครัวอยู่ในคำ ขณะที่คำว่า “ผัว” ไม่ใช่
 
เมื่อถามถึงที่มาของคำว่า “เพศทางเลือก” เป็นคำเรียกที่ถูกต้องหรือไม่ ปกป้องมองว่า มันมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่ฟังดูดีนะ เหมือนมีให้เลือกมากมายหลายอย่าง ซึ่งสอดคล้องกับ “ความหลากหลายทางเพศ” ในสังคม แต่มันก็ถูกใช้เฉพาะเพศอะไรก็ตามที่ไม่ใช่ชายกับหญิง สะท้อนว่านั่นก็ยังอยู่บนพื้นฐานของการมีเพศหลักๆ คือ ชาย กับ หญิง เท่านั้น ส่วน เกย์ กะเทย ชายรักชาย หญิงรักหญิง คนข้ามเพศ อยู่ในหมวดทาง��ลือก เป็นเพศเสริม สถานะมันต่างกัน มีนัยยะสิ่งหลักและรองอยู่
 
เหมือนคำว่า “แพทย์ทางเลือก”  (Alternative Medicine) ที่เป็นการรักษาโรคความเจ็บป่วยด้วยวิธีการขั้นตอนปฏิบัติที่นอกเหนือไปจากที่ได้รับการยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือการแพทย์แบบแผน (Orthodox Medicine) อย่างเป็นทางการ ในไทย แพทย์ทางเลือกเริ่มเป็นกระแสตื่นตัวอย่างอย่างมากตั้งแต่ พ.ศ. 2530 แต่สุดท้าย เมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เราก็จะใช้ยาปฎิชีวนะหรือไปให้หมอผ่าตัด ไม่ใช่อาศัยพลังพีระมิดหรือใช้หินสีดูดพิษจากจักรา
 
อย่างไรก็ตาม “ทางเลือก” มันก็เป็นคำในเชิงบวกอีกคำนึง สะท้อนให้เห็นว่า อันเดิมที่มีอยู่มันตัน เริ่มจะไม่ work หรือไม่น่าสนใจ ต้องหาทางออกหรืออะไรที่สร้างสรรค์ บางทีคนที่ใช้คำว่า “เพศทางเลือก” อาจจะคิดว่า ฉันเลือกเพศของฉันเองได้นะ ไม่ต้องให้ใครมากำหนด มาบอกให้เลือก
 
สำหรับคำว่า “คนข้ามเพศ” “คนรักเพศเดียวกัน” ปกป้อง เล่าที่มาว่า “คนข้ามเพศ” แปลตามลายลักษณ์อักษรจาก transgender/ transsexual ซึ่งเมื่อแรกใช้อย่างจริงจังในไทย พ.ศ. 2553 ก็มีดราม่ามากมาย เนื่องจากว่าการแสวงหาพื้นที่ การดำรงอยู่ในชุมชน การเข้าสังคม มันอยู่บนการแสวงหาอัตลักษณ์ร่วมและการนิยานตัวตนโดยเจ้าตัวเอง มันจึงผลิตคำศัพท์คำนิยามออกมาอย่างต่อเนื่อง คำที่เหมาะสมไปจนถึงคำที่ไม่เหมาะสมมันจึงผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งคำไม่เหมาะสมก็คือคำเก่าๆ ที่ไม่ได้มาจากการนิยามและผลิตขึ้นโดยเจ้าของเพศสภาพเพศวิถีนั้น และเคยใช้เพื่อมองต่ำ รังเกียจเดียดฉันท์ เช่น “ลักเพศ” ที่ นพ. สุด แสงวิเชียร (2450-2538) อธิบายว่าเป็นการลักขโมย “ความเป็นเพศ” ของอีกฝ่ายมาใช้กับตน บนโลกทัศน์ที่โลกจะประกอบไปด้วย “ความเป็นชาย” กับ “ความเป็นหญิง” เท่านั้น, หรือ “ตุ๋ย” ที่นับตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ได้กลายเป็นคำแสลงอธิบายกิริยาการร่วมเพศทางทวารหนัก เชิงล้อเลียนดูแคลน หลังจับกุมข้าราชการสำคัญผู้หนึ่งที่ซื้อบริการทางเพศเด็กผู้ชาย, หรือ “บัณเฑาะก์” ที่ในในประไตรปิฎกก็แบ่งประเภทบัณเฑาะก์ออกไปอีกต่างๆนาๆ มีอารมณ์ทางเพศ ข้างขึ้นข้างแรมเป็นตัวกำหนด ซึ่งมันอาจจะเป็นคำเหมาะสมในโลกศาสนาพุทธ หรือบางกลุ่มสังคมเมื่อ 2,600 ปีที่แล้ว

