การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เป็นเหตุการณ์สำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปีที่ผ่านมา เราจะนำผู้ชมย้อนกลับไปมองเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง
ปี 2557 ประเทศไทยเริ่มศักราชใหม่ด้วยความวุ่นวายทางการเมืองข้ามปี การชุมนุมที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครอบคลุมหลายพื้นที่ใจกลางเมืองหลวง นำมาสู่รัฐประหารครั้งที่ 13 นับจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง
การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยแกนนำคืออดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องการขจัดอิทธิพลทางการเมืองของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทย
การชุมนุมเริ่มด้วยการต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย กปปส.ย้ำหากล้มร่างกฎหมายได้ยุติการชุมนุมทันที แต่เมื่อร่างกฎหมายถูกล้มไป เพราะไม่ผ่านวุฒิสภาด้วยมติเอกฉันท์ 141 เสียง
กปปส. เปลี่ยนเป้าหมายเป็นการขับไล่รัฐบาล ชี้ว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรม และแม้รัฐบาลประกาศยุบสภา และต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาการตามกฎหมาย เพื่อรอจัดการเลือกตั้งใหม่
กปปส. ก็เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดทำหน้าที่รักษาการ และเดินหน้าคัดค้านการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ต้องการให้มีสภาประชาชนมาปฏิรูปประเทศ ตามพิมพ์เขียวของ กปปส.
เหตุการณ์สำคัญ คือการปิดถนน และแยกสำคัญทั่วกรุงเทพ หรือ Shutdown Bangkok ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ยาวนานถึง 1 เดือนครึ่ง ผู้ชุมนุมตั้งเวทีปิดแยกปทุมวัน สวนลุมพินี ลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ราชประสงค์
ผู้ชุมนุมดาวกระจาย ปิดล้อมสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง เช่นกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะช่วงเวลานั้น ไม่เพียงแต่คนไทยที่ได้รับผลกระทบ เหตุการณ์ปิดโทลเวย์ดอนเมือง ก็สร้างผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศด้วย
กปปส. ยังขัดขวางการเลือกตั้ง ทั้งวันรับสมัคร วันเลือกตั้งล่วงหน้า จนเกิดเหตุปะทะกับคนเสื้อแดง หน้าวัดศรีเอี่ยม และหนึ่งวันก่อนการเลือกตั้ง ที่หลักสี่ ลุงอะแกว ที่เสียชีวิตในภายหลัง คือเหยื่อจากเหตุการณ์นี้
ในวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ผู้ชุมนุม ยังดาวกระจายปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งกว่า 1 หมื่นหน่วยในหลายจังหวัด ส่งผลให้ประชาชนหลายล้านคน ไม่ใช้สิทธิของตัวเอง และไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายหลังให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะ
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. นำกำลังตำรวจยึดคืนพื้นที่สถานที่ราชการ มีผู้เสียชีวิตหลายรายระหว่างการปะทะ เมื่อการชุมนุมยาวนานถึงเดือนที่ 7 กลุ่ม นปช. ออกมาชุมนุมใหญ่แสดงท่าทีต่อต้านกลุ่ม กปปส. ระหว่างนั้น มีผู้ใช้อาวุธสงครามยิงใส่ผู้ชุมนุม กปปส. จนหลายรายเสียชีวิต ในที่สุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึก และยึดอำนาจการปกครองในอีก 2 วันถัดมา
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการชุมนุมเกือบ 7 เดือนของกลุ่ม กปปส. คือการหมดอำนาจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และการกลับมาของอำนาจกองทัพในการเมืองไทยอีกครั้ง
ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ ระบุว่าตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน ปี 2556 จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2557 มีผู้เสียชีวิตในเหตุชุมนุมทางการเมือง 25 ราย บาดเจ็บ 782 ราย ด้านความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการชุมนุม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ ปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 2557 ต่ำกว่าเป้า จากที่จะขยายตัวถึงร้อยละ 2.5 กลับลดเหลือไม่ถึงร้อยละ 2
ขณะที่การส่งออก ต่ำกว่าศักยภาพที่คาดไว้ร้อยละ 10 จากปัจจัยของผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อ
การชุมนุมที่ยืดเยื้อและความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด ดำเนินไปเพื่อเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศตามแนวทาง 5 ข้อ ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศไว้ ซึ่งจะเป็นจริงหรือไม่ ตอนนี้ยังเป็นที่จับตามอง แต่การตัดสินใจของรัฐบาลที่ผ่านมาก็มีความขัดแย้งกับบางข้อเสนอ เช่นการกระจายอำนาจ ซึ่ง คสช. ได้สั่งระงับการเลือกตั้งชดเชยตำแหน่งที่หมดวาระขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
ทุกเสียชีวิตที่สูญเสียไป มูลค่าทางเศรษฐกิจ ค่าเสียโอกาสที่ประเทศต้องจ่ายไปนั้น ได้ให้อะไรกับประเทศไทยบ้าง สิ่งที่ได้มานั้นคุ้มค่าแล้วหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ต้องอธิบายสังคม โดยเฉพาะกับประชาชนผู้สูญเสีย