นับตั้งแต่เกิดโศกนาฏกรรมก่อการร้ายในฝรั่งเศส ทั่วโลกได้รวมพลังเป็นหนึ่งเดียว ยืนหยัดสู้กับลัทธิสุดโต่งและการละเมิดเสรีภาพสื่อด้วยประโยค Je Suis Charlie แต่ล่าสุด ประโยคนี้กลับกลายเป็นชนวนสร้างความแตกแยก เมื่อหลายคนต่างอ้างตัวเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ Je Suis Charlie
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุกราดยิงในสำนักงานนิตยสารชาร์ลี เอบโดกลางกรุงปารีส ประโยคสั้นๆ Je Suis Charlie หรือ "ฉันคือชาร์ลี" ตัวอักษรสีขาวบนพื้นดำสนิท ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อให้กำลังใจสื่อที่ตกเป็นเหยื่อของผู้ก่อการร้ายหัวสุดโต่ง ในตอนนั้นแม้แต่ผู้ที่คิดประโยคนี้ขึ้น ก็ไม่คาดคิดว่า Je Suis Charlie จะกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ใช่เพียงชาวฝรั่งเศส แต่เสรีชนทั่วโลกได้หยิบยกมาใช้เพื่อแสดงออกถึงเสรีภาพและการไม่ยอมจำนนต่อผู้ก่อการร้าย ทั้งในโลกออนไลน์ และโลกจริง ตั้งแต่บนท้องถนนในกรุงปารีส ไปจนถึงบนพรมแดงในงานประกาศผลรางวัลลูกโลกทองคำ
เมื่อปรากฏว่าในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ Je Suis Charlie ถูกทวีตไปถึง 7 ล้านครั้ง และได้กลายเป็นหนึ่งในแฮชแท็กเกี่ยวกับข่าวที่มีผู้ติดแท็กมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของทวิตเตอร์ มูลค่าทางจิตใจและอุดมการณ์ของประโยคนี้ก็กลับถูกคุณค่าทางด้านธุรกิจเข้ามาบดบัง จนถึงขณะนี้ มีกว่า 50 คนและองค์กรที่พยายามอ้างตัวเป็นเจ้าของ Je Suis Charlie ส่วนใหญ่ต้องการจดลิขสิทธิ์เพื่อเรียกเก็บเงินหากมีใครนำประโยคอมตะนี้ไปใช้ ในขณะที่ผู้ให้กำเนิด Je Suis Charlie ตัวจริง กลับเห็นว่านี่เป็นการกระทำที่ลดทอนคุณค่าของเสรีภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนทั่วโลกที่เกิดขึ้นจากประโยคนี้
โจอาคิม ฮองแซง เป็นนักข่าวและอาร์ทไดเร็กเตอร์ของนิตยสารสไตลิสต์ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ห่างจากสำนักงานของชาร์ลี เอบโดเพียงไม่กี่ช่วงตึก เมื่อเขาและเพื่อนๆได้ยินข่าวเหตุกราดยิง และตามข่าวต่อในทวิตเตอร์ ฮองแซงบอกว่าเขาพบแต่คำพูดที่แสดงถึงความสิ้นหวัง โกรธแค้น และเสียกำลังใจ ฮองแซงใช้เวลานานหลายนาที เสิร์ชหาโลโก้ของชาร์ลี เอ็บโด แล้วไตร่ตรองว่ามันมีความหมายอะไรกับเขากันแน่ ก่อนที่จะตัดสินใจออกแบบโลโก้ง่ายๆ เป็นตัวอักษรสีขาวบนพื้นสีดำ ที่เขียนว่า Je Suis Charlie โดยใช้ฟอนต์เดียวกับโลโก้ของชาร์ลี เอบโด เพื่อสื่อให้โลกรู้ว่า เขาคือชาร์ลี ผู้ไม่กลัวที่จะแสดงออกถึงความเป็นเสรีชน
ฮองแซงโพสต์ภาพนี้ลงบนทวิตเตอร์ของเขา ซึ่งตอนนั้นมีคนติดตามเพียง 400 กว่าคน โดยไม่คาดคิดว่ามันจะแพร่หลายไปทั่วโลก แต่เมื่อปรากฏการณ์ Je Suis Charlie เกิดขึ้น และนำมาสู่ปัญหามากมาย ทั้งความเป็นส่วนตัวของเขา และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องลิขสิทธิ์ ฮองแซงมองว่าประโยคที่เต็มไปด้วยความหวัง และเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกจากปารีสถึงลอนดอนและนิวยอร์กตะโกนร่วมกันนี้ ไม่ควรถูกใครครอบครอง หรือนำไปหาผลประโยชน์
ในตอนนี้ ฮองแซงได้ตัดสินใจอนุญาตให้องค์กรเดียวเท่านั้น ที่มีสิทธิ์นำกราฟฟิก Je Suis Charlie ต้นฉบับจากทวิตเตอร์ของเขาไปใช้อย่างถูกกฎหมาย นั่นก็คือ Reporters Sans Frontières หรือนักข่าวไร้พรมแดน องค์กรที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่ออย่างแท้จริง ส่วนประโยค Je Suis Charlie ฮองแซงหวังว่ามันจะไม่ตกเป็นของใคร นอกจากเสรีชนที่ร่วมกันประกาศเป็นเสียงเดียวทั่วโลก ว่าพวกเขาคือชาร์ลี