นักประวัติศาสตร์ผู้นี้ บอกด้วยว่า เรื่องของความเหมาะสมหรือไม่ มันก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้มีเพดานความคิด ทัศนคติเช่นไร หรือเป็นสื่อประเภทไหน ใช้สื่อสารเพื่ออะไร กับคนชนิดไหน ในบริบทใด การพาดหัวข้อข่าวบางสำนัก เมื่ออ่านแล้วรู้สึกขยะแขยงมาก ประเภทใช้คำพูด “เพราะความวิปริตทางเพศ ซ้ำมัวเมาในตัณหา”, “กามโลกีย์ และความฟุ้งเฟ้อของแก๊งเกย์”, “3 คนผัวเมียของชายนิยมถั่วดำ”แล้วไปสรุปคดีให้ว่า “ถ้าไม่ใช่ความโลภ กามารมณ์ และบทพิศวาสที่ติดอกติดใจกัน” สะท้อนถึง เพดานความคิด สำนึกเสื่อมๆ ของนักข่าว, โต๊ะข่าว, บก., ผู้ผลิต ยิ่งเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านข่าวคอมเมนท์ได้ ยิ่งเผยให้เห็นถึงโลกทัศน์ของผู้เสพสื่อสำนักนี้อย่างชัดเจนว่าเป็นเช่นไร ซึ่งก็กากไม่ต่างกัน
 
เมื่อถามถึงกรณีที่ “กะเทย” บางคนต้องการให้ถูกเรียกเหมือนเธอเป็นผู้หญิง – ในแง่การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคแล้ว ควรจะยืนยันว่าตัวเองเป็น กะเทย หรือเป็นผู้หญิง “ปกป้อง” บอกว่า อันนี้ตอบไม่ได้จริงๆ เพราะเป็นเกย์ ไม่ใช่กะเทย มันจะมีเส้นบางอย่างที่เราไม่กล้านิยาม อธิบาย ข้ามปริมณฑลของตนเอง หรือไปพูดแทนคนในอีกพื้นที่ เพราะในความหลากหลายทางเพศวิถี ต่างคนต่างเผชิญประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ชุดประสบการณ์ของกะเทย, หญิงรักหญิง, ชายรักชาย ก็ผลิตชุดความรู้ การอธิบายบนพื้นฐานของประสบการณ์ของเพศวิถีเพศสภาพนั้นๆ การเคลื่อนไหว ต่อสู้ ปลดแอกเพื่อให้ได้รับความเท่าเทียมความเสมอภาคก็จะแตกต่างกันออกไป แม้แต่คำนิยาม “กะเทย”, “สาวประเภทสอง”, “คำข้ามเพศ”
 
อย่างคำว่า “กะเทย” เป็นคำมักใช้ผิดเป็น “กระเทย” ซึ่งเราก็คิดทบทวนแล้วว่าคือคำนิยามเพศหนึ่ง ไม่ได้มีนัยยะว่าเป็นสูงต่ำกว่าเพศใด แต่เมื่อเราใช้อาจจะกระเทือนความรู้สึกผู้ฟังบางคนได้ เพราะมันเคยถูกใช้เป็นคนด่า ล้อเลียน ถากถางมาแล้ว ซึ่งมันก็มี “สาวประเภทสอง” เข้ามาทดแทนที่ยังไม่รู้ที่มา แต่ให้ความรู้สึกสุภาพกว่า ไม่แสดงอารมณ์ของการเยาะเย้ย รังเกียจ และใกล้เคียงกับ “ความเป็นหญิง” มากกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อมีการใช้มาระยะหนึ่งก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า “สาวประเภทสอง” เผยถึงความไม่เท่าเทียม  เพราะยังมีการแบ่งประเภทที่ 1 ที่ 2 เป็นการจัดลำดับความสำคัญ เช่นเดียวกับ คำว่า “เพศที่ 3” ซึ่งเผยให้เห็นว่า ย่อมมีเพศอันดับที่ 1 และ ที่ 2
 
อันที่จริง “กะเทย” เองก็ถูกตีความให้ความหมายแตกต่างกันออกไปแต่ละยุคสมัย มีทั้งลักษณะกลางๆ เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏเป็นเพศใดเพศหนึ่ง , คนที่มีทั้ง 2 เพศ, คนที่มีกิริยาและจิตใจตรงข้ามกับเพศ แต่ก็อยู่พื้นฐานการแบ่งเพศที่มีเพียง 2 เป็นคู่ตรงข้าม ต้องมี “เพศตรงข้าม” ไม่ใช่เพศที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม มีการนำ “กะเทย” มาใช้ในมิติเชิงบวก ในฐานะที่เป็นเพศวิถีเพศสภาพหนึ่ง ปัจจุบันมีองค์กรพัฒนาสังคมชื่อ “เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย” (2553)
 
ส่วนการจำแนกด้วยคำ ตุ๊ด เกย์ กระเทย ทอม ดี้ เป็นการจำแนก ที่ครอบคลุมแล้วหรือไม่ นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ผู้นี้มองว่า หากยังคงมีวัฒนธรรมการนิยาม แบ่งแยก จำแนกประเภทอยู่ เมื่อโลกมันพัฒนาไปเรื่อยๆ ก็น่าจะมีคำสำหรับเรียกเพศภาวะเพศวิถีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในตอนนี้เมื่อพูดถึงเพศวิถีที่หลากหลาย เราจะโฟกัสเพียงรักต่างเพศกับรักเพศเดียวกันเท่านั้น และละเลยเพศวิถีอื่นๆอีก เช่น ระหว่างคนกับสัตว์, คนกับศพ, กับคนแก่จัด, กับคนท้องหลายเดือน, กับเด็กเล็ก, กับตัวการ์ตูน หุ่นยนต์, กับความรุนแรงแบบสมัครใจ, sadomasochist, BDSM,เพศสัมพันธ์แบบกลุ่มหลาย species ซึ่งอนาคตมันอาจจะถูกพูดถึงและเริ่มมีการนิยาม ประดิษฐ์คำศัพท์เพื่ออธิบาย,เปิดเผยตัวตนมากขึ้น และได้รับการเคารพยอมรับมากขึ้น
 
เพราะภาษามันมีวิวัฒนาการไปตามโลก ตัวอักษรจึงไม่ได้เกิดจากใครประดิษฐ์ใครจารึกขึ้นให้ใครใช้ เช่นเดียวกับที่ภาษาไม่ใช่สิ่งที่ถูกผูกขาดการตีความ กำหนดความหมาย ไวยากรณ์และแปลโดยคณะใดกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งเท่านั้น มันจึงมีการเลือกใช้ อย่างคำว่า “gender” เองที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางจริงจังและมีพลังทางการเมืองช่วงปลาย1960 ถึงต้น 1970  ก็ถูกแปลและทยอยผลิตคำศัพท์ภาษาไทยเต็มไปหมดจนใช้สลับกันไปมา เพศสภาพ เพศภาวะ เพศสภาวะ เพศสถานะ แต่นั่นก็เพราะความพยายามแสวงหาคำที่แสดงถึงความหมายชัดเจนมากที่สุดว่ามันเป็นสิ่งประกอบสร้าง ลื่นไหล เปลี่ยนแปลงได้  และเผยให้เห็นว่ายังมีการกดทับทางเพศ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ การให้คุณค่าและความหมายของแต่ละ “ความเป็นเพศ” ที่เลื่อมล้ำกันอยู่
 
อย่างไรก็ตาม ด้วยความตระหนักถึงความเสมอภาค และความพยายามหลีกเลี่ยงการกดทับ เผลอใช้คำดูแคลน โดยไม่ได้ตั้งใจ หลายครั้งการใช้ภาษาจึงตั้งอยู่บนฐานความไม่มั่นใจหรือกลัวจะโดนด่าว่าไปกดทับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นำไปสู่ความพยายามมีท่าทีและใช้คำเชิงบวกที่สุดกับ กะเทย,ชายรักชาย, หญิงรักหญิงจนราวกับว่าเป็นชนชั้นทางเพศที่พิเศษไปกว่าชายหญิงรักต่างเพศ หรือการสรรหาประดิษฐ์คำใหม่มาใช้แทนจนไปๆ มาๆ สร้างความเป็นอื่น แปลกแยกไปกว่าเดิม
 
 ขณะที่อาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สอนวิชา สตรีกับการพัฒนา สตรีกับความรุนแรง เพศสถานะในสังคมไทย กล่าวถึงคำที่ไม่เหมาะสมหากจะใช้เรียกกลุ่มคนรักเพศเดียวว่า​“โดยหลักการแล้ว การเรียกกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ไม่ควรใช้คำในลักษณะที่มีการตีตรา เหมารวม เหยียดหยามความเป็นมนุษย์ ด้วยการใช้คำในเชิงการดูถูกรสนิยมทางเพศ ที่แตกต่างจากบรรทัดฐานกระแสหลัก เช่น วิปริต ผิดเพศ ผิดปกติ โรคจิต ฯลฯ รวมไปถึงการดูถูกคุณลักษณะทางด้านสรีระร่างกายที่ไม่สอดคล้องกับอุดมคติเช่น กะเทย "ควาย" เป็นต้น”


 
ส่วนที่ก่อนหน้านี้เคยมีการรณรงค์ไม่ให้ใช้คำว่า “รักร่วมเพศ” แต่ให้ใช้คำว่า “คนรักเพศเดียวกัน” แทน อาจารย์ชนิดา ได้ให้มุมมองว่า เนื่องจาก มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเรียกกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน / คนหลากหลายทางเพศ ว่า "รักร่วมเพศ"  ทำให้ เป็นการตอกย้ำมายาคติ และ เน้นย้ำประเด็นว่าคนกลุ่มนี้มีแต่มิติเฉพาะเรื่อง "การมีเพศสัมพันธ์" หรือ มองว่า กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ว่ามีความหมกมุ่น หรือ ให้ความสำคัญเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น คือ "รัก" ที่จะ "ร่วมเพศ" นั่นเอง
 
สำหรับคำว่า “เพศทางเลือก” มีมาได้อย่างไร และเป็นคำเรียกที่ถูกต้องหรือไม่ นักวิชาการผู้นี้ กล่าวว่า การเรียกกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ มีพัฒนาการการเรียกที่หลากหลาย คำว่า "เพศทางเลือก" ในภาษาไทย นั้น น่าจะมาจากกลุ่มนักวิชาการด้านเพศวิถีศึกษาที่เสนอคำเรียกกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพื่อตอบโต้กับคำเรียกที่มีการจัดลำดับคนหลากหลายทางเพศให้เป็น "เพศที่สาม"  ซึ่งพวกเขามองว่า การเรียกกลุ่มคนหลากหลายทางเพศว่า เป็น เพศที่สาม เท่ากับ ยังให้ความสำคัญ และจัดลำดับ ให้เพศที่หนึ่ง = ผู้ชาย เพศที่สอง = ผู้หญิง เพศที่สาม = ลำดับต่ำสุดของการจัดลำดับ
"เพศทางเลือก" เป็นคำที่เสนอเพื่อให้มองมิติของความเป็นเพศว่า สามารถมีเพศ "ทางเลือก" ที่แตกต่างไปจากเพศที่สังคมกำหนดได้ แต่ต่อมา ก็มีการตั้งคำถามว่า คนกลุ่มนี้สามารถ "เลือก" ได้จริงหรือไม่ หรือ ถูกกำหนดให้เลือก จากสังคม
 
สำหรับคำที่น่าจะเหมาะสม และ สอดคล้องกับความซับซ้อนและเลื่อนไหลไปมา ไม่หยุดนิ่งตายตัว ของคนกลุ่มนี้ น่าจะเป็นคำว่า กลุ่มคน "หลากหลายทางเพศ" เพราะน่าจะมีความหมายครอบคลุมมากกว่า แต่การพยายามสร้างคำเรียกแบบเหมารวมที่มีต่อคนกลุ่มนี้  ก็อาจจะนำไปสู่ "ประเด็นปัญหา" อีกแบบหนึ่ง คือ การทำลายอัตลักษณ์ ที่มีลักษณะเฉพาะ และหลากหลาย ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ให้มีความเป็น "กลุ่มก้อนเดียวกัน" หรืออาจเป็นการสร้างภาพเหมารวมแบบใหม่ ให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ดังนั้น การจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า อย่างไร จึงต้องคำนึงถึง "บริบท" ทางการเมืองของการใช้คำ ซึ่งคำที่ใช้เรียกนั้นๆ ต้องตอบคำถามว่า จะนำไปสู่การนำเสนอประเด็นเชิงวิพากษ์ "ภาพเหมารวม" ของสังคมที่มีต่อคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร
 
สำหรับการยืนยันตัวตนกรณีเป็น “กะเทย” แต่ต้องการให้ถูกเรียกเหมือนเธอเป็นผู้หญิง จะขัดกับการสู้เพื่อความเสมอภาคหรือไม่นั้น อาจารย์ชนิดา บอกว่า ในแง่การต่อสู้เพื่อความเสมอภาค การยืนยันตัวตนว่าเป็น "กระเทย" หรือ เพศอื่นๆ ที่แตกต่างหลากหลาย นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็น "การเมืองเรื่องอัตลักษณ์"  (politics of identity) ในการยืนยันตัวตนของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่จะยืนยันว่าพวกเขามี "ความแตกต่าง" (difference) กับผู้หญิง ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหา ความต้องการ ข้อเรียกร้องในเชิงสิทธิ เสรีภาพ ฯลฯ

ส่วนการจำแนกด้วยคำ ตุ๊ด เกย์ กระเทย ทอม ดี้ เป็นการจำแนก ที่ครอบคลุมแล้วหรือไม่ นักวิชาการผู้นี้บอกว่า การพยายามจัดประเภท (categorize) กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เป็นการจำแนกที่ไม่ครอบคลุม ความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีความซับซ้อน หลากหลาย และเลื่อนไหลไปมา ไม่หยุดนิ่งตายตัว ของอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่สังคมควรเปิดโอกาสให้มีพื้นที่แสดงตัวตน คำเรียกที่มาจากปากคำ หรือ มุมมองของพวกเขาเอง ที่ไม่ตีตรา ผลิตซ้ำภาพเหมารวม หรือ มองอย่างเหมารวม ตายตัว หรือ  พยายามยัดลงกล่องของการจัดประเภทให้รสนิยมที่หลากหลาย ซับซ้อน เลื่อนไหลของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog